พณ.โชว์ศักยภาพสมุนไพรไทย
Thai Herb InnoBiz Network2017
กระทรวงพาณิชย์ จัดงาน “ ไทย เฮิร์บ อินโนบิส เนทเวิร์ค 2017” เพื่อโชว์ศักยภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย อีกทั้งเพื่อเป็นเวทีพบปะหารือและสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ร่วมกันในการส่งเสริมตลาดสมุนไพรไทยก้าวสู่ตลาดโลกที่เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดเฉียด 92,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคเกษตรไปสู่ยุคสร้างสรรค์มูลค่า พัฒนาโอกาสให้เกษตรรายย่อยได้เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจยุค 4.0 ได้ทั่วถึง พร้อม ชู 4 สมุนไพรศักยภาพสูง บัวบก ขมิ้นชัน ไพล และกระชายดำขึ้นแท่นผลิตภัณฑ์ Thailand’s Signature ตลาดระดับโลก เน้นด้านอาหาร ยา และเครื่องสำอาง
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มตลาดและโอกาสในอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย มีการคาดการณ์ว่า เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงได้กิจกรรม “Thai Herb InnoBiz Network 2017” ภายในงาน “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ” ครั้งที่ 14 ขึ้น ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อชูศักยภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในตลาดโลก รวมทั้งจัดโปรแกรมสำรวจศักยภาพสมุนไพรไทยตามโรงงานผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ โอกาสและเครือข่ายธุรกิจสมุนไพรไทย
นายวินิจฉัย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพืชสมุนไพรที่ชุมชนรู้จักสรรพคุณและนำมาใช้ประโยชน์มากกว่า 1,800 ชนิด และมี 300 ชนิดที่เป็นวัตถุดิบสมุนไพรที่หมุนเวียนในท้องตลาด โดยไทยส่งออกสมุนไพรเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาทต่อปี เป็นกลุ่มสารสกัดจากสมุนไพรมูลค่ากว่า 270 ล้านบาท ไทยยังส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู และผลิตภัณฑ์รักษาผิวที่ใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสมเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ในขณะที่อุตสาหกรรมสมุนไพรในตลาดโลกมีมูลค่ารวมกันประมาณ 91,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศที่มีมูลค่าทางการตลาดของสมุนไพรที่สูง ได้แก่ ประเทศเยอรมนี ประเทศญี่ปุ่น และประเทศฝรั่งเศส เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มีแนวโน้มว่าตลาดสมุนไพรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็มีอัตราการขยายตัวของการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากได้เริ่มมีความตะหนักถึงความสำคัญของการใช้สมุนไพรและยาแผนโบราณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดสมุนไพรและยาแผนโบราณในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดสมุนไพรที่มีอัตราการขยายตัวที่มากที่สุด โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเป็นประมาณร้อยละ 9.1 ต่อปี และสำหรับอัตราการขยายตัวของการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในแต่ละประเทศอยู่ที่ระว่างร้อยละ 3-12 ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพสูงที่สุดในตลาดสมุนไพร ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและกลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอาง
นายวินิจฉัยยังกล่าวอีกว่า แม้สมุนไพรไทยถูกนำมาใช้มากกว่า 1,800 ชนิด แต่สินค้าสมุนไพรไทยยังได้รับการรับรองมาตรฐานน้อยมากเพียงร้อยละ 4.47 หากมีการยกระดับการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีการสร้างแบรนด์ในระดับโลก จะทำให้สินค้ามีคุณภาพและขยับสู่ตลาดสากลได้ไม่ยาก
ด้านนางสุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ กำลังเร่งขับเคลื่อนนโยบายตามแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560 – 2564 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศและต่างประเทศ และยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าให้ดูแล เร่งพัฒนาสมุนไพรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร โดยมีพืชสมุนไพรเป้าหมาย 4 ชนิด ได้แก่ บัวบก ไพล กระชายดำ และขมิ้นชัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ อาหาร ยา และเครื่องสำอาง
สำหรับการยกระดับพืชสมุนไพรทั้ง 4 ชนิด สู่ผลิตภัณฑ์ Thailand’s Signature สนค. ได้วางแนวทางการส่งเสริมและระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย อาหาร ยา และเครื่องสำอาง แบ่งเป็นหมวดสินค้าและผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปประเภทต่างๆ ได้แก่ สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าประเภทโภชนเภสัช ผลิตภัณฑ์ประเภทเวชสำอาง ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบสมุนไพรทั้ง 4 ชนิดและอื่นๆ เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน
“ปัจจุบันความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงความต้องการในการบริโภคเพื่อสร้างเสริมและดูแลสุขภาพ อีกทั้งความต้องการในการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสมุนไพรต่างๆเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและสร้างความหลากหลายในการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ส่งผลให้สมุนไพรถูกนำไปใช้ในอุตสากรรมหลายประเภทและสมุนไพรบางรายการก็เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและผู้ผลิตเป็นอย่างสูงและสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ”
นายวินิจฉัย กล่าวเสริมว่า ตามแผนแม่บทแห่งชาติฯ มุ่งจะสร้างมูลค่าสินค้าสมุนไพรภายในประเทศจากเดิมมีมูลค่า 1.88 แสนล้านบาท ให้เป็น 2 เท่าหรือ 3.6 แสนล้านบาทภายใน 4 ปี กระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางด้านข้อมูลตลาด ส่งเสริมการค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ สร้างแบรนด์ระดับโลก และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งสร้างช่องทางจำหน่ายทั้ง offline และ online ตลอดจนเชื่อมโยงการค้าจากเกษตรกรใน 4 จังหวัดนำร่องให้เข้าสู่ห่วงโซ่การส่งออก ได้แก่ เชียงราย สกลนคร ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี และจะเพิ่มอีก 9 จังหวัดรวมเป็น 13 จังหวัดในปี 2561
“หวังว่างาน Thai Herb InnoBiz Network 2017 จะเป็นเวทีในการพบปะหารือและสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ร่วมกัน จะเป็นก้าวสำคัญร่วมกันในการส่งเสริมการค้าสินค้าสมุนไพรของไทยให้ก้าวสู่ตลาดโลก อันจะช่วยยกระดับภาคเกษตรไปสู่ยุคสร้างสรรค์มูลค่า รวมทั้งพัฒนาโอกาสให้เกษตรรายย่อยได้เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น ผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจยุค 4.0 ได้อย่างทั่วถึงในที่สุด”