สวทช. ชูวิจัย 5 ด้านลุยงานปี61
ขับเคลื่อนประเทศ Thailand 4.0
สวทช. ประกาศลุยงานหนักต่อเนื่อง เน้นงานวิจัย 5 ด้านในปี61 เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 ทั้งด้านอาหารเพื่ออนาคต ,ด้านการขนส่งที่สมัยใหม่, การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทยทั้งเรื่องเครื่องมือแพทย์และนวัตกรรมเพื่อสุขภาวะผู้สูงอายุและคนพิการ, การพัฒนาอุตสาหกรรมวัคซีน อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และนวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยหลังโชว์ผลงานมากมายในปี 2560 ว่า ในปี 2561 สวทช. มีนโยบายขับเคลื่อนด้วยประเด็นมุ่งเน้น 5 ด้าน ตามแผนกลยุทธ์ฉบับที่ 6 (2560 – 2564) โดยกำหนดประเด็นมุ่งเน้นที่ สวทช. จะมุ่งดำเนินการเพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นที่ประจักษ์ 5 ด้าน ได้แก่
1.ด้านอาหารเพื่ออนาคต นั้นมุ่งพัฒนาสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional Ingredients) การพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารปลอดภัย การรับรองและให้ความรู้ด้านมาตรฐานและกฎระเบียบการขึ้นทะเบียน Functional Ingredients และอาหารเฉพาะกลุ่ม 2.ด้านขนส่งสมัยใหม่นั้น จะเน้นด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ระบบขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมการบิน
ขณะเดียวกันยังเน้น 3.การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตคนไทย ทั้งเรื่องเครื่องมือแพทย์และนวัตกรรมเพื่อสุขภาวะผู้สูงอายุและคนพิการ การพัฒนาอุตสาหกรรมวัคซีน การใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมเพื่อการรักษาที่แม่นยำ การรักษาด้วยเทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัด การป้องกันโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และเชื้อดื้อยา การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรตลอดช่วงชีวิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและไอที
4.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ โดยมีกลุ่มเชื้อเพลิงชีวภาพและแบตเตอรีชีวภาพ ด้านเคมีชีวภาพ วัสดุชีวภาพและการพัฒนาเพื่อเป้าหมายพิเศษ และ 5. นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน โดยมีการปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีคุณค่าทางโภชนาการและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการการผลิตพืชให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ในปี 2560 สวทช. ได้สร้างกลไกเทคโนโลยีฐานแบบบูรณาการ (Integrated technology Platform) ให้มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดจากการควบรวมเทคโนโลยีหลากหลายสาขาและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในอนาคต และได้สร้างแพลตฟอร์ม (Platform) ขึ้นมาใหม่ 3 เรื่อง ได้แก่
Sensors เป็นการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านเซนเซอร์ (sensors) ของแต่ละศูนย์แห่งชาติ มาทำงานวิจัยร่วมกัน ในห่วงโซ่คุณค่าของการพัฒนาเซนเซอร์ตั้งแต่ สารวัสดุตั้งต้น กระบวนการแยกสาร สาร/วัสดุขยายสัญญาณ ระบบวัด/ตรวจจับจัดการข้อมูล เพื่อเน้นพัฒนาเซนเซอร์ที่มีความสามารถ ความแม่นยำสูงขึ้น นำไปใช้เสริมประเด็นมุ่งเน้นในด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
High-performance computing & data analytics (HPC & DA) เทคโนโลยีที่นำข้อมูลที่มีการเก็บรวบรวม เช่น ข้อมูลทางชีวภาพ ข้อมูลเสียงและภาพ ข้อมูลสภาพแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ มาวิเคราะห์ประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการตัดสินใจ แปลความหมาย ทำนาย เตือนภัย แทนการใช้มนุษย์วิเคราะห์ การรู้จำ การสร้างแบบจำลอง และการเพิ่มประสิทธิภาพ (optimization) เป็นต้น
Bio-based materials สวทช. นำเอาองค์ความรู้ในเทคโนโลยีฐานชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ในการควบคุมการทำงานของสิ่งมีชีวิตได้อย่างจำเพาะและมีประสิทธิภาพ ไปขยายขนาดการผลิตสารที่ต้องการ และองค์ความรู้ในการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาผลิต Biomaterials เช่น เซลลูโลส (Cellulose) ไซโลส (Xylose) ลิกนิน (Lignin) ร่วมกับเทคโนโลยีการสังเคราะห์วัสดุ การขึ้นรูปชิ้นงานวัสดุ การผลิตให้มีสมบัติตามความต้องการ เพื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยต่อยอดจากฐานความเชี่ยวชาญของ 4 ศูนย์แห่งชาติ ของ สวทช. ทั้งด้าน ไบโอเทคโนโลยี ดิจิทัลเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุ และนาโนเทคโนโลยี มีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมให้ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ ได้ใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของไทย