สกว.จัดนิทรรศการใหญ่ฉลอง 25 ปี
“สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. จัดงาน 25 ปี สกว. ภายใต้แนวคิด “สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” จากการสนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องจนเกิดองค์ความรู้ใหม่ เกิดนวัตกรรม นโยบาย พัฒนาชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต ที่ผ่านมาสร้างนักวิจัยทุกระดับ กระทั่งปัจจุบันสร้างนักวิจัยมาแล้วราว 60,000 คน จากผลงานวิจัยกว่า 20,000 โครงการ มีการสร้างความรู้จากงานวิจัยไปต่อยอดให้เกิดนวัตกรรม เพื่อการมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างอนาคตของประเทศต่อไป ภายในงานนำผลงานวิจัยเด่นโชว์มากมาย รวมถึงความหลากหลายของเห็ดราในไทย รวมถึงเห็ดที่ค้นพบครั้งแรกของโลก การวิจัยการเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าเชิงพาณิชย์ หรืองานวิจัยสกัดสารต้านมะเร็งจากใบชะมวงที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์
พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน 25 ปี สกว. ภายใต้แนวคิด “สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” พร้อมปาฐกถานำ เรื่อง “ทิศทางและนโยบายการพัฒนาประเทศ โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย” ความว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการสร้างระบบการวิจัยของประเทศที่เข้มแข็ง จึงจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ 20 ปีขึ้น มุ่งเน้นที่การปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ มีหลักการของ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) ภายใต้วิสัยทัศน์ที่มุ่งให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่พัฒนาบนพื้นฐานการวิจัยและนวัตกรรม มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ นำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัย ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
ซึ่งผลงานของ สกว. ในช่วง25 ปีที่ผ่านมานี้ เป็นข้อพิสูจน์อันดีว่า ศักยภาพของบุคลากรการวิจัยของประเทศไทย สามารถผลิตงานวิจัยรวมถึงนวัตกรรมที่มีคุณภาพสูง และสามารถนำไปใช้ได้จริงนั้นมีอยู่จำนวนมาก แต่เพื่อจะขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จะต้องอาศัยการผสานพลังวิจัยจากทุกภาคส่วนที่จะกระตุ้นให้เกิดผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงได้
ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสกว.เปิดเผยว่า สกว.ได้ผลักดันความรู้ในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ออกสู่สังคม เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า มหาสมุทรความรู้มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร ในการก้าวย่างสู่ปีที่ 25ของสกว.มุ่งเดินหน้าภายใต้ พันธกิจ สร้างสรรค์ปัญญา พัฒนาประเทศ บนเส้นทางของการสร้างคน สร้างความรู้และส่งมอบความรู้เหล่านั้นกลับคืนสู่ประเทศอย่างยั่งยืน พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เหล่านั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สานพลังให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศต่อไปในอนาคต
“สกว.มีบทบาท 1. สร้างคน โดยสร้างไปแล้วประมาณ 60,000 คน 2. สร้างงานวิจัย ซึ่งสกว.สนับสนุนการวิจัยไปแล้ว 28,000 โครงการ เรามีความคิดว่า งานวิจัยที่เสร็จสิ้นทุกโครงการล้วนแต่มีประโยชน์ ก้าวต่อไปนั้น จะทำอย่างไรงานวิจัยจึงจะพัฒนาส่งผลกระทบที่สูงขึ้น ซึ่งต้องมีความรวดเร็ว ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยในการทำวิจัย โดยส่วนที่ 3 .การสร้างอนาคตนั้น เราคิดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมาย SDGs นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเครือข่าย โดยการให้ทุนมุ่งเน้นเพื่อส่วนรวมและทำงานร่วมกับเครือข่าย”
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า สกว.ได้สนับสนุนการวิจัยเพื่อให้เกิดความรู้และใช้ความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาประเทศโดยตลอด ภายในงาน 25 ปีสกว. มีกิจกรรมและนิทรรศการ เช่น งานวิจัยท่องเที่ยวตามรอยพระราชดำริ “แม่ของแผ่นดิน มิ่งขวัญชาวไทย” ย้อนรอยประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ 10 สปีชีส์เห็ดชนิดใหม่ของโลก ต้นแบบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดอีโอดี และงานวิจัยที่พร้อมต่อยอดอีกมากมาย
ตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจ เช่น งานวิจัยด้านความหลากหลายชีวภาพของคณะนักวิจัยของศ.ดร.สายสมร ลำยอง เมธีวิจัยอาวุโส จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ศึกษาเห็ดราและการใช้ประโยชน์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ในป่าธรรมชาติพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
โดยศึกษาตั้งแต่ปี 2542-ปัจจุบัน ได้ค้นพบเห็ดประมาณ 6,080 ชนิดและรามากกว่า 10,000 ชนิด โดยในจำนวนนี้มีชนิดที่พบว่า มีเฉพาะในประเทศไทยและค้นพบเป็นครั้งแรกของโลกด้วย โดยเป็นเห็ดมากกว่า 60 ชนิด เป็นรามากกว่า 70 ชนิด
ผลงานวิจัยเด่น ๆ ได้แก่ 1. การวิจัยเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่า ซึ่งโดยปกติพบในป่า ขึ้นอยู่ร่วมกับต้นโสน ซึ่งมีให้เก็บกัน 1-2 ครั้งต่อปี จึงมีราคาแพงถึง 250 บาทต่อกิโลกรัม ทางทีมวิจัยจึงศึกษาพัฒนาการเพาะเลี้ยงในโรงเรือน โดยควบคุมการออกดอกได้ ซึ่งจะทำให้สามารถมีเห็ดตับเต่ารับประทานกันได้ตลอดทั้งปี แต่ขณะนี้ยังได้ผลผลิตไม่มากและยังกำลังศึกษาถึงจุดคุ้มทุน คาดว่า ในอนาคตอันใกล้จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้สนใจนำไปประกอบอาชีพได้
2.งานวิจัยเห็ดระโงกเหลือง เห็ดป่าที่พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเมื่อนำเห็ดมาสกัดหาสารชีวภาพ ได้ค้นพบสารที่มีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาล ช่วยยับยั้งเอนไซม์การผลิตเม็ดสีและช่วยต้านจุลินทรีย์ก่อโรคได้ ในอนาคตจึงอาจนำสารชีวภาพจากเห็ดชนิดนี้มาใช้ทำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อช่วยต้านโรคเบาหวาน หรือใช้ในเครื่องสำอางเพื่อช่วยผิวขาวสวยอย่างปลอดภัย ซึ่งคุณสมบัติของสารจากเห็ดระโงกนี้ยังค้นพบในเห็ดแดงด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ทีมนักวิจัยศ.ดร.สายสมรยังค้นพบราชนิดใหม่ ซึ่งเตรียมจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ วันที่ 4 กันยายน 2560 นี้ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
งานวิจัยใบชะมวง มีสารต้านมะเร็ง พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์
นอกเหนือจากนี้ภายในงานยังมีการประชุมวิชาการ เสวนาหัวข้อพิเศษ เช่น • สูงวัยอารมณ์ดี โดย ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน เมธีวิจัยอาวุโส สกว. รศ.ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข คุณสมเกียรติ ชินธรรมมิตร และ ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หัวข้อ “ปฏิรูปประเทศด้วยนวัตกรรม” โดย คุณจาง ควายทอง ประธานบริษัท ควายทอง นิว เอเนอร์จี จำกัด, คุณเฉลิมพล ปุณโณทก, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท CT Asia Robotics Co., Ltd., นาวาตรี ดร.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ดำเนินรายการโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน • Knowledge farm talk #3 “สถานการณ์ในปัจจุบันและทางออกสำหรับอนาคต” โดย รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รศ.ดร.พีระ เจริญพร ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง และ ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ • รื้อร้างสร้างใหม่ ประวัติศาสตร์ไทยยุค 4.0 กับ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ดำเนินรายการโดย คุณคุณากร เกิดพันธ์ เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังมีคลินิกวิจัยจาก สกว.ที่พร้อมให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านงานวิจัย หรือสำหรับนักวิจัยมือใหม่อีกด้วย
ส่วนกิจกรรมพิเศษบนเวทีนอกจากการแสดงต่างๆแล้ว ร่วมพูดคุยกับ น็อต วรฤทธิ์ และปอย ตรีชฏา 2 นักแสดง ที่นำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ , กิจกรรมพูดพร่ำฮัมเพลง กับ พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง พร้อมกับการเปิดตัว WiTThai season2 กับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ แทนไท ประเสริฐกุล และ อาบัน สามัญชน ที่จะทำให้เรื่องวิทยาศาสตร์ยากๆ กลายเป็นเรื่องง่าย มีการจัดการแสดงทั้งหมด 2 วันคือ 25-26 สิงหาคม 2560 ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ 2 สยามพารากอน