“ซีพีเอฟ” มุ่งพัฒนา “นวัตกร”
สู่ “องค์กรนวัตกรรมระดับสากล”
ซีพีเอฟ ตอกย้ำความเป็นองค์กรนวัตกรรม เพื่อก้าวสู่ “องค์กรแห่งนวัตกรรมระดับสากล” เน้นปรับเปลี่ยนพัฒนาบุคลากรในเครือสู่ “นวัตกร” คุณภาพ กระตุ้นการแข่งขันภายในองค์กร สร้างสรรค์นวัตกรรมใช้ภายในเครือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลตต้นทุน การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ พร้อมสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าปี 61 เพิ่มนวัตกรบริษัทเป็น 1,000 คน เพื่อเป็นฐานสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต 4.0 และเพิ่มความสามารถการแข่งขันในเวทีโลกทุกด้าน โดยเฉพาะกระบวนการผลิตอัจฉริยะและผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ตัวอย่างนวัตกรรมเด่นอาทิ เครื่องนับลูกกุ้งแบบพกพา ที่ถือเป็นเจ้าแรกของโลก ระบบตรวจโรค PRRS จากน้ำลายสุกร และผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ ๆ อกไก่นุ่มสุขภาพที่มียอดขายสูงหลักพันล้านบาทต่อปี
นายวิโรจน์ คัมภีระ รองกรรมการผู้จัดการบริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะกรรมการนวัตกรรม เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร การก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญ ผู้ผลิตอาหารที่ประสบความสำเร็จต้องสามารถนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในกระบวนการพัฒนาประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิต ต่อยอดผลิตภัณฑ์ และกระบวนการปฏิบัติงานได้
“วงการอุตสาหกรรมยุคใหม่นั้นเน้นการแข่งขัน การเป็นเจ้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์การผลิตของตนและกลุ่มลูกค้าจะทำให้สนองตอบต่อความต้องการได้สูง นวัตกรรมจึงเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต พัฒนาองค์กรให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลตต้นทุน การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้สอดคล้องและตอบโจทย์เมกะเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม” นายวิโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ซีพีเอฟ ตั้งเป้าพัฒนาบุคลากรทุกหน่วยธุรกิจเป็นนวัตกรตามแนวทาง TRIZ อย่างต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้บริโภค ตลอดจนสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม และตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯมุ่งมั่นผลักดันให้องค์กรเกิดการคิด ปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งมองเห็นโอกาสในการแก้ปัญหา สามารถเปลี่ยนแปลงปัญหาเป็นผลงานหรือนวัตกรรมได้ คิดต่อยอดสิ่งใหม่ๆ สอดรับกับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟ
ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ สามารถนำผลงานนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นไปขอจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรแล้วประมาณ 133 สิทธิบัตร และตั้งเป้าว่าในปี 2563 (ปี 2020) จะมีผลงานนวัตกรรมขององค์กรได้รับการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรมากกว่า 500 เรื่อง
บริษัทตั้งเป้ายกระดับองค์กรไปสู่องค์กรแห่งนวัตกรรมระดับสากล โดยจะเร่งพัฒนาบุคลากรให้เป็นนวัตกรตามแนวทาง TRIZ ให้มีเพิ่มขึ้นถึง 1,000 คนภายในปี 2561 จากปัจจุบันที่ซีพีเอฟมีนวัตกรในองค์กรอยู่ 561 คน พร้อมทั้งผลักดันให้ทุกหน่วยงานของบริษัทผ่านการรับรองมาตรฐาน CEN16555 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ช่วยให้องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมได้อย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับการเติบโตขององค์กรให้สามารถดำเนินการภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และสามารถสร้างนวัตกรรมได้เป็นผลสำเร็จ
โดยในปี 2560 นี้ มีสถานประกอบการและหน่วยงานของซีพีเอฟ 6 แห่งที่สามารถผ่านการรับรองมาตรฐาน CEN16555 แล้ว ได้แก่ โรงงานอาหารสำเร็จรูป หนองจอก, โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก บางนา, โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ หนองแค, บริษัท ซีพี เมจิ, บริษัท เกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท เคเอสพี อุปกรณ์ จำกัด
เครื่องนับลูกกุ้ง
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังจัดกิจกรรมที่สร้างบรรยากาศและกระตุ้นให้พนักงานมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ งาน CPF CEO Awards เป็นเวทีมอบรางวัลให้กับบุคลากรเจ้าของผลงานและโครงการนวัตกรรม ที่ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องในปีนี้เป็นปีที่ 9 โดยในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ซีพีเอฟจะจัดงาน “CPF 3i Day” เป็นเวทีการพิจารณาคัดเลือกผลงานและโครงการนวัตนกรรม เพื่อหาผลงานนวัตกรรมที่จะได้รับรางวัล CFO CEO Awards ปี 2560 ที่จะประกาศในปลายปีนี้ โดยปีนี้ มีผลงานที่ผ่านการคัดกรองรอบแรกมานำเสนอในงาน CPF 3i Day ถึง 554 ผลงานด้วยกัน
ผลิตภัณฑ์อาหารสร้างสรรค์ใหม่ ๆ
ทั้งนี้ ซีพีเอฟวางแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมองค์กรเป็น 3 ลำดับ ได้แก่ ลำดับแรก “การสร้างวัฒนธรรมองค์กรนวัตกรรม” ผ่านการสร้างแรงจูงใจและบรรยากาศการพัฒนางาน จากการสนับสนุนของผู้บริหารในแต่ละสายธุรกิจ ผ่านการประกวดและแสดงผลงานนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ผ่านเวที CPF CEO Awards ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ลำดับที่สอง “ความร่วมมือของเครือข่ายทั้งภายในและภายนอก” จะทำให้คุณค่าของนวัตกรรมสูงขึ้นขณะที่ต้นทุนและเวลาในพัฒนาลดลง ซึ่งการผนึกกำลังของซีพีเอฟ ก่อให้เกิดพลังสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทำให้มีสินค้าดี มีประสิทธิภาพในการบริการสูงขึ้น
ลำดับสาม คือ “สร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น” ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ชุมชน และสังคม ทำให้เกิดการบูรณาการจากทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งฝ่ายผลิต ฝ่ายตลาด และอื่นๆ ซึ่งเหล่านี้จะนำพาซีพีเอฟไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน