ITAP-สวทช.-สภาหอการค้าฯ-พันธมิตร
หนุนผู้ประกอบการผัก-ผลไม้ยั่งยืน
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ลงนามความร่วมมือกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการดำเนินโครงการ “ยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน” สำหรับปีงบประมาณ 2560 – 2563 ยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร เตรียมพร้อมสู่ยุค “เกษตร 4.0” ที่เน้นใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน หนุนผู้ประกอบแข่งขันได้ หลุดพ้นจากความยากจน ปีนี้เน้นนำมาตรฐานความปลอดภัยผักผลไม้สู่ระดับจังหวัด พร้อมเปิดรับผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการและคิกออฟหัวข้อสัมมนาแรก “การพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืนด้วยนวัตกรรม 4.0” 9 พ.ย. 60 นี้ รับจำกัดเพียง 50 รายเท่านั้น
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอาหารและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำมาตรฐานภาคเอกชน มาตรฐาน ThaiGAP เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้มีความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิตและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ตลอดจนร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ไดแก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้และการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้ยกระดับการเกษตรของไทยให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
และเพื่อให้การดำเนินงานร่วมกันมีความต่อเนื่องสอดคล้องกับการดำเนินงานในปัจจุบันและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ สภาหอการค้าไทยในฐานะเจ้าของมาตรฐานได้ร่วมมือกับพันธมิตรต่อเนื่องอีก ในโอกาสนี้ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 2 ฉบับ 1. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย ระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันอาหาร 2. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือยกระดับผักและผลไม้ไทย: โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน ระหว่างสภาหอการค้าไทยและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)
นอกจากนี้สภาหอการค้าไทยยังร่วมมือกับ GISTDA จัดทำ “โครงการระบบตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรดวย QR Code” ที่ตรวจสอบย้อนกลับถึงแปลงผู้ผลิตได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค”
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน” ถือเป็นความร่วมมือต่อเนื่องระหว่างโปรแกรม ITAP สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยที่ผ่านมาตลอด 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ได้ช่วยพัฒนาระบบการผลิตผักและผลไม้ที่ปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการ 35 ราย โดยช่วยเพิ่มมูลค่าการขายไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการได้ให้คะแนนประเมินความพึงพอใจในการดำเนินโครงการฯ ค่าเฉลี่ยร้อยละ 85 ทำให้ผู้ประกอบการสามารถประกันคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
“ในโครงการ 3 ปีที่ผ่านมาได้เชิญชวนและให้ความมั่นใจค่อนข้างมากในการที่จะเริ่มโครงการและดึงผู้ประกอบการเข้ามา ทางสภาหอการค้าถือเป็นกำลังสำคัญ ช่วยมองเรื่องตลาดว่า ทำอย่างไรจึงจะขายได้ ส่วนกระทรวงวิทย์ฯเข้าไปช่วยโดยนำกลไก ITAP ที่มีกระบวนการที่เข้าไปช่วยเหลือเอกชน ในรูปแบบของการสัมมนา การให้คำปรึกษากระบวนการของบริษัท เพื่อให้ทำได้สำเร็จจริง เข้าไปสนับสนุนซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา มีผลสำเร็จที่เห็นชัดขึ้น มีผู้ที่ทำประสบความสำเร็จทำแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น มีตลาดที่ใหญ่ขึ้น ก็เป็นตัวอย่างให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆที่จะเดินเข้ามา พร้อมที่จะลงทุน เพื่อจะยกระดับไปด้วยกัน เพื่อสร้างภาพของสินค้าเกษตรไทยให้มีคุณภาพในอนาคต ”
สำหรับประเด็นมุ่งเน้นสำคัญของ “โครงการยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน” ในระยะ3ปีข้างหน้า คือ จะช่วยสนับสนุนในด้านมาตรฐาน ThaiGAP, GLOBALG.A.P.(ส่งออกต่างประเทศ) และเกษตรอินทรีย์ รวมถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยุค “เกษตร 4.0” เพื่อเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน โดยมีกิจกรรมตลอด 3 ปีข้างหน้า อาทิ การจัดสัมมนาถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เช่น หัวข้อ Smart farmer เกษตรอินทรีย์ และ ThaiGAP เป็นต้น การจัดสัมมนาเพื่อเป็นที่ปรึกษาเกษตรกร การวินิจฉัยปัญหาและความต้องการเบื้องต้นโดยผู้เชี่ยวชาญ การเข้าให้คำปรึกษาแก่บริษัทโดยผู้เชี่ยวชาญ การนำเสนอผลงานในงาน THAIFEX ณ อิมแพค เมืองทองธานี 3 ครั้ง (ปี 2561 – 2563) และการเสาะหาเทคโนโลยี ณ ต่างประเทศ 2 ครั้ง (ประเทศจีนและญี่ปุ่น)
” ตอนนี้มีผู้ประกอบการกลุ่มหนึ่งที่ได้ ThaiGAP แล้วขั้นพื้นฐานแล้ว เราจะพัฒนาเขาต่อด้วยการพาดูตลาดมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า จะผลิตทันกับตลาดที่ใหญ่ขึ้น ได้หรือไม่เพราะเป็นเกษตรกรรมที่ยังใช้แรงงานอยู่พอสมควร ทางกระทรวงวิทย์พยายามจะนำเทคเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิต ช่วยคุมคุณภาพ ทำให้ผลิตได้มากขึ้น เพื่อให้ควบคุมคุณภาพได้มากขึ้น มีของเสียน้อยลงและผลิตได้เร็วขึ้น เพื่อให้ตอบสนองต่อตลาดที่ใหญ่ขึ้นได้
ขณะเดียวกันเรายังรับผู้ที่มีความสนใจจะทำThaiGAP เพิ่มและจะสร้างเทรนเนอร์หรือพี่เลี้ยงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ ทุกภูมิภาค เพื่อให้ยกระดับพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่เฉพาะในบางจังหวัดเท่านั้น”
รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวอีกว่า โครงการครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการผู้เชี่ยวชาญทั้งใน สวทช. เช่น สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร, MTEC, NECTEC และพันธมิตรภายนอกของ สวทช. เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสถาบันการศึกษาดังกล่าวข้างต้น มีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งสิ้น
นายชูศักดิ์กล่าวเสริมว่า สภาหอการค้าไทยมีหน้าที่ดูแลด้านการตลาด เรามีการคุยกับห้าง ทั้งแมคโคร ท็อป เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี นอกจากนี้ยังมีฟู้ดแลนด์ แม็กซ์แวลูและ วิลล่า เพราะเขาต้องการสินค้าคุณภาพ มีความปลอดภัย ให้ผู้บริโภคและลูกค้าของเขา ต้องขอบคุณสวทช.ที่สนับสนุน ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา ทำงานกันหนัก พยายามผลักดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการได้เข้าใจว่า การผลักดันให้มีคุณภาพมาตรฐานไม่ใช่เรื่องที่ยากอย่างที่คุณคิด เพียงแต่ให้เข้าใจขั้นตอนเท่านั้นเอง เรามีการเทรนด์ เทรนเนอร์ ในพื้นที่กัน
ในปีนี้และปีหน้าเป็นนโยบายของหอการค้าไทยที่จะผลักดันทุกจังหวัดให้มีเรื่องของระบบมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะเรื่องของผักผลไม้เป็นหลัก
โดยหอการค้าจังหวัดต่าง ๆ จะนำมาตรฐานนี้ไปใช้กัน จะเป็นการสร้างเครือข่ายให้กับสวทช. โดยทีมงานที่สวทช.ไปสร้างเอาไว้เรื่องของเทรนด์เดอะเทรนเนอร์ อาจารย์ในพื้นที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้เขา ในระดับจังหวัดจะใช้ primary ThaiGAP เป็นขั้นพื้นฐาน ให้สินค้าในจังหวัดปลอดภัย นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือด้วย เพื่อให้ตามโรงพยาบาล โรงเรียน ควรจะมีอาหารปลอดภัยให้เขาด้วย โชคดีที่หอการค้าจังหวัดตื่นตัวกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ผลลัพธ์ของการทำให้จังหวัดมีอาหารปลอดภัย และยังมีผลต่อด้านท่องเที่ยวด้วย เพราะนักท่องเที่ยวที่ไปจังหวัดต่าง ๆ เขาอยากได้รับอะไรที่เป็นหลักประกันการท่องเที่ยวของเขา ตรงนี้จะเป็นการเสริม และหากทุกฝ่ายร่วมมือกันจะส่งผลดีให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจนมีโอกาสสูงมาก แต่ต้องหาคนที่เล่นได้ก่อน ถ้าทำได้ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นผู้นำของอาหารปลอดภัยได้
ทั้งนี้ภายในงานครั้งนี้มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาจนได้มาตรฐาน ThaiGAP และผู้สนใจจะเข้าร่วมพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ของตนเองนำผลผลิตทางการเกษตรมาโชว์หลายรายด้วยกัน โดยมีกลุ่มอินทผลัมภาคตะวันตก(Western Date Palm -WDP) จากจังหวัดกาญจนบุรี มาร่วมแสดงผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอินทผลัมด้วยเช่นกันและกำลังเตรียมตัวจะเข้าร่วมโครงการThaiGAP เพื่อสร้างมาตรฐานการยอมรับแก่ผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำออกสู่ตลาดได้กว้างขึ้น ซึ่งเล็งนำผลผลิตขายในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเริ่มสำรวจตลาดที่กัมพูชา เวียดนามและอินโดนีเซีย
ผู้ประกอบการผักและผลไม้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “ยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน” เพื่อรับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP สวทช. สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่คุณพนิตา ศรีประย่า หัวหน้าโครงการฯ โทร. 0 25647000 ต่อ 1301 หรือ panita@nstda.or.th
สำหรับผู้สนใจ ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อ “การพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืนด้วยนวัตกรรม 4.0” ที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2560 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 9 สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ สำรองที่นั่งหรือสอบถามเพิ่มเติม ตามเบอร์โทรศัพท์และอีเมลข้างต้น ภายในวันที่ 1 พ.ย. 60 นี้เท่านั้น (รับจำนวนจำกัด 50 ราย)