มุมเกษตร..เกษตรกรร้องรองนายกฯ
จี้สอบสธ.-ค้านเลิกใช้สาร 3 ชนิด
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์ฯ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ยกเลิกใช้สารทั้ง 3 ชนิด และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการวัตถุอันตราย นั้น ได้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดส่งหนังสือทบทวนไปยังส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และได้เข้าพบ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งได้มอบหมายให้ พลเอก ประสาท สุขเกษตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้ข้อสรุปดังนี้ ขอรับเรื่องไว้และจะนำส่งไปให้หน่อยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ซึ่งข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขยกเลิกใช้นั้น ยังไม่มีการสรุป การดำเนินงานต่อไปจะให้ครอบคลุมเหมาะสมตามข้อเท็จจริง ในส่วนอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการวัตถุฯ ซึ่งจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้
“ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้ยื่นเรื่อง ขอให้ “ยกเลิก” ข้อเสนอที่ให้ยกเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พารา ควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ของเกษตรกร พร้อมชี้แจงผลกระทบต่อการนำเสนอผลวิจัยที่มีข้อมูลบิดเบือน ไม่ถูกต้องบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เกิดความเข้าใจผิดในสังคมวงกว้าง กระทบต่อราคาสินค้า การส่งออกผักและผลไม้ของเกษตรกรเป็นอย่างมาก
กลุ่มเกษตรกร จึงตั้งข้อสงสัยต่อการทำงานระหว่าง Thai-PAN กับ ผลการวิจัยของ ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล มหาวิทยาลัยนเรศวร ดังนั้น สมาพันธ์ฯ เตรียมพร้อมรวบรวมรายชื่อเกษตรกร 50,000 ราย ค้านผลการวิจัย และขอให้เจ้าของผลงานวิจัยรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยการ “ลาออก” จากสถาบันการศึกษาและความเป็นนักวิชาการ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน มีนาคม นี้ เบื้องต้น ดร. กาญจนา เงารังษี อธิบการดี มหาวิทยาลัยนเรศวร รับทราบเรื่องแล้ว“ นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ กล่าวย้ำ
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร สมาคมเกษตรกร เกษตรกร และนักวิชาการ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ “ไม่เห็นด้วย” กับการยกเลิกการใช้สาร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พาราควอต เนื่องจากส่งผลกระทบต่อ 1) ต้นทุนการผลิตของเกษตรกร 2) ผลผลิตการเกษตรลดลง 3) การสูญเสียรายได้ระดับประเทศ อันเนื่องมาจากผลผลิตที่ลดลง คิดเป็นมูลค่าการสูญเสียสูงถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี สำหรับกลุ่มอ้อยและมันสำปะหลัง
“ขณะเดียวกัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลยืนยันว่า การใช้สารกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ไม่พบว่ามีหลักฐานผลกระทบทางสุขภาพตามที่กล่าวอ้าง สอดคล้องกับประสบการณ์ตรงของเกษตรกรที่ใช้สารดังกล่าว มานานกว่า 50 ปี ไร้ผลกระทบต่อสุขภาพ
อยากให้ตรวจสอบการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้านทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกร ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข ควรมีนักวิชาการด้านการเกษตร เกษตรกร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อความเป็นธรรมและโปร่งใสในการพิจารณา
ท้ายที่สุด เกษตรกรสนับสนุนให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าต่อไปบนความถูกต้องและความชอบธรรมภายใต้การกำกับดูแลสารเคมีเกษตร ซึ่งกระทรวงอื่นจะมาก้าวก่ายไม่ได้ ทุกกระทรวงมีหน้าที่ของตนเอง ที่สำคัญคือต้องทำงานร่วมกัน เกษตรกรคือประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ดังนั้น อย่ามองแต่มุมของตัวเอง ภาครัฐด้วยกันต้องทำงานประสานกัน” เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวสรุป