“อมตะ” ปรับโฉมครั้งใหญ่รับยุค4.0
ชูวิสัยทัศน์สู่ผู้นำสมาร์ทชิตี้ระดับโลก
“อมตะ” พลิกโฉมครั้งใหญ่ ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบ “โลโก้” และชื่อเรียกโครงการจาก “อมตะนคร” สู่ “อมตะ ซิตี้ ชลบุรี” และ “อมตะ ซิตี้” สู่ “อมตะ ซิตี้ ระยอง” มุ่งสู่ความเป็นสากลที่ทันสมัย สอดรับเป้าหมายการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ผู้นำเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ระดับโลกหวังเป็นแม่เหล็กดึงนักลงทุนรับอีอีซี พร้อมเผยแผนเตรียมขยายฐานลงทุนตั้งเมืองอุตสาหกรรมสมบูรณ์แบบในประเทศพม่า เปิดอมตะคาสเซิล ชิมรางจัดงาน “AMATA SMART CITY EXHIBITION” วันที่ 18-20 มกราคม 2561 จัดแสดงนวัตกรรมแห่งอนาคตและเทคโนโลยีที่ทันสมัย จากบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีสายการผลิตในเมืองอุตสาหกรรมอมตะกว่า 40 บริษัท เป็นศูนย์กลางการพบปะสู่ความร่วมมือทางธุรกิจการค้าการลงทุนยุค 4.0
นายวิกรม กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มบริษัทอมตะได้จัดงานประจำปี 2561 ชื่อว่า AMATA BEYOND 2018 ภายใต้แนวคิด “Towards Smart City” พร้อมกับจัดการแสดงนิทรรศการ “AMATA SMART CITY EXHIBITION” ขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 18-20 มกราคม 2561 ณ อมตะคาสเซิล จ.ชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเวทีสำหรับลูกค้า คู่ค้า นักลงทุนจากต่างประเทศ นักศึกษา และบุคคลที่สนใจ เพื่อทำความรู้จักแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างเครือข่ายระหว่างกัน โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีสายการผลิตในเมืองอุตสาหกรรมอมตะ ตลอดจนบริษัทในเครืออมตะและคู่ค้าของอมตะ กว่า 40 บริษัท แบ่งเป็นผู้ประกอบการภายในอมตะ 21 บริษัท บริษัทในกลุ่มอมตะและคู่ค้า 15 บริษัท สถาบันการศึกษา 8 สถาบัน ร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ ในงาน รวมถึงการแนะนำโครงการในปัจจุบันและโครงการใหม่ของอมตะ
อีกทั้งมีการจัดการบรรยายพิเศษในหัวข้อนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการก้าวไปสู่เมืองอัจฉริยะ จากผู้นำองค์กรชันนำระดับโลกที่จะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายด้านการค้าการลงทุน โดยงานดังกล่าวเปิดให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจได้เข้าชมฟรี โดยลงทะเบียนร่วมงาน ผ่าน http://event.amata.com/beyond/what-is-amata-beyond.html หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 3893 9043-5
“การจัดแสดงนวัตกรรมและกิจกรรมพิเศษต่างๆ ในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีสำหรับทุกคนที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ใหม่และเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน รวมถึงมองหาโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้ อมตะหวังว่าการจัดแสดงนวัตกรรมจะจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ให้สนใจศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศในการพัฒนาและก้าวหน้าต่อไป” นายวิกรม กล่าว
นายวิกรม กล่าวต่อว่า ในปีนี้กลุ่มอมตะได้กำหนดแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปีมุ่งสู่การเป็นผู้นำเมืองอัจฉริยะ (Smart City)ระดับโลก โดยปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่ให้สอดรับกับการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ทันต่อการเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุดของเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคต พร้อมก้าวสู่ยุค 4.0 ที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะและศูนย์การเรียนรู้ในภูมิภาคและจะเป็นพื้นที่การลงทุนที่สมบูรณ์แบบในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากผู้นำการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมระดับโลกสู่ การสร้างและพัฒนาให้เกิดเมืองที่สมบูรณ์แบบ (Perfect City) เมืองที่มีการพัฒนาและสร้างสรรค์ให้เกิดแต่สิ่งดีๆ มีประโยชน์ต่อทุกคนที่อยู่ในเมือง
