เปิดฉากแล้วThai Tech EXPO 2017
โชว์ศักยภาพผลงานฝีมือคนไทย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดฉากยิ่งใหญ่งาน “Thai Tech EXPO 2017” ที่รวม 3 งานใหญ่มาไว้ในงานเดียว ทั้งThailand Tech Show 2017, TechoMart และ NSTDA Investors’Day ระดมผลงานวิจัยมากกว่า 700 ผลงาน โชว์ศักยภาพผลงานฝีมือคนไทย รองรับการพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 พร้อมให้กลุ่มผู้ประกอบการ ผู้สนใจทำธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้เลยในสนนราคาแสนถูก เพียง 30,000 บาทต่อชิ้นงาน คาดมีผู้นักธุรกิจสนใจเข้าชมงานหลักหมื่นราย ระหว่างวันที่ 20 – 24 กันยายน 2560 ณ ฮอลล์ 105-106 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน “Thai Tech Expo 2017” ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด : “เทคโนโลยีไทย…ก้าวไกลสู่ไทยแลนด์ 4.0” โดยดร.อรรชกากล่าวว่า งานนี้รวมงานใหญ่ประจำปี 3 งาน คืองาน Thailand Tech Show 2017, Thailand 4.0 Technology Cluster แสดงผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จำนวน 6 คลัสเตอร์ และ TechoMart เพื่อนำเสนอผลงานโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) รวมถึงบริการต่างๆภายในสังกัดกระทรวงฯ ซึ่งการจัดงานมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” รวมทั้งเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของคนไทย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนโจทย์ในการวิจัย เพื่อนำมาพัฒนาประเทศและต่อยอดการค้าในเชิงพาณิชย์
ในโอกาสเดียวกันนี้รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯยังได้มอบรางวัลโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2560 จำนวน 6รางวัล และรางวัลโครงการประกวดเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลยอดเยี่ยม ประจำปี 2560 จำนวน 11 รางวัล ประกอบด้วย สาขาการเกษตรและเกษตรแปรรูป สาขาการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม สาขาพลังงาน สิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิต และ รางวัลสุดยอดเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลยอดเยี่ยม
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 4 โซนหลัก ได้แก่ โซน TechnoMart ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” นำเสนอพระอัจฉริยภาพด้านเทคโนโลยีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และรางวัลเกียรติยศที่พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายจากนานาประเทศ
มีการจัดนิทรรศการเทคโนโลยีชุมชน : หมู่บ้านนวัตกรรม (Inno-Village) จำนวน 20 หมู่บ้าน การจัดนิทรรศการเทคโนโลยีเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และสิ่งประดิษฐ์ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในเชิงเศรษฐกิจสู่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนทำให้สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีภายในประเทศได้ในระยะยาว
โซน Thailand 4.0 Technology Cluster แสดงผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จำนวน 6 คลัสเตอร์ ได้แก่ (1) กลุ่มเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Technology) เช่น การแสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านอาหารของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร การแสดงผลงานโครงการ Future Food Lab และ การประกวด Food Innopolis Innovation Contest (2) เทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) นำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีของ Medical Technology ที่จดทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว สามารถนำขายสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ เช่น สมุนไพร ชุดตรวจโรค อาหารเสริม ยา หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (3) เทคโนโลยีแห่งอนาคต (Future Technology) เป็นการจัดแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในปัจจุบันที่จะส่งผลให้เกิดทิศทางการให้บริการการใช้งาน และคุณประโยชน์ในอนาคต ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เช่น การพัฒนาย่านนวัตกรรม วัสดุวิศวกรรมนาโน อากาศยานไร้คนขับ
(4) โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) ประกอบด้วยความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ และบทบาทหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง (5) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่มีอยู่ในประเทศและของเหลือใช้จากการเกษตรมาประยุกต์ใช้ในเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และ (6) นิทรรศการคูปองวิทย์เพื่อโอทอป (STI for OTOP) ที่นำเสนอผลงานการพัฒนาสินค้า OTOP ด้วย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ OTOP Life Style (ห้องครัว ห้องรับแขก ห้องแต่งตัว) พร้อมตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม NSTDA Investor Day แสดงผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรที่ได้รับคัดเลือกว่ามีศักยภาพสูงในการลงทุนผลิตสินค้าและบริการ และเปิดเวทีให้นักลงทุนหรือผู้สนใจได้มีโอกาสเลือกซื้อผลงานวิจัยและเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อไปลงทุนหรือสร้างมูลเพิ่มให้กับธุรกิจต่อไปได้
รัฐมนตรีว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯยังกล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 5 วัน ของการจัดงาน ยังมีการประชุม เสวนาทางวิชาการ การฝึกอบรมสาธิตเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างอาชีพ การบริการให้คำปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการเจรจาธุรกิจ (Business Matching/Pitching) ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งหวังว่าการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้คนไทย เกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้น พัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ เพื่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่ Thailand 4.0 และเป็นเวทีการค้าให้กับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนได้เข้ามาเลือกซื้อสินค้าผลงานวิจัยและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมไทยต่อไป
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ คือ โซน Thailand Tech Show ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “อินโนฟิวชั่น : เสริมพลังธุรกิจด้วยวิทย์และเทคโนโลยี (INNO –FUSION : Power Up Business with STI) เป็นการจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและเทคโนโลยีจาก สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรจากทั่วประเทศ กว่า 350 ผลงาน โดยนำเสนอในรูปแบบตลาดเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่าย ผู้ซื้อพบผู้ขาย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงภาคเอกชนให้สามารถเข้าถึงและนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่พัฒนาจากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยออกสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นับเป็นโอกาสของนักลงทุน ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป เพราะสามารถขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและจำหน่าย โดยจะได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยในรูปแบบไม่สงวนสิทธิ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มราคา ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เทคโนโลยีต่อรองราคา (หรือไม่กำหนดราคา) ซึ่งผู้สนใจสามารถเจรจาและตกลงกับหน่วยงานเจ้าของผลงานวิจัยได้โดยตรง เพื่อเป็นค่าเปิดเผยเทคโนโลยีและค่าตอบแทนการอนุญาตให้ใช้สิทธิ
ส่วนกลุ่มที่ 2 เทคโนโลยี เทคโนโลยีราคาเดียว ซึ่งเสียค่าเปิดเผยเทคโนโลยีจำนวน 30,000 บาท เท่านั้น ต่อ 1 ผลงานวิจัยและมีค่าตอบแทนการใช้สิทธิอัตรา 2% ของยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผลงานวิจัย โดยชำระปีละ 1 ครั้ง และสามารถนำค่าธรรมเนียมเข้าโครงการ (30,000) มาหักลดได้เลย
ตัวอย่างผลงานที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายในงานมีดังนี้
1.กลุ่มการแพทย์ มี 46 ผลงาน อาทิ แผ่นกรองนาโนสมบัติพิเศษทนทานทำความสะอาดได้ (n-Breeze) จากสวทช., ยานำมันสมานแผลเพื่อผูป่วยโรคเบาหวาน จากสวก., เครื่องช่วยพยุงเดินต้านแรงโน้มถ่วงแบบอัตโนมัติจาก มจธ.
2.กลุ่มเกษตร/ประมง จำนวน 67 ผลงาน อาทิ อุปกรณ์แปลงเพศปลานิลด้วยวิธีไฟฟ้า (Fish X-Change) จากมอ.และสวทช., นวัตกรรมเม็ดลูกดินสำหรับบำบัดขยะอินทรีย์หรือใช้เป็นวัสดุปลูก จากสกว., การจัดการการเลี้ยงปลานิลบนโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์จาก มก.
3.กลุ่มเครื่องมือ/เครื่องจักร จำนวน 97 ผลงาน อาทิ ระบบการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยสนามไฟฟาพัลส์(Dr. Pulse Pro) จากมทร.ล้านนาและสวทช. , อิฐประดับจากจุฬาฯ, สูตรผสมโครงจักรยานที่ประกอบด้วยไหมเรซิ่น จากมข.
4.กลุ่มเวชสำอาง/เวชภัณฑ์ จำนวน 77 ผลงาน อาทิ แผ่นแปะสำหรับออกฤทธิ์ไล่ยุงจากนาโนอิมัลชั่น ที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัส จากสวทช., ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและโลชั่นบำรุงผิวผสมสารสกัดมะหาด จากBEDO , ผลิตภัณฑ์เวชสำอางเฟบไทต์จากถั่วมะแฮะ จากวว.
5.กลุ่มสื่อการเรียน จำนวน 11 ผลงาน อาทิ หุ่นยนต์ BLISS ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กออทิสติก จาก มจธ. , ชุดทดลองการเคลื่อนที่ของวัตถุที่ตกแบบเสรีโดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม จากมทร.นครศรีธรรมราช
6.กลุ่มอาหาร/เครื่องดื่ม จำนวน 90 ผลงาน อาทิ การผลิตโยเกิร์ตผงโดยเทคนิคอบแห้งแช่เยือกแข็ง จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ , กรรมวิธีการผลิตของผสมล่วงหน้าสำหรับเป็นส่วนประกอบของอาหาร จาก ม.แม่โจ้, กระวนการทำผงเม็ดมะม่วงหิมพานต์ จากมรภ.อุตรดิตถ์
7.กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 25 ผลงาน อาทิ เทคโนโลยีแก๊สเซนเซอร์ต้นทุนต่ำและประหยัดพลังงาน (GASSET) จากสวทช. ,เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละออง จาก มช. , การสื่อสารระหว่างคนและคอมพิวเตอร์ เพื่อการประยุกต์ใช้งานในห้องผ่าตัดด้วยกล้อง 3 มิติจากมศว.
ทั้งนี้คาดว่าจะมีนักธุรกิจทั่วไป ตลอดจนสมาชิกสภาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเครือข่ายและประชาชน ผู้สนใจทั่วไป เข้าซื้อผลงานวิจัยนับหมื่นคน ซึ่งสามารถขอรับอนุญาตเพื่อใช้สิทธิสามารถยื่นความจำนงได้ตลอดเวลา ผ่านเวบไซต์ www.thailandtechshow.com ซึ่งหน่วยงานเจ้าของผลงานจะพิจารณาและประสานกับผู้สนใจโดยตรงต่อไป