CPFชู ‘Connext Ed’ ต้นแบบศูนย์เรียนรู้
เล็งปั้นผู้นำรุ่นใหม่สานต่อศึกษายั่งยืน
ซีพีเอฟ จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่อาสาสมัครผู้นำ (School Partner) ของบริษัทฯ จำนวน 65 คน ที่เข้าร่วมโครงการผู้นำเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน หรือ คอนเน็กซ์ อีดี (Connext Ed) โดย School Partner เป็นผู้ให้คำปรึกษาและร่วมทำงานกับผู้บริหารโรงเรียน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการส่งเสริมวิชาชีพให้สอดคล้องตามความถนัดของนักเรียนและรองรับความต้องการของชุมชน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ ที่มุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาพื้นฐานของประเทศอย่างมีระบบ และต่อยอดเสริมทักษะตามความถนัดของนักเรียน มุ่งสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง นำสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตในที่สุด ซีพีเอฟอัดงบหนุนกว่า 50 ล้าน มีโรงเรียนในความรับผิดชอบ 195 แห่ง ในเขตพื้นที่การศึกษาที่ 14 รวม จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิและบุรีรัมย์ วอนรัฐให้ความสำคัญทำต่อเนื่องเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรในครั้งนี้ กล่าวว่า อาสาสมัครผู้นำจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนโครงการคอนเน็กซ์ อีดี ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐกลุ่มการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ขณะเดียวกันจะเป็นการสร้างคนดี คนเก่งให้กับสังคมไทย เพื่อร่วมพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว
“อาสาสมัครผู้นำทุกคนล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ ที่เต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาของเด็กไทย และยังเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยทั้งระบบให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ” นายสุขวัฒน์ กล่าว
ด้านนายเอนก บุญหนุน ประธานบริหารโครงการคอนเน็กซ์ อีดี ของ ซีพีเอฟ กล่าวว่า การดำเนินโครงการที่ผ่านมาบรรลุเป้าหมายเป็นอย่างดี และยังมีกิจกรรมบางส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการและจะแล้วเสร็จภายในกลางปีราวเดือนกรกฎาคม 2561 นี้ ซึ่งกิจกรรมหลักในโครงการฯ ประกอบด้วย โครงการด้านเกษตรกรรม กิจกรรมนอกเวลา วิชาชีพธุรกิจ พัฒนาหลักสูตร และการอบรมครู รวมถึงการต่อยอดสอนการใช้งานอุปกรณ์และสื่อ ICT ของทรูปลูกปัญญา โดยอาสาสมัครผู้นำที่รับผิดชอบแต่ละโรงเรียนจะติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิดให้โครงการสัมฤทธิ์ผลตามแผนที่วางไว้
ในปีนี้ มีการคัดเลือกอาสาสมัครผู้นำดีเด่น โดยพิจารณาจากกิจกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบที่สนับสนุนเด็กให้มีพัฒนาการ ความรู้ทางวิชาการและทักษะในด้านต่างๆ สามารถสั่งสมเป็นประสบการณ์และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่องานสร้างอาชีพได้ เช่น ด้านเกษตรกรรม (เลี้ยงไก่ไข่ เพาะเห็ดนางฟ้า) กิจกรรมนอกเวลา (มัคคุเทศก์น้อย) วิชาชีพธุรกิจ (สร้างธุรกิจเถ้าแก่น้อย) พัฒนาหลักสูตร
สำหรับโครงการและโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 1.โครงการกิจกรรมนอกเวลา: โครงการมัคคุเทศก์น้อย โรงเรียนตำบลบ้านโพธิ์ จังหวัดนครราชสีมา ให้นักเรียนเป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ด้วยการสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนโดยครูต่างชาติ และฝึกฝนให้เด็กแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นของตนเองได้ 2.โครงการเกษตรกรรม: โครงการเห็ดนางฟ้า โรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา จังหวัดนครราชสีมา โครงการช่วยเด็กให้มีความรู้และความสามารถในการปลูกและแปรรูปเห็ดนางฟ้า ขายในชุมชน และจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านอาชีพการปลูกเห็ดในชุมชน
3.โครงการพัฒนาหลักสูตรและอบรมครู: โครงการ 7 Habits พัฒนาอุปนิสัยภาวะผู้นำ โดยเน้นการถ่ายทอดให้ครู และครูนำไปสอนนักเรียน ทำให้เด็กมีภาวะผู้นำ มีความรับผิดชอบ และรู้จักหน้าที่ และ4.โครงการวิชาชีพธุรกิจ: โครงการหมี่โคราชสร้างเถ้าแก่น้อย โรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสร้างโอกาสให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยิน มีอาชีพมั่นคง หลังจากจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นายเอนก กล่าวต่อไปว่า ผู้นำอาสาสมัครจะทำงานร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนในการพัฒนาการศึกษาและการจัดกิจกรรมอย่างเหมาะสม โดยโรงเรียนจะได้รับงบประมาณสนับสนุนตามแผนงาน โดยการแผนพัฒนาจะต้องตอบโจทย์ 3 ประเด็น คือ ต้องต่อยอดการศึกษาของเด็ก ต้องมีความยั่งยืน และต้องทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ เอกชน และประชาคม นับเป็นมิติใหม่ของความร่วมมือที่ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
ทั้งนี้ซีพีเอฟ เป็น 1 ใน 12 ภาคเอกชนชั้นนำ ที่ให้การสนับสนุนโครงการ Connext Ed โดยผู้บริหารระดับสูงของ12 องค์กรจะทำหน้าที่เป็น School Sponsors หรือเป็นผู้สนับสนุนหลัก ให้คำปรึกษาด้านยุทธศาสตร์พร้อมงบประมาณ ให้แก่ อาสาสมัครผู้นำ ซึ่งคัดเลือกจากบุคลากรในองค์กรที่มีอุดมการณ์ มีจิตสาธารณะ และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้นำ รวม 1,000 คน เพื่อทำงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาในการวางแผนพัฒนาโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐ 3,342 แห่ง ทั่วประเทศ และจะขยายครบ 7,424 โรงเรียนในทุกตำบล ทั่วประเทศภายในปี 2561
สำหรับ 12 องค์กรเอกชน ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Connext Ed ได้แก่ 1.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) 4.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด 6.บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด 9.บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) 10.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 11.บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) และ12. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)