‘ชุดหาพยาธิใบไม้ตับ’ มหิดล
ซิวแชมป์นวัตกรรม4.0-25ปีสกว.
นักวิจัยจากมหิดลคว้าแชมป์นำเสนองานสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่ไทยแลนด์ 4.0 คว้าเงินแสนไปครอง หลังฝ่าด่านหินรอบ 6 คนสุดท้ายจนชนะใจกรรมการ ด้วยผลงานชุดทดสอบหาพยาธิใบไม้ในตับและในกระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง กรรมการชี้งานมีผลกระทบสูงต่อคนและสัตว์ รวมถึงความปลอดภัยอาหารของคนในชาติ
รศ. ดร. น.สพ.ปณัฐ อนุรักษ์ปรีดา นักวิจัยจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลชนะเลิศพร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท ในการแข่งขัน “Pitching สร้างสรรค์นวัตกรรมสู่ไทยแลนด์ 4.0” ค้นหาสุดยอดนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการนำเสนอผลงานเพื่อสร้างนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในงาน “25 ปี สกว. : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ทั้งนี้ นักวิจัยผู้ผ่านเข้ารอบ 6 คนสุดท้ายได้นำเสนอผลงานให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชน คนละ 3 นาที เพื่อคัดเลือก 3 คนสุดท้ายเข้าไปชิงชัยค้นหาสุดยอดนักวิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งผลปรากฏว่า รศ. ดร. น.สพ.ปณัฐ เจ้าของผลงาน “ชุดทดสอบอิมมูโนวินิจฉัยสำเร็จรูปที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสำหรับการตรวจหาเชื้อพยาธิใบไม้ในตับและพยาธิใบไม้ในกระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง” เป็นผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศไปครอง
ขณะที่ ดร.วีรินทร์ดา อัปมานะ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับรางวัลป๊อบปูล่าโหวต พร้อมรับเงินรางวัล 10,000 บาท ในการ Pitching หัวข้อ “พลังงานไบโอดีเซลในยุค 4.0” โดยมี ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการฝ่าย วิชาการ สกว. เป็นผู้มอบรางวัล
ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า สกว.เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ให้เข้าสู่นักวิจัยอาชีพ รวมทั้งสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในระดับสากล ฝ่ายวิชาการจึงจัดโครงการ “Pitching สร้างสรรค์นวัตกรรมสู่ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานที่รับทุนของ สกว. ต่อสาธารณะ พร้อมกับรับฟังคำแนะนำจากเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังเป็นเวทีให้นักวิจัยได้แสดงศักยภาพในการต่อยอดงานวิจัยพื้นฐานเพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยที่ผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ
สำหรับการนำเสนอของ รศ. ดร. น.สพ.ปณัฐ นั้น ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญและปัญหาของโรคพยาธิใบไม้ในตับและพยาธิใบไม้ในกระเพาะอาหารในปศุสัตว์ เช่น โค กระบือ แพะ แกะ และมนุษย์ พบการระบาดในเขตร้อนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดพยาธิสภาพที่ตับอย่างรุนแรง เป็นสาเหตุการตายในสัตว์ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี นักวิจัยจึงได้พัฒนาชุดทดสอบอิมมูโนวินิจฉัยสำเร็จรูปที่มีความไวและความจำเพาะในการตรวจหาเชื้อ ประกอบด้วยการทดสอบที่เคลือบด้วยแอนติบดีที่จำเพาะ และน้ำยาสำหรับการทดสอบ โดยมีจุดเด่นที่สามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างสะดวกรวดเร็วในเวลาเพียง 4 นาที นำไปใช้ได้ทั้งห้องปฏิบัติการและภาคสนาม การใช้งานไม่ยุ่งยากและราคาไม่แพง อีกทั้งตรวจตัวอย่างในแต่ละครั้งได้จำนวนมากและตรวจได้ตั้งแต่วันแรกของการติดเชื้อ
งานวิจัยนี้จึงเหมาะสมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของภาคเอกชน ประชาชนหรือเกษตรกร ซึ่งในระยะยาวจะมีประโยชน์ต่อภาคเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ตลอดจนสามารถนำชุดทดสอบไปเป็นต้นแบบในการทดสอบหาพยาธิกลุ่มอื่น ๆ ได้ในอนาคต
รศ. สมพร อิศวิลานนท์ กรรมการจากสถาบันคลังสมอง ระบุว่าการนำเสนอของ รศ. ดร. น.สพ.ปณัฐแสดงให้เห็นเทคโนโลยีได้อย่างเป็นรูปธรรม และอยู่ในขั้นตอนการขยายผลสู่การใช้ประโยชน์จริง ซึ่งผลกระทบสำคัญที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ คือ ความมั่นคงอาหาร ต่อชุมชน เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และประชาชนผู้บริโภคในวงกว้าง
อย่างไรก็ตามนักวิจัยจะต้องมีแผนงานทางธุรกิจ และจับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. ในการผลักดันให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐหรือเอกชนที่สนใจ สู่การผลิตชุดทดสอบเพื่อให้ใช้งานได้จริง จำหน่ายในท้องตลาดในราคาที่ชาวบ้านและเกษตรกรจับต้องได้ เข้าถึงได้จริง
นอกจากนี้ชุดทดสอบยังพกพาง่าย ชาวบ้านตรวจได้ ที่สำคัญที่สุดคือ คนที่ติดเชื้อจากสัตว์จะทำให้เกิดมะเร็งตับในคนโดยเฉพาะชาวอีสานที่เป็นโรคนี้กันมาก สามารถตรวจสอบสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคได้ทันที การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนเป็นปัญหาในแวดวงอุตสาหกรรมเกษตรและสาธารณสุข งานวิจัยนี้จึงเป็นนวัตกรรมที่จะแก้ปัญหาของประเทศและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้อุตสาหกรรมพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระงานและค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งนี้นอกจากจะผลิตขายในประเทศแล้วยังสามารถจำหน่ายได้ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเลี้ยงและบริโภคเนื้อสัตว์เคี้ยวเอื้องเหมือนกัน
อนึ่ง สกว.จะนำนักวิจัยเข้าร่วมนำเสนอผลงานในงาน Thailand Tech Show ระหว่างวันที่ 20-24 กันยายนนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่พาณิชย์ เชื่อมโยงให้เอกชนสามารถเข้าถึง นำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่พัฒนาจากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยออกสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดย รศ. ดร. น.สพ.ปณัฐจะร่วมนำเสนอผลงานในวันที่ 22 กันยายนด้วย