และปรับเปลี่ยนพันธกิจใหม่จากพัฒนาเมืองที่มีความทันสมัย บริการคุณภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สู่การยึดมั่นในวัฒนธรรมของการให้ทุกคนได้รับประโยชน์ได้สิ่งที่ดี ด้วยความมุ่งมั่นในการบุกเบิกและค้นหานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะสร้าง Smart City (เมืองอัจฉริยะ) ที่ซึ่งชีวิตมีคุณภาพ และยกระดับชีวิตให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโลโก้และชื่อเรียกโครงการใหม่จาก อมตะนคร สู่ “อมตะ ซิตี้ ชลบุรี” และอมตะ ซิตี้ สู่ “อมตะ ซิตี้ ระยอง” เพื่อมุ่งสู่ความเป็นสากลความทันสมัยสอดรับเป้าหมายการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่ผู้นำเมืองอัจฉริยะระดับโลก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงโลโก้ใหม่เริ่มจากปรับเปลี่ยนตัวอักษร AMATA จากเดิมให้ทันสมัยมากขึ้น ตัดสัญลักษณ์ฟันเฟืองออกไปเพราะเฟืองเป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมยุคเก่า และเพิ่มลายเส้นใต้ตัวอักษร AMATA แสดงการพัฒนาและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งที่อมตะจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างไร้พรมแดน ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนสโลแกนเป็น Possibilities Happen หรือ “ให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นได้” โดยการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้มีผล ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป
ส่วนหนึ่งของบริษัทใน“อมตะ ซิตี้ ชลบุรี” ร่วมงาน AMATA BEYOND 2018
“นับจากวันนี้แผนงานการพัฒนา โครงการ อมตะ ซิตี้ ชลบุรี จะเน้นความเป็นเมืองแห่งพลังงานสะอาด และเป็นต้นแบบของนิคมฯในกลุ่มอมตะทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการบริหารจัดการพลังงานทางเลือกอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยีทันสมัยการจัดการทรัพยากรทางด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้มีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาตามแผนงานยุทธศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการเป็นเมืองอัจฉริยะระดับโลก อาทิ โครงการเมืองวิทยาศาสตร์อมตะ ( AMATA Science City) และโครงการเมืองการศึกษา (Edu Town ) เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้” นายวิกรม กล่าว
ทั้งนี้แผนการลงทุนเพื่อพัฒนานิคมฯให้เป็นเมืองอัจฉริยะจะครอบคลุมการพัฒนาในด้านต่าง ๆ 10 ด้านหลัก คือ 1)พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) 2)การเดินทางอัจฉริยะ(Smart Mobility) 3)ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) 4)สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 5)ระบบการศึกษาอัจฉริยะ (Smart Education) 6)สายการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) 7)เมืองอากาศยานอัจฉริยะ (Smart Aerospace City) 8)นวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Innovation) 9)ระบบเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) และ10)การบริหารจัดการเมืองแบบอัจฉริยะ (Smart Governance)
นายวิกรม กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทชิตี้ตามแผนการลงทุนในระยะ 5 ปี (2561-2564) ของอมตะฯ โดยรูปแบบการลงทุนจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น บริษัทอินชอน สมาร์ทชิตี้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Incheon Smart City Corporation) ประเทศเกาหลี และบริษัท Saab AB จากประเทศสวีเดน เป็นต้น
“กลุ่มอมตะฯ มีเป้าหมายในการพัฒนานิคมฯ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนานิคมฯที่ประเทศเวียดนามไปแล้วเป็นแห่งแรก และอมตะยังมีแผนที่จะขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนเพิ่มขึ้นโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาในประเทศพม่าซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นย่างกุ้งและบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) แล้วเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากอมตะได้เล็งเห็นศักยภาพตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ภายใต้ชื่อ One belt One Road ตามการพัฒนาเส้นทางการค้าการลงทุนของจีนในภูมิภาคอาเซียน” นายวิกรม กล่าว
สำหรับการดำเนินธุรกิจพัฒนานิคมฯในประเทศเวียดนาม ปัจจุบันมี 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท อมตะชิตี้ เบียนหัว จังหวัดดองไน บนพื้นที่ 700 เฮกตาร์ หรือ 4,375 ไร่ ถือเป็นโครงการแรกที่อมตะเข้าพัฒนาในต่างประเทศ ซึ่งในขณะนี้มีนักลงทุนเข้าประกอบกิจการเกือบเต็มพื้นที่ ส่วนบริษัท อมตะชิตี้ ลองถั่น จังหวัด ดองไน โครงการที่ 2 บนพื้นที่ 1,270 เฮกตาร์ หรือ ประมาณ 8,000 ไร่ โดยแบ่งเป็นโครงการนิคม 33% และโครงการพัฒนาเมืองชุมชน 67% สำหรับในปีนี้ บริษัทจะเริ่มพัฒนาและเปิดขายพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคเป็นอันดับแรก โดยคาดว่า เงินลงทุนที่ต้องใช้สำหรับโครงการนี้ ประมาณ 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ อมตะฯ ยังได้ขยายไปยังภาคเหนือของเวียดนามที่เมืองฮาลอง จังหวัดกว่างนิงห์ ภายใต้ชื่อ บริษัท อมตะ ชิตี้ ฮาลอง (AMATA City Halong) ถือว่าเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ บนพื้นที่การลงทุนใหม่ขนาด 5,789 เฮกตาร์ หรือ ประมาณ 36,200 ไร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญ และไว้วางใจต่อบริษัท อมตะเป็นอย่างยิ่ง
จังหวัดกว่างนิงห์ ถือเป็นจังหวัดชายแดนของเวียดนามที่ติดต่อกับประเทศจีนตอนใต้ มีการพัฒนาสาธารณปโภคที่สำคัญต่ออุตสาหกรรม เช่น ถนนใหม่ไฮเวย์หมายเลข 5 เชื่อมฮานอย-ไฮฟอง-ฮาลองที่ใกล้เสร็จเรียบร้อย การยกระดับท่าอากาศยานนานาชาติแคทบี่ Cat Bi ที่เสร็จเรียบร้อย และท่าเรือน้ำลึกหลักเฟี่ยน Lach Huyen ที่พร้อมเสร็จภายในต้นปีนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในภาคเหนือของประเทศเวียดนาม
ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตการลงทุน ต่อรัฐบาลกลาง โดยการสนับสนุนของรัฐบาลท้องถิ่น โดยบริษัทฯ วางแผนการลงทุนและพัฒนาในเฟสแรก บนพื้นที่ขนาด 714เฮกตาร์ หรือ ประมาณ 4,500 ไร่ คาดว่า ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 156 ล้านเหรียญ หรือ 5,500 ล้านบาท โดยในปีนี้ บริษัทคาดว่า จะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตการลงทุน พร้อมกับขอส่งเสริมให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไปพร้อม ๆ กัน
ทั้งนี้ การลงทุนในเวียดนามทั้งหมด จะลงทุนผ่าน บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะสร้างความเติบโตและความยั่งยืนให้กับกลุ่มอมตะ นอกจากนี้ ยังจะได้เริ่มมีการนำแนวคิดของเมืองอัจฉริยะรวมถึงการพัฒนาธุรกิจแบบยั่งยืนไปปรับใช้ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน เมืองอุตสาหกรรมของอมตะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เป็นที่ตั้งของโรงงานผู้ผลิตชั้นนำและบางส่วนที่อยู่ใน Global Fortune 500 จำนวน 1,300 โรงงาน จากกว่า 30 ประเทศ มีการจ้างงานกว่า 300,000 อัตรา และมีมูลค่าการผลิตรวมกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (รวมทุกโครงการในประเทศไทยและเวียดนาม)