วว.พัฒนาผลิตพืชให้สารสำคัญสูง
ใช้เทคโนฯก่อน-หลังเก็บเกี่ยวลดต้นทุน
วว. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบผลสำเร็จพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชให้มีสารสำคัญสูง (การเกษตรฟังก์ชั่น : Functional Agriculture) โดยใช้เทคโนโลยีก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวช่วยลดต้นทุนการผลิตในระดับแปลงใหญ่/โรงงานผลิตพืช เกษตรสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับความพร้อมด้านการเงิน เพื่อให้ได้ผลผลิตอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็น พร้อมทั้งเป็นแหล่งของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆที่มีผลดีต่อสุขภาพทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)กล่าวว่า วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ประสบผลสำเร็จในการศึกษาวิจัยการเกษตรฟังก์ชั่น (Functional Agriculture) เพื่อผลิตผักและผลไม้ที่มีคุณสมบัติเป็นอาหารฟังก์ชั่นแบบครบวงจร จำนวน 3 วิธี ได้แก่ 1.การพัฒนากระบวนการผลิตพืชเพื่อควบคุมการสร้างและสะสมสารสำคัญในผักและผลไม้ระดับแปลงใหญ่ 2.การผลิตพืชในระบบปิดด้วยแสงเทียมหรือโรงงานปลูกพืช (Plant Factory) เพื่อควบคุมการเจริญเติบโตและการสร้างสารสำคัญ ซึ่งต้องมีการลงทุนเรื่องอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในระบบ จึงเหมาะสมสำหรับเกษตรกรหรือผู้ผลิตที่มีความพร้อมด้านการเงิน ทั้งนี้ วว.ได้วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้เชิงสังคมมาตั้งแต่พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน
และ 3.การพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มปริมาณสารสำคัญก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยวิธีสุดท้ายนี้เหมาะสมกับเกษตรกรทั่วไปที่ไม่มีศักยภาพด้านการลงทุน สามารถใช้ได้กับผลผลิตผักและผลไม้ที่มีการปลูกแบบปกติ เพียงแต่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวโดยการควบคุมสิ่งแวดล้อมระหว่างการเก็บรักษา เช่น การใช้อุณหภูมิที่เหมาะสม การปรับองค์ประกอบของบรรยากาศให้เหมาะสม รวมทั้งการกระตุ้นด้วยสภาวะเครียดต่างๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตผลแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณสารสำคัญในตัวผลผลิตอีกด้วย
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ กล่าวต่อว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม การเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผักและผลไม้ นอกจากจะเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็นแล้ว ยังเป็นแหล่งของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆที่มีผลดีต่อสุขภาพทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การส่งเสริมการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย การชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งการป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ การผลิตผักและผลไม้ที่เดิมมุ่งเน้นที่รูปลักษณ์และรสชาตินั้น ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชเพื่อให้ผักและผลไม้เหล่านั้นมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้นและมีสารสำคัญที่สามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพในปริมาณที่สูงขึ้น
“…จะเห็นได้ว่าการบริโภคผักและผลไม้ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีซึ่ง วว. พัฒนาขึ้นนั้น จะไม่ใช่เพียงนำมาบริโภคเป็นอาหารเท่านั้น แต่ผักและผลไม้ยังทำหน้าที่อื่นๆให้แก่ร่างกาย นอกเหนือจากการให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็นและรสสัมผัสอาหารแล้ว ยังสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพในปริมาณที่สูงขึ้น ผักและผลไม้เหล่านี้จึงมีคุณสมบัติที่เป็นมากกว่าอาหาร คือ มีคุณสมบัติเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ หรืออาหารฟังก์ชั่น (functional food) นั่นเอง…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ขอบคุณภาพประกอบจาก-www.britannica.com