ทีม No.one Studio คว้าชนะเลิศ
จาก19ทีมแข่งคลิป ‘ลดสปีดบนถนน’
ในการประกวดคลิปวิดีโอ โครงการ “Drive DD United” ของธนชาตประกันภัย แต่ละ season นอกเหนือจากการประชันผลงานในรอบตัดสิน ไฮไลต์หนึ่งของกิจกรรมครั้งนี้ คือ ช่วงที่ทีมนักศึกษาซึ่งผ่านเข้ารอบจะได้รับฟังประสบการณ์จากผู้กำกับฯ และครีเอทีฟมือฉมังของเมืองไทยเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาผลงานเข้าสู่รอบชิง
ปีนี้การประกวดจัดขึ้นเป็น season 3 หัวข้อ “คิดเพื่อจิตสำนึก สร้างสรรค์เพื่อรักษาทุกชีวิต ให้ลดสปีดบนถนน” มีนักศึกษาส่งคลิปเข้าร่วมกว่า 300 คลิป เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า โดยมีทีมผ่านเข้ารอบ 19 ทีมซึ่งมีโอกาสเข้ารับการถ่ายทอดวิทยายุทธจาก 4 วิทยากรดังอย่าง นางสาวมุกพิม อนันตชัย จากYouTube ประเทศไทย นายอนุวรรต นิติภานนท์ นักโฆษณาและผู้บริหารด้านครีเอทีฟจาก BBDO นายฐิติพงศ์ เกิดทองทวี ผู้กำกับฯ มือทองแห่ง Hello Filmmaker และ นายชลสิทธิ์ อุปนิกขิต นักตัดต่อหนังมือรางวัลจาก The Film Editor ผลงานล่าสุดคือภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง
วิทยากรแต่ละคนนำเทคนิคความรู้เฉพาะตัวมาตีแผ่อย่างเข้มข้นตลอด 1 วันเต็ม เน้นให้วิเคราะห์โจทย์และทำความเข้าใจคนดูเพื่อพัฒนาผลงานให้มีพลังในการสื่อสาร เช่น มุกพิม ชี้ให้เห็นความน่าสนใจของชาแนลในยูทูบซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่นิยมมากในปัจจุบัน
ขณะที่ ฐิติพงศ์ นำผลงานหนังสั้นและมิวสิควิดีโอมาฉายเป็นตัวอย่างหลายเรื่องพร้อมให้มุมมองจากคนทำหนังว่า ทุกเรื่องในโลกนี้ล้วนมีคนเล่ามาหมดแล้วตั้งแต่มด 1 ตัวไปจนเรื่องนามธรรมอย่างจิตใจ หรือสภาวะอารมณ์ แต่ก็ยังมีหนังใหม่ๆ ที่ใช้พล็อตเรื่องเดิมออกมาแต่กลับน่าสนใจ สิ่งที่สร้างความแตกต่างคือ วิธีเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สร้างสรรค์ต้องคิด ทดลองและค้นหาให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่
นัท-ธนธร วาสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 และ บาส-ฐากูล พรมจันทร์ กับ เจมส์-ภัทรพล สุพรประดิษฐ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากทีม White Shoes Production ซึ่งส่งผลงานเข้าประกวดเป็นปีที่ 2 เพราะประทับใจที่ได้เรียนรู้วิธีคิด และการทำงานจากมืออาชีพ เล่าหลังฟังบรรยายเรื่องยูทูบว่า เป็นช่องทางที่น่าสนใจ เราเผยแพร่ผลงานในนั้นได้ ขณะเดียวกันก็เรียนรู้จากที่นั่นได้ว่าโลกไปถึงไหน คนดูกลุ่มไหนชอบอะไร
ส่วนคลิปของกลุ่มตนที่เข้ารอบชื่อ กี่วันถึง? มาจากแนวคิดที่คนจำนวนมากเวลาขับรถไปไหนมักคิดแต่จะไปให้ถึงเร็วๆ โดยใช้ สปีดมากๆ แต่ลืมว่าพอเร็วแล้วก็เสี่ยงอันตราย โดยนอกจากจะเกิดอันตรายกับตัวเอง ยังอาจทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วย แทนที่จะถึงเร็ว บางทีอาจไปไม่ถึงเลย
นัทกล่าวว่า “ปีนี้พวกผมเตรียมตัวดีขึ้น มีการวางแผนและแตกประเด็นมากขึ้นเพื่อให้ผลงานเข้าใจง่าย และน่าสนใจ พวกผมเป็นนักล่ารางวัล ชอบส่งงานประกวด เพราะการแข่งขันแต่ละครั้งคือการท้าทายตัวเองและได้เก็บประสบการณ์ไปใช้กับการทำงานในอนาคต”
ด้าน ทีม FMN1669 ซึ่งมาไกลจากพะเยา สมาชิกคือ ฟลุ๊ค-ธนโชติ อินต๊ะวิชา มด-อาคิรา ศรีสังคม และ หนุ่ม-ธนัท ศักดิ์เพ็ญศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เจ้าของคลิปชื่อ “บิด” ซึ่งมาร่วมเวิร์คช็อป 2 คน คือฟลุคและมด เล่าว่า ผลงานที่ส่งเป็นงานที่ใช้ส่งอาจารย์ในภาควิชา ถ้าใครผ่านเข้ารอบ อาจารย์จะให้คะแนนเต็ม ทุกคนเลยตั้งใจกันเป็นพิเศษ ก่อนเล่าว่า คลิปนี้มีแนวคิดว่า การลดสปีดจะยิ่งลดความเสี่ยงได้ โดยพวกตนเลือกใช้หน้าปัดรถยนต์เป็นตัวแทนสื่อถึงเรื่องดังกล่าวซึ่งหลังจากได้ความรู้จากวิทยากรไปแล้วคงต้องไประดมสมองกันว่าจะพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นต่อไปได้อย่างไร
ขณะที่ ทีม Submit เป็นอีกทีมจากคณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา สมาชิกคือ ณัฐพล อยู่พันธ์, ศรัญย์ คำงาม และ ปราม-ภาณุพงศ์ สิงห์ทอง ทั้งสามอายุ 19 ปีเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 โดยหนุ่มปรามลุยเดี่ยวมาร่วมกิจกรรมที่กรุงเทพฯ พูดถึงคลิปชื่อ อนาคตในมือคุณ ซึ่งเล่าเรื่องผ่านรถไขลาน และโดมิโนว่า เมื่อไขลานมาก ความเร็วยิ่งมาก ความเสี่ยงก็ยิ่งมาก ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะไขลานแบบไหน ก็เหมือนการขับรถ ขับเร็วมากก็ต้องเผชิญความเสี่ยงมาก ความเสียหายก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย เหมือนภาพของโดมิโนที่ล้มระเนระนาดที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความเสียหาย
นายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์วี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นักศึกษาทั้ง 19 ทีมที่ผ่านด่านการถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรแล้วจะได้รับทุนสนับสนุนทีมละ 10,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาผลงานส่งเข้าชิงชัยรอบตัดสิน เพื่อชิงทุนการศึกษา 100,000 บาท พร้อมรางวัลพิเศษประเภทสร้างสรรค์ ที่ธนชาตจะส่งคลิปพร้อมผลงานไปประกวดและดูเวทีโฆษณาที่เก๋าที่สุดแห่งเอเชีย-แปซิฟิค ADFEST 2018 มูลค่ารางวัลรวมกว่า 200,000 บาท
ในที่สุดผลการประกาศผลการประลองครั้งสุดท้ายออกมาแล้ว ปรากฎว่า ทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศไปครองได้แก่ ทีม No.one Studio ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทคลิปวิดีโอด้านงานสร้างสรรค์ (Creativity)ได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท พร้อมรางวัลพิเศษ คือการได้นำผลงานที่ชนะเลิศส่งเข้าประกวดในเวทีASIA PACIFIC ADVERTISING FESTIVAL 2018 (ADFEST 2018)พร้อมเข้าร่วมศึกษาดูงานมหกรรมโฆษณาแห่งเอเชียแปซิฟิก (ADFEST 2018) รวมมูลค่า 100,000 บาท
ส่วนทีม 555 555 ได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับที่ 1 รับทุนการศึกษา 30,000 บาท และทีม งานเฉพาะกิจรางวัล รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท
ด้านส่วนทีม ฮาโตริ โกเดโฉ คว้ารางวัลประเภทคลิปวิดีโอที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ชม (Popularity) ได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษา 10,000 บาท