วช.นำงานวิจัยแข่งไต้หวัน-โปแลนด์
‘VIP-Safe Plus’ รั้งPlatinum Award
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โชว์ความสำเร็จ “การนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไทยร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีนานาชาติ” ที่ไต้หวันและโปแลนด์ โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมมอบประกาศนียบัตรแก่นักวิจัย และนักประดิษฐ์ ปลื้มผลงาน “VIP-Safe Plus” ชุดตรวจแลมป์เคมีไฟฟ้าแบบรวดเร็วขนาดพกพา ของไบโอเทคคว้า Platinum Award จากเวทีไต้หวัน เป็นอุปกรณ์ใช้ตรวจสอบโรคในอาหารเหมาะใช้ในอุตสาหกรรมแช่แข็ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายการตรวจให้ถูกลงและสะดวกรวดเร็วกว่าเดิม ตรวจได้ภายใน 5 ชั่วโมงจาก 1-2 วัน ด้านผลงาน “อุปกรณ์ซ่อมสายไฟฟ้าแรงสูง โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้า” ของกฟผ.คว้า Platinum Award จากเวทีโปแลนด์
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทย โดย วช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยไทยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพ เข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมาวช. ได้นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยไปคว้ารางวัลเกียรติยศจากสองประเทศ ได้แก่ ในงาน “13th Taipei international Invention Show & Technomart” (INST 2017) ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๓๐ กันยายน ๒๕๖๐ ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน โดยการสนับสนุนจาก The Taiwan External Trade Development Council (TAITRA) ของรัฐบาลไต้หวัน
ภายในงานมีนักวิจัยจากทั่วโลกนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงมากกว่า ๑,๐๐๐ ผลงาน มีนานาชาติเข้าร่วม ๑๙ ประเทศ ในงานนี้ วช. ได้นำนักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวด จำนวน ๔๖ ผลงาน จาก ๑๙ หน่วยงาน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิยาลัยราชภัฏยะลา วิทยาลัยเทคนิคสุราษฏร์ธานี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ทั้งนี้ผลงานนักวิจัยไทยสามารถคว้ารางวัล “Platinum Award” จากผลงานเรื่อง “VIP-Safe Plus” ชุดตรวจแลมป์เคมีไฟฟ้าแบบรวดเร็วขนาดพกพา ผลงานของ ดร. วรรณสิกา เกียรติปฐมชัยและคณะ แห่งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (Biotec) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่มอบให้กับผลงานของนักประดิษฐ์ไทย เพียงประเทศเดียวจาก ๒๓ รางวัล ส่วนอีก ๒๒ รางวัล มอบให้กับนักประดิษฐ์จากประเทศไต้หวัน
ดร. วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย เปิดเผยว่า “VIP-Safe Plus” ชุดตรวจแลมป์เคมีไฟฟ้าแบบรวดเร็วขนาดพกพา เป็นอุปกรณ์สำหรับตรวจเชื้อก่อโรคในอาหาร ซึ่งได้ทำการวิจัยมาเป็นเวลา 2 ปี สามารถตรวจพบเชื้อตรวจอหิวาต์ อหิวาต์เทียมและอีโคไลซึ่งทั้งหมดเป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษ สามารถตรวจพบได้ในเวลารวดเร็ว จากเดิมต้องส่งตรวจห้องแล็ป 1-2 วันจึงจะรู้ผล แต่อุปกรณ์ชุดนี้สามารถรู้ผลเร็วภายใน 5 ชั่วโมง เหมาะสำหรับบริษัทในอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งและธุรกิจอาหารเพื่อส่งออก
“นอกจากตรวจพบเชื้อได้เร็วแล้ว ยังมีขนาดเล็กย่อส่วนจากเครื่องขนาดใหญ่ พกพาไปใช้งานได้สะดวก อีกทั้งมีราคาถูกกว่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจ ด้วยมีสนนราคาเพียง 5,000 บาทเปรียบเทียบกับอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีราคาประมาณ 500,000 บาท ซึ่งอุปกรณ์ 1 ชุดสามารถใช้งานได้นับหมื่นครั้ง ซึ่งเวลานี้มีผู้ประกอบการให้ความสนใจบ้างแล้ว”
นอกจากนี้นักวิจัย นักประดิษฐ์ไทย ยังได้รับรางวัลสำคัญ ๆในการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติในครั้งนี้อีกหลายรางวัล ประกอบด้วย รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จำนวน ๙ รางวัล รางวัลเหรียญเงิน จำนวน ๑๑ รางวัล รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน ๑๓ รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่าง ๆ จำนวน ๑๖ รางวัล
สำหรับในเวที “11th International Warsaw Invention Show ” (IWIS 2017) ระหว่าง วันที่ ๙ – ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ ณ กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์ วช.ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เข้าร่วมประกวดและนำเสนอผลงานจำนวน ๑๙ ผลงาน จาก ๗ หน่วยงาน เวทีนี้นักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทย สามารถคว้ารางวัล “Platinum Award” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงานจากผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ซ่อมสายไฟฟ้าแรงสูง โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้า” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ขณะเดียวกันมีผลงานของนักวิจัย และนักประดิษฐ์ไทยได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จำนวน ๓ ผลงาน รางวัลเหรียญทองจำนวน ๔ ผลงาน เหรียญเงิน จำนวน ๘ ผลงาน และ เหรียญทองแดง จำนวน ๓ ผลงาน และรางวัล Special Prize จากประเทศต่าง ๆ กว่า ๑๐ ผลงาน โดยมีประเทศที่เข้าร่วมนำเสนอผลงาน ๓๒ ประเทศ มากกว่า ๔๐๐ ผลงาน
ทั้งนี้ผลงานวิจัย และผลงานประดิษฐ์ ที่ได้รับรางวัลจากนานาชาติ จะนำไปจัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี ๒๕๖๑ ระหว่างวันที่ ๒ – ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา