เกียรตินาคินภัทรปลื้มปี60กำไร6พันล.
61ลุยเพิ่มฐานลูกค้าเป้าสินเชื่อโต10%
“กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร-KKP” ปลื้มปี 60 กลุ่มธุรกิจฯ ประสบความสำเร็จ สินเชื่อรวมโตกว่า 9% จากเป้าที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 5% รวมถึงการควบคุมคุณภาพของสินเชื่อ (NPLs) ทั้งปีมีกำไรเบ็ดเสร็จกว่า 6,100 ล้านบาท ปี 61 ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเชิงรุกทั้งลูกค้าสินเชื่อ ลูกค้าเงินฝาก และกลุ่มลูกค้าที่มุ่งเน้นผลตอบแทนจากการลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสการทำ cross-sell นอกจากนั้นยังมุ่งพัฒนาช่องทางการลงทุนในต่างประเทศของลูกค้าบุคคลรายใหญ่ให้เทียบเท่า Private Bank ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าสินเชื่อรวมโตประมาณ 10% NPLs ลดไปอยู่ที่ 4.5% พร้อมเน้นใช้ IT ช่วยนำผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ด้านการเงินและการลงทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ไปสู่ลูกค้าได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม ขณะฝ่ายวิจัยฯมองเศรษฐกิจไทยยังโตที่ 3.8%
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (Mr. Aphinant Klewpatinond, Chief Executive Officer, Kiatnakin Phatra Financial Group) กล่าวว่า ปี 2560 เป็นอีกหนึ่งปีที่ผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจฯ ออกมาในระดับที่น่าพอใจ สะท้อนความมีประสิทธิภาพของ Business Model ที่สามารถใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญของบริษัทในกลุ่มธุรกิจฯ ได้อย่างเต็มศักยภาพ เห็นได้จากผลประกอบการที่ประกาศไปเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิและกำไรเบ็ดเสร็จ รวมทั้งมีสินเชื่อรวมเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรคือมีบริการและผลิตภัณฑ์การเงินและการลงทุนมีคุณภาพที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทำให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ทั้งบรรษัทขนาดใหญ่ ลูกค้าสถาบัน เอสเอ็มอี และลูกค้าบุคคลรายใหญ่ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสามารถปรับการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจฯยังคงไม่หยุดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ยิ่งกว่าเดิม
สำหรับ ในปี 2561 ยังคงมุ่งเน้น 3 ธุรกิจหลัก ซึ่งสะท้อนจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้เป็นอย่างดี ได้แก่ ธุรกิจให้สินเชื่อและธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจ Private Bank และธุรกิจ Investment Bank โดยในกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งเป้าขยายฐานลูกค้าเชิงรุก เพื่อขยายฐานบัญชีทั้งสินเชื่อและเงินฝาก และสร้างโอกาสสำหรับการทำ cross-sell ผลิตภัณฑ์อื่นภายในกลุ่มธุรกิจฯ
นอกจากนี้ยังจะพัฒนาช่องทางการลงทุนในต่างประเทศของลูกค้าบุคคลรายใหญ่ให้มีความหลากหลาย และทำให้ลูกค้าสามารถรับคำแนะนำในการลงทุนและทำรายการได้สะดวกและใกล้ชิดยิ่งกว่าที่รับบริการ Private Bank ต่างประเทศ ดังเช่นเมื่อกลางปี 2560 ที่บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (บล.ภัทร) ได้เปิดตัวบริการ Global Investment Service หรือ GIS บริการพิเศษที่ช่วยให้ลูกค้าบุคคลรายใหญ่สามารถบริหารเงินลงทุนในต่างประเทศผ่านสินทรัพย์ที่หลากหลายได้อย่างไร้พรมแดน โดยเป็นความร่วมมือกับพันธมิตร Private Bank ต่างประเทศ สำหรับสินเชื่อรวม ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตที่ราว 10% ด้านสินเชื่อด้วยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs) คาดว่าจะลดลงไปที่ประมาณ 4.5%
ส่วนนโยบายทางด้านสาขานั้น ธนาคารมีแนวคิดเรื่องการพัฒนาเครือข่ายสาขา ซึ่งรวมถึงการปิด ย้ายสาขาหรือปรับปรุง ตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา (ปัจจุบันมี 66 สาขา) เพราะมองเห็นว่าการทำธุรกรรมที่สาขาอาจมีไม่มากเท่าเดิม และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น โดยในอนาคต หลายสาขาของธนาคารจะถูกยกระดับให้เป็น Financial Hub (ปัจจุบันมีอยู่ 2 แห่งคือสาขาเซ็นทรัลเวิลด์ และสาขาทองหล่อ และปี 2561 นี้จะเปิดอีกหนึ่งสาขาที่เยาวราช) หรือสถานที่ให้ลูกค้าเข้ามารับคำปรึกษาในการลงทุนจากผู้เชี่ยวชาญ โดยขณะนี้มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำ (Asset under Advice: AuA) คิดเป็นมูลค่า 447,000 ล้านบาท หรือประมาณกว่า 580,000 ล้านบาทหากรวมเงินฝากที่ธนาคารด้วย
ในขณะที่บริการอื่นๆ จะพัฒนาไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศที่กำลังทยอยเกิดขึ้นภายใต้โครงการ National e-Payment โดยกลุ่มธุรกิจฯ จะใช้เครือข่ายสาขาที่มีอยู่ ตลอดจน Alternative Channel และ Information Technology มาสร้างโอกาสในการเข้าถึงสาขาและบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการด้านการลงทุน โดยจะมีการเปิดตัวเร็วๆ นี้”
ด้าน นายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานปี 2560 เปรียบเทียบกับปี 2559 ว่า “ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 5,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% และมีกำไรเบ็ดเสร็จรวมเท่ากับ 6,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% มีสินทรัพย์รวม 259,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% ทางด้านอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III รวมกำไรถึงสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 16.46% เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 13.31% หากรวมกำไรถึงสิ้นปี 2560 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับ 17.95% เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 14.80%
ในส่วนของผลการดำเนินงานของธุรกิจธนาคารพาณิชย์นั้น สินเชื่อของธนาคารในปี 2560 มีการขยายตัวที่9.3% หลังจากที่มีการหดตัว 3 ปีต่อเนื่องในปี 2557 – 2559 โดยสินเชื่อมีการขยายตัวในเกือบทุกประเภทยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อที่ยังคงมีการหดตัวลง ทั้งนี้สินเชื่อของธนาคารที่มีการขยายตัวค่อนข้างดี ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เพิ่ม 205%) สินเชื่อ Micro SMEs ซึ่งรวมสินเชื่อ KK SME (เพิ่ม 84%) สินเชื่อบุคคล (เพิ่ม 35%) สินเชื่อบรรษัท (เพิ่ม 130%) สินเชื่อ Lombard (เพิ่ม 62%) ในด้านคุณภาพของสินเชื่ออัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 5.0% ปรับตัวดีขึ้นจาก 5.6% สิ้นปี 2559 สำหรับธุรกิจตลาดทุนนั้น มีรายได้รวมราว 3,000 ล้านบาท บล.ภัทรมีส่วนแบ่งตลาด 4.69% เป็นอันดับที่ 5 จากบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 38 แห่ง ตลอดจนมีรายได้จากค่าธรรมเนียมวานิชธนกิจและจากการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ
ในโอกาสเดียวกันนี้ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคินจำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ได้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ 3.8% โดยมีปัจจัยหนุนหลัก 2 ปัจจัย คือ 1. ภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งจากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่พร้อมเพรียงกัน (Synchronized Growth) ขณะที่มาตรการปฏิรูปภาษีของรัฐบาลสหรัฐก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน และ 2. ภาคเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การเบิกจ่ายงบกลางปี เป็นต้น ด้านการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นแต่ไม่โดดเด่นนัก
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องจับตา 3 ประการ ได้แก่ 1. เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างทั่วถึงหรือไม่ โดยที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากภาคระหว่างประเทศเป็นหลัก 2. การลงทุนของภาครัฐและเอกชนจะกลับมาขยายตัวหรือไม่ โดยที่ผ่านมาการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ (ที่รวมรัฐวิสาหกิจ) ต่ำกว่าเป้ามาโดยตลอด และ 3. ความตึงตัวภาคการเงินจะผ่อนคลายลงหรือไม่ โดยที่ผ่านมาแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินจะอยู่ในระดับต่ำแต่สภาพคล่องทางการเงินมิได้ไหลเข้าไปสู่ภาคธุรกิจที่มีความต้องการทางการเงินเท่าที่ควร