เปิดฉากยิ่งใหญ่ ‘มหกรรมวิทย์ 2560’
โชว์สุดยอดวิจัย นวัตกรรมไทย-ตปท.
งาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560” (National Science and Technology Fair 2017) ปีที่ 12 เปิดฉากแล้วอย่างยิ่งใหญ่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯผนึกกำลังหน่วยงานพันธมิตรจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม” รวมสุดยอดนิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ ชูไฮไลท์ 4D Simulator นิทรรศการรูปแบบดินแดน Fantasy นวัตกรรมทางเลือกใหม่แก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน นวัตกรรมเกษตรเกรดเอ นวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัย และกิจกรรมสุดท้าทายอื่นๆ อีกมากมาย ระหว่าง 17-27 ส.ค. 2560 ณ ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 1.2 ล้านคน
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560” ตามที่ได้รับมอบหมายจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2560 จัดขึ้นเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”
อีกทั้ง ในปีนี้ยังมีแนวคิดเพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายการพัฒนาประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0 และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) และเพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติ (UNESCO) มีมติให้ปี 2560 เป็น “ปีสากลแห่งการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” หรือ “2017 International Year of Sustainable Tourism for Development” ซึ่งเป็นหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายของ SDGs อีกด้วย ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม”
ทั้งนี้ได้ผนึกกำลังร่วมกันของ 10 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงคมนาคม กระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 72 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมที่หลากหลาย เยาวชนไทยจะได้เรียนรู้ทุกประสาทสัมผัส ในมิติใหม่ ด้วยเทคโนโลยีที่นำสมัย สร้างความตื่นเต้น สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์
ที่สำคัญในปีนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศอีกถึง 7 ประเทศ 16 หน่วยงาน ร่วมจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมการค้นคว้าใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ ญี่ปุ่น (9 หน่วยงาน) สหรัฐอเมริกา (2 หน่วยงาน) สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ เพื่อกระตุ้นความสนใจให้แก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป โดยมีรูปแบบของการจัดกิจกรรมในงานคล้ายกับเทศกาลวิทยาศาสตร์ (Science Festival) ในหลายประเทศ คือ ประกอบด้วยการจัดนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบทันสมัยที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม (Interactive Exhibition) ในการเรียนรู้
เป้าหมายสำคัญปีนี้มุ่งนำเสนอให้เยาวชนไทยได้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่อง เป้าหมายการพัฒนาประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0 นอกจากนี้ ยังได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสะเต็มศึกษา (STEM Education) มาใช้ในการจัดกิจกรรมในรูปแบบ เล่น-เรียน-รู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ อันจะเป็นการกระตุ้นความสนใจแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนที่ต้องเติบโตและเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในวันข้างหน้า ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปต่อยอดเพื่อพัฒนาชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเสริมถึงความยิ่งใหญ่ของงานนี้ว่า มหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้มีการดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพิ่มกิจกรรมและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สำหรับทุกเพศทุกวัยให้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ร่วมสนุกและทดลองอย่างเพลิดเพลิน ภายในงานประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมหลากหลายถึง 5 โซน มากมายองค์ความรู้ให้ทุกคนได้เข้าไปมีส่วนร่วม
ดร.อรรชกาฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้มีนิทรรศการหลักที่ไม่ควรพลาด ได้แก่ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ (Royal Pavilion) นำเสนอพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และนำเสนอพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย และ พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” รวมทั้ง นำเสนอพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ผู้ทรงมีบทบาทและให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรงนำแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาเป็นแบบอย่างในการนำองค์ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหาความทุกข์ยากและยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย
สำหรับ นิทรรศการหลัก ที่มีการนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0 รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs) และปีสากลแห่งการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ นิทรรศการนวัตกรรมพลังงาน (Energy Innovation) เข้าใจพื้นฐานพลังงาน วิวัฒนาการพลังงานความร้อน รู้จักกับแหล่งพลังงานในโลกและพลังงานหมุนเวียน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์แหล่งพลังงานธรรมชาติและแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน ชมนวัตกรรมพลังงานที่ต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการได้มาซึ่งพลังงานทางเลือกที่เพิ่มขึ้น พบกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ทางเลือกใหม่ของวินมอเตอร์ไซค์ โดยผลงาน Start up
นิทรรศการนาทีนี้ต้องดิจิทัล (Digital Now) พบกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลจากอดีตสู่ปัจจุบัน รู้จักตัวอย่างของ Disruptive Technology รอบ ๆ ตัว อาทิ การใช้หุ่นยนต์ในการทำงาน การใช้ AI แทนพนักงานออฟฟิศ เทคโนโลยี Block Chain แทนธุรกรรมในธนาคาร พร้อมรู้จักกับอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดจาก Disruptive Technology และยุคดิจิทัล รวมทั้ง สนุกกับการประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่สามารถออกคำสั่งได้ผ่านแอพพลิเคชั่น และกิจกรรม Coding เพื่อหัดใช้คำสั่งคอมพิวเตอร์อย่างง่าย / นิทรรศการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (International Year of Sustainable Tourism) สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวเมืองไทยกับภาพยนตร์ในรูปแบบ 4D Simulator และเทคนิค 4D Effect สมจริงสนุกสนานที่ทุกคนรอคอย…โดยจะมียายพิกุล และหลานบุญมา สองช้างยายหลานที่อาสาพาผู้ชมไปชื่นชมกับความสมบูรณ์และคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติการท่องเที่ยวไทยผ่านมุมมองใหม่ที่จะสนับสนุนให้การท่องเที่ยวยั่งยืนต่อไป พร้อมเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ พบความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมโบราณที่บรรพบุรุษชาวไทยได้สร้าง ที่แม้แต่องค์กรระดับโลกอย่าง UNESCO ยังให้การยอมรับและขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก
นิทรรศการเกษตรเกรดเอ (Smart Farm Smart Food) พบกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็วมากขึ้น เพื่อเป็นการรองรับประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในปี ค.ศ. 2050 ชม Smart Farmer’s House ระบบการเกษตรแม่นยำสูง แนวทางการทำการเกษตรแนวตั้ง เกษตรครัวเรือน ชมนวัตกรรมด้านอาหารที่ทำให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก พลาดไม่ได้กับเกษตรกรต้นแบบที่จะมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จ พร้อมทั้งส่งต่อแนวคิดสร้างสรรค์ในการทำเกษตรยุคใหม่ อันจะนำไปสู่การเป็น Smart Farmer ที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมไทยสู่การเป็นผู้นำด้านความมั่นคงทางอาหารของโลกในอนาคต เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ นิทรรศการยุคมนุษย์ครองโลก (Anthropocene) การใช้ทรัพยากรเกินจำเป็นแบบไม่จบสิ้นจนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ อาจทำให้การสูญพันธุ์กลับมาอีกครั้ง นิทรรศการชุดนี้จะพาทุกคนเข้าสู่ยุค “มนุษย์กำหนดอนาคตโลก” ร่วมกับตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันหาทางออกแห่งอนาคตด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะมาปรับให้มนุษย์และธรรมชาติอยู่ด้วยกันต่อไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมสนุกไปกับบันไดยักษ์ Carbon Playground เรียนรู้วิวัฒนาการของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน ลองหา Carbon Footprint จาก Lifestyle ของคุณเอง แล้วตัดสินใจว่าอนาคตคุณจะปกป้องโลกได้อย่างไร / นิทรรศการ สูงวัย ใกล้ตัว (Aging Society) พบกับเมืองจำลองสูงวัย ใคร ๆ ก็ต้องเจอ เข้าสู่ “เมืองเพิ่มอายุ” ที่จะทำให้ผู้เข้าชมสัมผัสประสบการณ์สูงวัย ทดลองเป็นผู้สูงวัยด้วยอุปกรณ์และฐานจำลอง 5 ฐาน เพื่อความเข้าใจผู้สูงวัยมากขึ้น และเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ผู้สูงวัยในอนาคตที่ทุกคนต้องเจอ สนุกกับเมืองอัจฉริยะแสนสุขสำหรับทุกช่วงวัย ในรูปแบบเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัยกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
/ นิทรรศการสารพัดพิษ (Biotoxin) ที่นำเสนอในรูปแบบ Fantasy เหนือจินตนาการ ดินแดนสารพัดพิษที่ปกคลุมด้วยไอหมอกแห่งความลึกลับกับเหล่าพืชพิษและสัตว์พิษที่ซ่อนเร้น และแฝงด้วยอันตรายในทุกย่างก้าว มาเรียนรู้เรื่องพิษที่มีโทษต่อมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้พิษเหล่านั้นมาสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ได้ในคราวเดียวกัน สนุกสนานกับละครและนิทานหรรษานานาพิษ ชมสัตว์ พืช แมลง ดอกไม้พิษชนิดต่าง ๆ และรู้จักว่าพิษของมันมาจากไหน / นิทรรศการยักษ์ใหญ่ใต้ทะเลลึก (Monsters of The Sea) อีกหนึ่งนิทรรศการสุดอลังการเหนือจินตนาการที่จะนำผู้เข้าชมเดินทางไปในมหาสมุทรใต้ท้องทะเลลึก ตื่นตาตื่นใจไปกับสัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดยักษ์โบราณที่เป็นจ้าวทะเลลึกในยุค Mesozoic ซึ่งเป็นยุคเดียวกับไดโนเสาร์ ที่มีความยาวมากถึง 5-10 เมตร ด้วยเทคนิคการแสดง Animatronics ที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวในชีวิตจริง ก่อนนำไปจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบที่ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี เร็ว ๆ นี้
อาทิ เพลซิโอซอรัส’ (Plesiosaurus) ตำนานต้นฉบับของเนสซีแห่งทะเลสาปล็อคเนสส์ ที่มาพร้อมกับ ‘เมกาโลดอน’ (Megalodon) ฉลามยักษ์ฟันโตขนาดเท่าฝ่ามือ เรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการ การปรับตัว และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ในท้องทะเล ตลอดจนสาเหตุของการสูญพันธุ์ / ยิ่งไปกว่านั้นภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีนิทรรศการและกิจกรรมสำหรับเยาวชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ในแนวทาง STEM Education ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์และต่อยอดสู่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับ วทน. ได้แก่ ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ลานกิจกรรมพัฒนาปัญญาเยาว์ (Kids Zone) ลานประกวดแข่งขันและแสดงผลงานโครงงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ห้องฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ในบูธต่างประเทศยังจัดแสดงผลงานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรมการค้นคว้าใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้เยาวชนและประชาชนคนไทยได้ชมกันอีกด้วย อาทิ บูธประเทศสหรัฐอเมริกา นำเสนอการติดตามสุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ และหน่วยงานนาซ่าจะมาให้ข้อมูลดาวเทียม และนำ simulator จำลองมาให้เด็กๆ ได้ทดลองท่องไปในอวกาศ รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการมัลติมีเดีย (ด้านการถ่ายภาพ โสตทัศน์และการโต้ตอบ) เพื่อให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศในรูปแบบที่สนุกสนาน โต้ตอบ บูธประเทศฝรั่งเศส นำเสนอเรื่องราวนักวิทย์หญิง และการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกิจกรรม workshop ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม สำหรับหน่วยงาน Universcience แห่งฝรั่งเศส มานำเสนอการกำเนิดคณิตศาสตร์และวิวัฒนาการ โดยบอกเล่าผ่านนิทาน 6 เรื่อง และชมลูกคิดยุคแรกในภาษาฮินดู
บูธประเทศเยอรมัน โชว์การทดลองวิทยาศาสตร์จากประเทศเยอรมัน ส่วนศูนย์วิทยาศาสตร์เฟโนเมนตา (PHANOMENTA) โชว์เครื่องยนต์นวัตกรรมหรูจากประเทศเยอรมัน ยี่ห้อเบนซ์ และ BMW และหลักการทำงานของเครื่องยนต์ บูธประเทศญี่ปุ่น นำเสนอผลงานวิจัยเพื่อการค้นหาองค์ประกอบของผักและอาหารไทยที่มีผลต่อสุขภาพผู้บริโภค และวิธีการพัฒนาการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ยังมีผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากประเทศอื่นๆ ที่นำมาร่วมจัดแสดงที่น่าสนใจอีกมากมาย
ทั้งนี้ ดร.อรรชกาฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ขอเชิญชวนเยาวชนและประชาชนทุกท่านเข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2560 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานร่วมจัดทุ่มเทเต็มที่เพื่อจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ร่วมสนุกและเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ทุกคนสามารถเข้าชมได้อย่างเพลิดเพลินโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมและร่วมกิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 17-27 สิงหาคม 2560 เวลา 09.00 – 19.00 น. ณ ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานในปีนี้ประมาณ 1.2 ล้านคน
สำหรับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อได้ที่โทร 0 2577 9960 เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเข้าชมของประชาชนทั่วไป วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.00-19.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-19.00 น. ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ LINE ID: @thailandnstfair หรือ Instagram : ThailandNSTFair