รมต.วิทย์ฯหนุนซินโครตรอน
เพิ่มเครื่องมือ-วิจัยเชิงลึกรับภาคอุตฯ
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา เนื่องในโอกาสเดินทางมาร่วมประชุม ครม. สัญจร ณ จ.นครราชสีมา โดยมี ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน คณะผู้บริหาร พร้อมด้วยบุคลากรสถาบันฯ ให้การต้อนรับ
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “การเดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพราะเห็นเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ กอปรกับสถาบันฯ มีผลงานที่เข้มแข็งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเดินเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนั้นยังก่อให้เกิดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากมาย
โดยดิฉันได้มีโอกาสได้ชมผลงานการพัฒนาเตาเชื่อมแล่นประสานโลหะในสภาวะสุญญากาศ ซึ่งเป็นวิธีการเชื่อมโลหะตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไปเข้าด้วยกัน ที่พิเศษคืออาจจะเป็นโลหะชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดก็ได้ การเชื่อมแล่นประสานโลหะในเตาสุญญากาศ จะทําให้ชิ้นงานมีความสะอาดซึ่งจําเป็นมากสําหรับการใช้งานในระบบสุญญากาศระดับสูงอย่างเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และรอยต่อที่เกิดจากการแล่นประสานโลหะจะมีความแข็งแรง ชิ้นงานไม่มีการบิดตัวหรือบิดตัวน้อยมาก การพัฒนาเทคโนโลยีนี้สามารถลดการนําเข้าจากต่างประเทศได้ และยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้อีกด้วย
นอกจากนี้ องค์ความรู้จากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ยังนำไปสู่การพัฒนาเครื่องฉายรังสีชนิดเครื่องเร่งอนุภาคสําหรับการรักษามะเร็ง และการออกแบบและสร้างแม่เหล็กชนิดต่าง ๆ สําหรับเครื่องเร่งอนุภาคด้วยตนเอง ที่มีหน้าที่สําคัญในการบังคับอนุภาคอิเล็กตรอนให้เคลื่อนที่และมีคุณสมบัติตามที่ต้องการ อันจะส่งผลต่อคุณสมบัติของแสงซินโครตรอนที่ผลิตขึ้น ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เทคโนโลยีที่กล่าวข้างต้นนี้ล้วนเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนามาด้วยบุคลากรของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นฝีมือคนไทยอย่างแท้จริง”
จากการประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับแสงซินโครตรอน ขณะนี้ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะมีเครื่องผลิตแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ ซึ่งเป็นเครื่องรุ่นที่ 3 โดยเอกชนสามารถมีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ได้ด้วย อันจะนำไปสู่การเพิ่มโอกาสทางการวิจัย ต่อยอดทางธุรกิจ ขยายขีดความสามารถในรองรับงานวิจัยจากภาคอุตสาหกรรม สร้างสรรค์นวัตกรรมหลากหลายชนิดร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม อีกทั้งยังนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสร้างงานสร้างอาชีพในหลากหลายสาขา เพื่อสนับสนุนให้ประเทศก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป