วช.โชว์ผลสำเร็จนำสิ่งประดิษฐ์-วิจัย
เข้าร่วมประกวดบนเวทีนานาชาติ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ประกาศความสำเร็จในการร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรมากกว่า 20 แห่งนำผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นของคนไทยเข้าร่วมประกวดและจัดนิทรรศการในเวทีนานาชาติ 2 เวที ได้แก่ 1) งาน “Seoul International Invention Fair 2017” (SIIF 2017) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2560 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี และ 2) งาน “2017 Kaohsiung International Invention and Design EXPO” (KIDE 2017) ระหว่างวันที่ 8 – 10 ธันวาคม 2560 ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน คว้ารางวัลมากมาย “Fresh 2 Joy” ของทีมวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ “ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับอัตโนมัติ” ของทีมนักเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคว้า 2 รางวัลGrand Prize จากเวทีเกาหลี และมีผลงานคว้าเหรียญทอง 56 รางวัล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเปิดเผยว่า ในเวทีการประกวดงาน “Seoul International Invention Fair 2017” (SIIF 2017) ที่สาธารณรัฐเกาหลี ทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้นำผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิดค้นเข้าร่วมประกวดจำนวน 101 ผลงาน จาก 20 หน่วยงาน ทั้งสถาบันการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ มีผลงานที่เข้าร่วมประกวดกว่า 600 ผลงาน จาก 33 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ได้รับรางวัล Grand Prize หรือรางวัลชนะเลิศจำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “เฟรชทูจอย” (Fresh 2 Joy) ของศาสตราจารย์ ดร.นงนุช เหมืองสิน และคณะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผลงาน “ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับอัตโนมัติ” ของเด็กหญิงสุพิชญาณ์ เหมรัญช์โรจน์ และคณะ จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีผลงานของไทยได้รางวัลเหรียญทองจำนวน 56 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน 18 ผลงาน รางวัลเหรียญทองแดง 23 ผลงาน และรางวัลพิเศษ (Special Prize) 22 รางวัล
ขณะที่เวทีการประกวด KIDE 2017 ที่เมืองเกาสง ไต้หวัน มีผลงานที่ได้รางวัลเหรียญทอง 5 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน 5 รางวัล รางวัลเหรียญทองแดง 2 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากองค์กร/หน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 8 รางวัล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าวต่อว่า ผลจากการประกวดในเวทีนานาชาติ เราได้รับรางวัลในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า งานวิจัยของเรามีมาตรฐาน เมื่อมีมาตรฐานแล้ว วช. ในฐานะหน่วยงานหลักทำหน้าที่ขับเคลื่อนการวิจัยของประเทศ เราต้องการต่อยอดเอาผลงานนี้ไปสู่การใช้งานได้จริงทั้งในทางเศรษฐกิจและเชิงสังคม โดยเมื่อทำงานในห้องทดลองได้แล้ว จะสามารถใช้งานได้จริง โดย สิ่งที่จะทำต่อไปหลังจากนี้มี 2 อย่างคือ ผลงานที่ผ่านการประกวดว่ามีแนวคิดดี ๆ แล้วได้รับรางวัลจากการประกวดล่าสุดนี้ เราจะมีทุนวิจัยต่อยอดให้พัฒนาเป็นชิ้นงานที่ตรวจสอบได้จริง
นอกจากนี้เรายังมีบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย ซึ่งจะเลือกผลงานประดิษฐ์ที่มีต้นแบบที่ดีแล้วและมีแนวโน้มทางการตลาดที่ดี แต่ยังขาดเรื่องการตรวจสอบมาตรฐาน ความปลอดภัย มาตรฐานทางอุตสาหกรรม ทางวช.จะสนับสนุนต่อไปเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบมาตรฐาน เพื่อให้ผู้ที่จะนำไปขยายผลต่อเกิดความมั่นใจ ว่ามีผลงานที่จะนำไปใช้ได้จริง ผู้บริโภคมั่นใจ จากนั้นรัฐบาลยังมีบัญชีนวัตกรรม เพื่อซื้อผลงานที่ได้มาตรฐานต่าง ๆ เหล่านี้ไปใช้ในภาครัฐได้เป็นกรณีพิเศษได้ร้อยละ 30 ของปริมาณที่จะใช้ ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่า เรามีกลไกที่จะต่อยอดเพื่อที่จะนำผลงานตรงนี้ไปใช้
” แต่ละงานจะได้ทุนสนับสนุนแตกต่างกันไป เรามีกลไกที่จะให้ต่างกันไป สำหรับเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นอื่น ๆ นั้น เวทีใหญ่ที่สุดจะอยู่ที่เจนีวา ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของแต่ละปี ประเทศไทยจะประกวดเป็นระดับชั้น คือ ระดับจังหวัด ระดับประเทศก่อนไประดับนานาชาติ”
สำหรับ ผลงาน “เฟรชทูจอย” (Fresh 2 Joy) ของศาสตราจารย์ ดร.นงนุช เหมืองสิน และคณะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนวัตกรรมเม็ดบีดที่กักเก็บสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเน่าเสียของผลไม้ขณะขนส่งและรอจำหน่ายก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยกลไกของนวัตกรรมจะค่อย ๆ ปลดปล่อยสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราออกมา จึงเหมาะกับการนำไปใช้ยืดอายุผลไม้ผิวบาง เช่น สตรอเบอรี่ ให้สดใหม่และน่ารับประทาน
ส่วนผลงาน “ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับอัตโนมัติ” ของเด็กหญิงสุพิชญาณ์ เหมรัญช์โรจน์ และคณะ จากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยให้ผู้ป่วยออปิดิกส์ ที่มีปัญหาในการทรงตัวและผู้สูงอายุสามารถเดินขึ้นลงบันไดต่างระดับได้อย่างสะดวกและปลอดภัยกว่าอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีอยู่ และยังสามารถปรับระดับให้เข้ากับความสูงระดับต่าง ๆ ตามที่ผู้ใช้ต้องการหรือปรับอัตโนมัติ นอกจากนั้นยังเพิ่มความปลอดภัยด้วยระบบเซนเซอร์และระบบติดตามตัว