ปส.เสริมความรู้ตรวจวัดรังสีนิวตรอน
พัฒนางานดูแลความปลอดภัยรังสี
ปส. เสริมความรู้เทคนิคการตรวจวัดรังสีนิวตรอนในงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสีให้หน่วยงานที่ใช้รังสีในทางอุตสาหกรรม 8 – 10 มกราคม 2561 นี้ ณ โรงแรมจังหวัดพิษณุโลก หวังเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมตามมาตรฐานสากล นำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ หลังจากปส.วิจัยพัฒนาการตรวจวัดรังสีนิวตรอนโดยใช้เทคนิคการเกิดรอยบนแผ่นโพลิเมอร์ CR-39 จากอนุภาคนิวตรอนที่ตกกระทบเพื่อตรวจสอบค่าระดับรังสีแบบต่อเนื่อง โดยเน้นการวัดแบบสะสม และตรวจวัดได้ในหลากหลายจุดรอบตัววัสดุกัมมันตรังสี เครื่องกำเนิดรังสี และพื้นที่ปฏิบัติงาน
ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 8 – 10 มกราคม 2561 ปส. จะจัดสัมมนา “โครงการพัฒนาการตรวจวัดรังสีนิวตรอน โดยใช้เทคนิคการเกิดรอยบนแผ่นโพลิเมอร์ CR-39 สำหรับสถานประกอบการทางรังสีในภาคอุตสาหกรรม” ณ ห้องกาสะลอง โรงแรมเดอะแกรนด์ ริเวอร์ไซด์ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเสริมความรู้ให้บุคลากรในสถานประกอบการทางรังสีให้ทราบถึงเทคนิคการตรวจสอบสถานปฏิบัติการทางรังสี พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบของ ปส. โดยคาดว่าจะมีสถานประกอบทางรังสีภาครัฐและเอกชน จำนวนกว่า 30 หน่วยงานเข้าร่วมสัมมนาฯ
ดร.อัจฉรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาคอุตสาหกรรมมีการนำรังสีนิวตรอนมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อาทิ การสำรวจหาแหล่งน้ำมันใต้ดิน ความชื้นใต้ดิน การวิเคราะห์แร่ธาตุด้วยเทคนิคเชิงนิวเคลียร์ การสำรวจทรัพยากรในประเทศไทย และรวมถึงการใช้รังสีนิวตรอนในการตรวจสอบหาความสึกหรอโดยไม่ทำลายชิ้นงาน ที่ผ่านมา ปส. ได้ตรวจสอบความปลอดภัยของสถานปฏิบัติการทางรังสีในทุกด้านทั้งด้านศึกษาวิจัย การเกษตร และอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.๒๕๕๙ รวมทั้งมาตรฐานสากลโดยยึดความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและประชาชนเป็นสำคัญ
ปส. จึงได้พัฒนางานวิจัยการตรวจวัดรังสีนิวตรอนโดยใช้เทคนิคการเกิดรอยบนแผ่นโพลิเมอร์ CR-39 จากอนุภาคนิวตรอนที่ตกกระทบเพื่อตรวจสอบค่าระดับรังสีแบบต่อเนื่อง โดยเน้นการวัดแบบสะสม และตรวจวัดได้ในหลากหลายจุดรอบตัววัสดุกัมมันตรังสี เครื่องกำเนิดรังสี และพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ จะได้เรียนรู้ขั้นตอนการติดตั้งและวิธีการดูแลรักษาแผ่นโพลิเมอร์ CR-39 หลังจากการสัมมนา ปส. จะดำเนินการติดตั้งแผ่นโพลิเมอร์ CR-39 ให้แก่สถานประกอบการทางรังสีที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ โดยจะติดตั้งไว้เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน และจะเก็บแผ่นโพลิเมอร์ CR-39 มาตรวจสอบค่าระดับรังสีสะสมแบบต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนากระบวนการตรวจสอบสถานปฏิบัติการทางรังสีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป