ผลิตภัณฑ์เวชสำอางชะลอวัย
จากเมือกหอยทากสายพันธุ์อาช่า
ปัจจุบันในวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง มีการใช้ “เมือกหอยทาก” เป็นส่วนประกอบสำคัญ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และถือเป็นจุดขายสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าหลากหลายยี่ห้อในท้องตลาด และเวลานี้ยังกำลังกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ ช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดการทำลายพืชผลการเกษตร
นายสิทธิพงศ์ สรเดช แห่งศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า “เมือกหอยทาก” (Snail Filtrate) เป็นสารคัดหลั่งของหอยทากที่ผลิตมาเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการปกป้องผิวของหอยทากทั้งในขณะเคลื่อนที่และพื้นผิวที่สัมผัสกับอากาศตลอดเวลา
โดยหน้าที่สำคัญของเมือกหอยทากนั้น จะปกป้องส่วนที่สัมผัสพื้นดินในเวลาเคลื่อนที่ ลดแรงเสียดทานเหมือนเป็นการปูพรมขณะเดิน ที่สำคัญเมือกที่ผลิตออกมายังช่วยสมานแผลบนเนื้อเยื่อของมันเองที่เกิด การขูดขีดเสียดสีกับพื้นผิวขรุขระ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเปลือกของหอยทากได้รับความเสียหายแตกออก หอยทากจะใช้น้ำเมือกในส่วนของแมนเทิล (Mantle) ที่อยู่ในชั้นถัดจากฝากระดองหอย ซึ่งถือเป็นเมือกหอยทากส่วนที่ดีที่สุดมาช่วยซ่อมแซมและสร้างเปลือกใหม่ให้ตัวเอง แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งการฟื้นฟูของเมือกหอยทากอย่างน่าอัศจรรย์
จากการวิจัยองค์ประกอบน้ำเมือกหอยทาก พบว่า มีทั้งส่วนที่ทำหน้าที่เป็นกาวเหนียวเพื่อให้ขาและตัวหอยได้ยึดเกาะแน่นเมื่อคลานหรือไต่ไปตามที่สูงชันและองค์ประกอบอีกส่วนที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นกาว น้ำเมือกที่หลั่งจากส่วนหางจะประกอบด้วย น้ำ 95% มีคุณสมบัติเป็นสารหล่อลื่นและปกป้องโดยเคลือบตัวหอยทากเพื่อไม่ให้บาดเจ็บในทุกพื้นผิว องค์ประกอบส่วนที่เป็นกาวเหนียวเมื่อนำมาวิจัยพบว่า ประกอบไปด้วยโปรตีนชนิด “glue proteins” ที่เข้มข้น ซึ่งโปรตีนชนิดนี้นับว่าสำคัญในการใช้ประโยชน์ทางการรักษาในปัจจุบัน (Bonnemain, 2005)
สารสำคัญในเมือกหอยทากประกอบไปด้วย แอลลันโทอิน ทำหน้าที่สนับสนุนและเร่งการแบ่งเซลล์ และช่วยสมานแผลได้ดี คอลลาเจน อีลาสติน และสารปฏิชีวนะธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนช่วยต้านเชื้อจุลินทรีย์ทุกชนิด
นอกจากนี้ยังพบ สารไกลโคลิกแอซิด เป็นสารสำคัญในเมือกหอยทากที่สามารถแทรกซึมเข้าชั้นผิวหนังได้ดี ตลอดจนเร่งการสังเคราะห์คอลลาเจนในชั้นผิวหนัง
จุดเริ่มต้น…ความร่วมมือวิจัยและพัฒนา
สำหรับหอยทากยักษ์สายพันธุ์อาช่า (Achatina fulica) พบมากในพื้นที่ชุ่มชื้น เช่น จังหวัดนครนายก และเกิดการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลิตผลทางการเกษตร ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อควบคุมการแพร่พันธุ์และจำนวนหอยทากและส่งเสริมอาชีพชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จังหวัดนครนายกได้จัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงหอยทากอาช่านครนายก” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงหอยทากอาช่า
นอกจากนี้ทาง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ร่วมกับ บริษัทเอเดนอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พัฒนา “ผลิตภัณฑ์เวชสำอางชะลอวัยจากเมือกหอยทากสายพันธุ์อาช่า” เพื่อเพิ่มรายได้และใช้ประโยชน์จากหอยทากที่มีมากในเขตจังหวัดนครนายก สำหรับการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และส่งออกต่างประเทศ โดยเพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆนี้
เซรั่มจากเมือกหอยทาก…ฝีมือนักวิจัยไทย
ส่วนกระบวนการผลิตเวชสำอางจากเมือกหอยทากเพื่อชะลอวัย ที่ วว. ได้ดำเนินงานพัฒนา ประกอบด้วย การพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เมือกหอยทาก การควบคุมคุณภาพทางกายภาพและทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์ การทดสอบประสิทธิภาพของสารกันเสียในผลิตภัณฑ์ทำการทดสอบตามวิธี USP (USP 2013) การทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสของผลิตภัณฑ์ใช้วิธี dopachrome การทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการเจริญของเซลล์ผิวหนังมนุษย์โดยวิธี SRB assay การประเมินการระคายเคืองของผิวหนังในอาสาสมัคร (การทดสอบแบบ single patch test)
ผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวหน้าจากเมือกหอยทากที่พัฒนาขึ้น มีลักษณะเป็นของเหลว มีสีเหลืองใส และมีความคงตัวที่ดี หลังจากทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์ภายใต้สภาวะที่เร่งโดยใช้การสลับร้อนและเย็น (45 oซ. เป็นเวลา 48 ชั่วโมง และที่ 4 oซ. เป็นเวลา 48 ชั่วโมง) เป็นเวลา 6 รอบ ผลิตภัณฑ์มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.52 ± 0.09 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และกระตุ้นการเจริญของเซลล์ผิวหนังมนุษย์ โดยสามารถกระตุ้นการเจริญของเซลล์ผิวหนังมนุษย์ได้สูงที่สุด โดยมีการเจริญของเซลล์เท่ากับ 96.85 ± 1.62 % ในขณะที่วิตามินซีมีการเจริญของเซลล์ที่ความเข้มข้น 0.1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร เท่ากับ 65.33 ± 4.86 % และไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังภายใน 24 ชั่วโมง
จากผลการทดลองสรุปได้ว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีประสิทธิภาพในการให้ความกระจ่างใสและชะลอวัยที่มีความคงตัวและปลอดภัยสูง นับว่าผลงานวิจัยที่พัฒนาขึ้น เป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย และยังลดการทำลายพืชผลเกษตรในจังหวัด อีกทั้งยังเป็นการสร้างนวัตกรรม สร้างชีวิตความกินดีอยู่ดี เพิ่มรายได้และใช้ประโยชน์จากหอยทาก มีการเลี้ยงหอยทากเพื่อนำมาผลิตเซรั่ม สู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และส่งออกต่างประเทศ
ประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรั่มเมือกหอยทาก
การพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยก่อนถึงมือผู้บริโภคนั้น ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากเมือกหอยทาก แพทย์ผิวหนังได้ให้คำแนะนำว่าผู้ที่จะทดลอง ควรมีการทดสอบป้ายที่ท้องแขนเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพราะเป็นสารสกัดที่มีเอนไซม์จากสัตว์ อาจทำให้ผิวแพ้ง่ายและอาจเกิดอาการแพ้ได้ในบางราย
ทั้งนี้ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. มีความพร้อมในการรับวิเคราะห์ ทดสอบ บริการวิจัย ด้านสมุนไพร เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำให้แก่ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป
สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทรศัพท์/โทรสาร : 0 2577 9111 E-mail : tistr@tistr.or.th www.tistr.or.th