“PRINC” รุกธุรกิจ Healthcare
ซื้อAMA เข้าบริหาร4รพ.ในเครือ
พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC เพิ่มไลน์ธุรกิจ “Healthcare” หลังเล็งเห็นโอกาสธุรกิจเฮลธ์แคร์ยังไปได้อีกไกล โดยเฉพาะตลาดรพ.เอกชน ที่สามารถสร้างรายได้เหนือกว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า ล่าสุดที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติให้เข้าซื้อกิจการ อลิอันซ์ เมดิคอล เอเชีย (AMA) มูลค่า 2,000 ล้านบาท พร้อมตั้งทีมงานคุณภาพเข้าบริหารและปรับปรุง 4 โรงพยาบาลในเครือ ชูคอนเซ็ปต์ มีคุณภาพ ปลอดภัย บริการดี เร็ว อบอุ่นและราคาสมเหตุสมผล เข้าถึงได้ง่าย ด้วยค่าใช้จ่ายเพียง 70-80% ของรพ.เอกชนชั้นนำ คาดใน 5 ปีหนุนยอดรายได้รวมบริษัทโตจาก 2,000 ล้านบ. เป็น 4,000 ล้านบ.ได้
นายแพทย์สุนทร ศรีทา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Healthcare พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC เปิดเผยว่า บริษัทพรินซิเพิล ฯ เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยในระดับแนวหน้า และยังมีธุรกิจหลากหลาย เช่น ธุรกิจให้บริการติดตั้งระบบสารสนเทศ ธุรกิจการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพารายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้บริษัทได้เข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อลิอันซ์ เมดิคอล เอเชีย จำกัด (Alliance Medical Asia Co., Ltd. – AMA) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังใน 3 จังหวัดบริเวณภาคกลางตอนบน ได้แก่ โรงพยาบาลพิษณุเวช มีจุดเด่นทางด้านการเป็นศูนย์รังสีที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงและให้บริการรักษาอย่างครบถ้วน,
โรงพยาบาลปากน้ำโพ 1 และ โรงพยาบาลปากน้ำโพ 2 มีจุดเด่นคือ การเป็นต้นแบบของโรงพยาบาลที่ใช้ระบบไอทีหรือเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ ระบบ Smart System และได้รับการรับรองมาตรฐาน HIMSS Analytics EMRAM Stage 6 เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานระดับสูงในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับบริการดูแลผู้ป่วย เทียบชั้นกลุ่มโรงพยาบาลชั้นนำของโลก และ โรงพยาบาลสหเวชพิจิตร ที่ให้บริการดีเยี่ยมจนมี Market Share สูงถึง 55 % พร้อมทั้งรับจ้างบริหารโรงพยาบาลอีก 1 แห่งในกรุงเทพมหานคร โดยทางทีมงานของพรินซิเพิลได้เข้าบริหารและปรับปรุงกิจการ คุณภาพบริการให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ทาง PRINC ได้เข้ามาพัฒนาศักยภาพทั้งทางด้านการเงิน และการรักษาพยาบาลของแต่ละโรงพยาบาล รวมทั้งยังได้วางแผนในการทำ Shared Services สำหรับโรงพยาบาล เพื่อบริหารงานจัดซื้อ งานบริหารคลัง งานระบบบัญชี และระบบบริหารทรัพยากรบุคคลในรูปแบบใหม่ พร้อมนำ Cloud Technology มาใช้เพื่อช่วยการบริหารจัดการรูปแบบของโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่าย (Network Hospital Management) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และรองรับการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลในเครือในอนาคต โดยชูจุดแข็ง คือ การเป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพและปลอดภัย ได้มาตรฐานระดับสากล มีการให้บริการที่รวดเร็วและดีเยี่ยม และมีราคาที่สมเหตุสมผล โดยราคาจะเป็นเพียง 70-80% ของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดโรงพยาบาลเพิ่มอีก 1 แห่งที่จ.อุตรดิตถ์ในปี 2561
นายแพทย์สุนทร กล่าวว่า การเข้าซื้อธุรกิจด้านเฮลธ์แคร์ เนื่องจากเล็งเห็นโฮกาสจากธุรกิจด้านนี้ โดยจากผลวิจัยของศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยาและศูนย์วิจัยธนาคารออมสินถึงแนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี 2561 พบว่า ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมาเติบโตค่อนข้างดี โดยอัตราการขยายตัวของรายได้สูงกว่าอัตราการขยายตัวของ GDP และมีขยายตัวตัวอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของตลาดผู้ป่วยในประเทศและผู้ป่วยต่างชาติ
“มีการวิเคราะห์กันว่า ตลาดเฮลธ์แคร์เอกชนจะเติบโตประมาณ 3 เท่าตัวภายใน 20 ปี จากมูลค่าตลาดรวม 2 แสนล้านบาทเพิ่มเป็น 6 แสนล้านบาท”
นอกจากนี้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลางที่มีอำนาจการซื้อสูง อัตราการใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลผ่านโรงพยาบาลเอกชนของคนไทยต่อ GDP ที่อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่น ๆ จะเป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน
ขณะเดียวกันการมีประชากรสูงอายุที่ต้องการการดูแลและรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ในระยะยาวสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) จะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและเทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น จากสัดส่วนผู้สูงอายุ วัย 65 ปีขึ้นไป ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประชากรอายุมากกว่า 65 ปี ที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จะมีความต้องการด้านบริการด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นกุล่มที่มีอัตราของการเจ็บป่วยสูงและเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ จึงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จำนวนผู้สูงวัยอายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มมากขึ้นจาก 3.1 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 10.3 ล้านคน ในปี 2562
นายแพทย์สุนทร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยต่อมาคือ การขยายตัวของชุมชนเมือง จากข้อมูลของสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่า ระบบความเป็นเมืองของไทยจะขยายตัวจาก 35.6 % ในปี 2558 เป็น 40.7 % ในปี 2568 สะท้อนว่า ความเป็นเมืองที่เจริญและกระจายตัวกว้างขึ้น จะเป็นโอกาสในการขยายการให้บริการทางการแพทย์มากขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดที่จะเร่งตัวขึ้นในอนาคต เมื่อเทียบกับความต้องการใช้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ค่อนข้างอิ่มตัว
ทางด้านอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงของคนไทยมีมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยและการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปอดบวม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทยและประเทศอาเซียนอื่น ๆ โดยการบริโภคน้ำตาลที่สูงสุดในอาเซียน ทำให้คาดว่าความต้องการใช้บริการทางการแพทย์จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพของการรักษาพยาบาล และจุดแข็งด้านราคาค่าบริการทางการแพทย์ของไทยที่ยังดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งไทยได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในประเทศศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก โดยคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและหนุนให้ตลาดโรงพยาบาลเอกชนในประเทศเติบโตขึ้น
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของเอเชีย โดยกำหนดและดำเนินการตามแผนพัฒนาประเทศไทยในเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พ.ศ.2559-2568 การเปิดเสรีทางการค้าหรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมถึงการส่งเสริมให้คนไข้ชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวพักผ่อนเชิงสุขภาพในประเทศไทย
ทั้งนี้นายแพทย์สุนทร มองว่า ผลการขยายธุรกิจซื้อกิจการเฮลธ์แคร์ที่มีทีมงานบริหารอย่างมืออาชีพ ประกอบกับโอกาสในทางธุรกิจ ทำให้คาดว่าจะช่วยหนุนรายได้รวมของพริ้นซิเพิลฯเติบโตขึ้นมากกว่า 2,000 ล้านบาทในปีหน้า 2561 (โดยมีสัดส่วนรายได้จากเฮลธ์แคร์มากกว่า 50%) และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 ล้านบาทได้ภายใน 5 ปี
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก-https://www.asiasentinel.com