สกว.ตีปี๊บฉลอง25ปีโชว์วิจัยไม่ขึ้นหิ้ง
นายกฯ-ครม.ชมก่อนงาน25-26 ส.ค.
รศ. ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำคณะเจ้าหน้าที่และนักวิจัย สกว. เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดงาน “25 ปี สกว.: สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2560 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ 2 สยามพาราอน พร้อมนำตัวอย่างผลงานวิจัยมาแสดงแก่คณะรัฐมนตรีจำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ ผนังคอนกรีตกันกระสุนแบบหลายชั้นจากเส้นใยเหล็กและแผ่นยางพารา ไม้สำเร็จรูปประหยัดพลังงาน-ทนน้ำทะเล และบ้านปลอดยุง ซึ่งนายกฯสน ขายได้จริงหรือยัง ผ่านมาตรฐานรับรองของหน่วยงานตามที่กำหนดหรือไม่ อีกทั้งราคาเข้าถึงชาวบ้านทั่วไปหรือไม่
ผลงานวิจัย สกว. ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. โครงการ ”การพัฒนาผนังคอนกรีตกันกระสุนแบบหลายชั้นจากเส้นใยเหล็กและแผ่นยางพาราเพื่อลดการทะลุผ่านและสะท้อนกลับของกระสุน” โดย ศ. ดร.ปิติ สุคนธสุขกุล นายบูชิต มาโห้ และ ดร.สิทธิศักดิ์ แจ่มนาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้พัฒนาผนังคอนกรีตกันกระสุนที่ลดการทะลุผ่านและสะท้อนกลับกันกระสุน เนื่องจากที่ผ่านมาเน้นการป้องกันการทะลุผ่านของกระสุนปืนเป็นหลัก แต่บางครั้งอาจเกิดการสะท้อนกลับของกระสุนปืนและการกะเทาะออกของเศษคอนกรีต ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
นักวิจัยได้นำแผ่นยางพารามาสลับชั้นกับคอนกรีตผสมเส้นใยเหล็กเพื่อดูดซับพลังงานจลน์ ลดการทะลุผ่าน และการสะท้อนกลับของกระสุนในขณะเกิดการปะทะ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ (1) ศึกษาความสามารถการดูดซับพลังงานจลน์จากกระสุนของวัสดุแต่ละชนิดที่ความหนาต่างกัน (2) ทดสอบการต้านทานกระสุนของผนังแบบหลายชั้น (3) วิเคราะห์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (FEM) เพื่อเปรียบเทียบกับผลทดสอบ ซึ่งพบว่าการดูดซับพลังงานจลน์ของวัสดุแต่ละชนิดเพิ่มขึ้นตามความหนาของวัสดุ โดยคอนกรีตผสมเส้นใยเหล็กมีความสามารถในการดูดซับพลังงานจลน์มากกว่าแผ่นยางพาราที่ความหนาเดียวกัน ทั้งนี้ผนังคอนกรีตกันกระสุนที่พัฒนาขึ้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานก่อสร้างแบบกึ่งถาวร เช่น บังเกอร์ หรือผนังอาคารที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการก่อการร้าย เพื่อสร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งการนำแผ่นยางพารามาใช้ยังเป็นการช่วยส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศอีกด้วย
2. โครงการ “สมบัติทางความร้อน สมบัติทางเสียง กำลังอัด การต้านทานเชื้อจุลินทรีย์ และความทนทานต่อการใช้งานในสภาวะริมทะเลของบ้านพักอาศัยที่ทำจากวัสดุผสมระหว่างพีวีซีและผงขี้เลื่อยไม้” โดย ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ และนายศิริชัย ก้านกิ่ง คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งออกแบบเพื่อสร้างเป็นบ้านพักอาศัยแบบชั้นเดียว ซึ่งมีการประกอบกันของผนังทั้งในแนวตั้งและแนวนอนโดยปราศจากการยึดด้วยโลหะ
ทั้งนี้การก่อสร้างบ้านพักอาศัยในปัจจุบันส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นจากผนังคอนกรีตที่มีการก่ออิฐฉาบปูน ซึ่งเป็นระบบก่อสร้างแบบดั้งเดิมที่ใช้วัสดุ แรงงาน และเวลาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งต้องอาศัยพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับการเข้าถึงเพื่อทำการติดตั้ง ดังนั้นการสร้างบ้านพักอาศัยแบบถอดประกอบได้ หรือน็อคดาวน์ โครงร่างบ้านพักอาศัยในงานวิจัยนี้สร้างขึ้นจากวัสดุผสมระหว่างพอลิไวนิลคลอไรด์กับผงขี้เลื่อยไม้ยางพารา เพื่อให้มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา ใช้แรงงาน เวลา และพื้นที่สำหรับการเข้าไปติดตั้งน้อย โดยปกติวัสดุผสมดังกล่าวได้ถูกคิดค้นขึ้นและมีการใช้มาสักระยะเวลาหนึ่งแล้ว ไม้ที่ใช้จัดอยู่ในกลุ่มของไม้เนื้อแข็ง แต่ความต้องการใช้งานมีมากขึ้น ส่งผลให้ไม้เนื้อแข็งเริ่มมีปริมาณลดน้อยลง การใช้ไม้เนื้ออ่อนเป็นส่วนผสมของการสร้างชิ้นส่วนบ้านพักอาศัยแบบชั้นเดียวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
นักวิจัยเลือกใช้ไม้ยางพาราซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีจุดเด่นในด้านปริมาณพื้นที่ผิวจำเพาะและขนาดของรูพรุนที่สูง มีอัตราส่วนของความยาวต่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ต่ำ และเมื่อผสมลงในพอลิไวนิลคลอไรด์แล้วจะทำให้วัสดุผสมที่ได้มีความไม่ชอบน้ำสูง โดยนักวิจัยได้ออกแบบและจัดสร้างเป็นบ้านพักอาศัยแบบชั้นเดียว และศึกษาอิทธิพลของสภาพแวดล้อมริมทะเลที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติต่าง ๆ เช่น สมบัติทางความร้อน สมบัติทางเสียง กำลังอัดและความแข็งแรงของรอยต่อและจุดต่อ การต้านทานเชื้อราและสาหร่าย สมบัติทางแสง และความทนทานต่อไอทะเล สำหรับประยุกต์ใช้เป็นอาคารชั้นเดียวที่ติดตั้งริมชายฝั่งทะเล ที่ต้องการความเป็นธรรมชาติ ช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น บ้านพักอาศัยประเภทรีสอร์ท เป็นต้น
3. โครงการ “นิเวศวิทยาของยุงและแมลงวันคอกสัตว์ และนัยยะความเป็นไปได้ในการใช้สารสกัดพืช เพื่อควบคุมแมลงพาหะนำโรค” โดย ศ. ดร.ธีรภาพ เจริญวิริยะภาพ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และคณะ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในการนำไปใช้ป้องกันยุงกัด ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สกว. พร้อมกับจดสิทธิบัตรเครื่องมือศึกษาคุณสมบัติของสารเคมี เพื่อสร้าง “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ไล่ยุงคุณภาพ”
ปัญหาสำคัญในการใช้สารเคมีควบคุมยุง คือ การดื้อยา คณะวิจัยจึงได้ศึกษาการต้านทานสารเคมีของยุงพาหะ และนำพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่พบยุงต้านทานต่อสารเคมีมาวางลงบนแผนที่ขอบเขตของประเทศไทย โดยการให้สัญลักษณ์กับชั้นข้อมูลตามชนิดของยุงและสารเคมีด้วยโปรแกรมซอฟแวร์พิเศษ ทำให้ทราบรายละเอียดของยุงที่ต้านทานต่อสารเคมีในพื้นที่ ซึ่งเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายการจัดซื้อสารเคมีซึ่งในแต่ละปีมีมูลค่าสูงหลายล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการควบคุมยุงพาหะ โดยยุงพาหะนำโรคมาลาเรียทั้ง 7 ชนิดในประเทศไทยจัดเป็นยุงพาหะที่ซับซ้อน ไม่สามารถจำแนกชนิดได้โดยลักษณะทางกายภาพหรือรูปร่างสัณฐานภายนอก มีความหลากหลายทางด้านพฤติกรรม คณะวิจัยจึงรวบรวมข้อมูลการกระจายตัวของยุงในภาคสนามและในห้องปฏิบัตการด้วยเทคนิคขั้นสูง และนำข้อมูลทั้งหมดเข้าระบบคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลจัดทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์ แสดงการกระจายตัวของพาหะนำโรคมาลาเรียให้กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งนับเป็นแผนที่การกระจายของยุงพาหะนำโรคมาลาเรียที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้ ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดแบ่งพื้นที่การระบาดของโรคมาลาเรียในประเทศไทย และปรับกำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่มีการระบาดของมาลาเรีย
ยุงหลายชนิดเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน ที่สำคัญที่สุดคือยุงลาย พาหะนำโรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้ซิก้า ซึ่งชอบดูดเลือดในบ้านเรือนช่วงเวลากลางวัน การควบคุมและป้องกันโรคในประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการยุงพาหะโดยใช้สารไล่ยุง งานวิจัยนี้จึงเป็นต้นแบบในการสร้าง “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ไล่ยุงคุณภาพ” ที่นำมาใช้ภายในบ้านเพื่อไล่ยุงในบ้านให้ออกจากบ้าน หรือป้องกันไม่ให้ยุงเข้าบ้าน โดยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ ผ้าม่านไล่ยุง วอลเปเปอร์ไล่ยุง สีทาบ้านไล่ยุง เฟอร์นิเจอร์ไล่ยุง (เตียง ตู้ โต๊ะ) เป็นต้น ซึ่งได้แสดงไว้ใน “โมเดลต้นแบบบ้านปลอดยุง” ผลงานวิจัยยังทำให้ชุมชนได้ตระหนักถึงพื้นที่เสี่ยงที่ควรระมัดระวัง และแสดงให้ทราบช่วงเวลาที่พาหะนำโรคออกหากินทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน โดยให้ประชาชนร่วมทำงานวิจัยแบบอาสาสมัคร ทำให้ได้รับความรู้ไปพร้อม ๆ กับนักวิจัยและสามารถนำไปถ่ายทอดใช้จริงในชีวิตประจำวัน