วช.จัดยิ่งใหญ่ “วันนักประดิษฐ์ปี61”
โชว์วิจัย-สิ่งประดิษฐ์กว่า1,000 ผลงาน
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานในระบบวิจัยและเครือข่ายพันธมิตร มหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย จัดงาน
วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2561 ยิ่งใหญ่ นำทัพผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั้งในประเทศและนานาชาติ มาจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน ใต้แนวคิด “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เปิด “งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2561 (Thailand Inventors’ Day 2018)” พร้อมมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปี 2560 รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2561 และรางวัล TWAS Prize for Young Scientists in Thailand
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า งานวันนักประดิษฐ์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่มีผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย”หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไชยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยและเป็นครั้งแรกของโลก โดยในปีนี้ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2561 ณ Event Hall 98 – 99 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
สำหรับงานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้รูปแบบกิจกรรม “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อเป็นการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผลและนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ นิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร นิทรรศการรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์จากภูมิปัญญาไทย นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคมผู้สูงวัย นิทรรศการบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย และบัญชีนวัตกรรมไทย และนิทรรศการ “ตลาดนัดเปิดโลกผลงานวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 3” มหกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ
นอกจากนี้ ยังมีการประชุม/สัมมนา และการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ และสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การประดิษฐ์เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ รวมถึงการให้บริการและคำปรึกษาทางธุรกิจสำหรับนักประดิษฐ์ ที่ต้องการต่อยอดผลงานสู่การเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานและร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติในปีนี้ มีผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 5 ท่าน โดย สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.เสริม จันทร์ฉาย จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ,ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.ประสิทธิ์ ภวสันต์ จากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ ทองสง จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(ภาพประกอบนายแพทย์ธีระ ทองสง จาก-เฟซบุ๊คราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย)
สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.มงคล เตชะกำพุ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาการศึกษา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.บุญเรียง ขจรศิลป์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สำหรับรางวัลผลงานวิจัยมีผลงานที่ได้รับรางวัล รวม 33 ผลงาน รางวัลระดับดีเด่น จำนวน 2 ผลงานได้แก่ ผลงานห้องปฏิบัติการระบบของไหลจุลภาคบนชิปที่มีวัสดุนาโนประกอบรวมสำหรับการวิเคราะห์ทางเคมีอย่างรวดเร็ว ของ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ จากศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ (TOPIC) ผลงานการบูรณาการองค์ความรู้ด้านไวรัสพันธุศาสตร์เชิงวิวัฒนาการระบาดวิทยาเชิงโมเลกุล และวิทยาการภูมิคุ้มกันเพื่อแก้ไขปัญหาการติดเชื้อไวรัสพีอีดีแบบเรื้อรังในสุกร ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.เดชฤทธิ์ นิลอุบล จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนรางวัลวิทยาพนธ์ มีผลงานที่ได้รับรางวัล จำนวน 38 เรื่อง รางวัลระดับดีเด่น จำนวน 1 เรื่อง ได้แก่ การควบคุมระบบโพรฟีนอลออกซิเดสในกุ้งกุลาดำ ของ ดร.จันทิวรรณ ศุทธางกูร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ยังมีรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ที่ได้รับรางวัล จำนวน 51 ผลงาน มีผลงานที่ได้รับรางวัลระดับดีเด่น จำนวน 1 ผลงาน ได้แก่ ชุดอุปกรณ์รับประทานข้าวเหนียว ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาชัญ นักสอนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนรางวัล TWAS Prize for Young Scientists in Thailand ได้แก่ ผศ.ดร.ประสิทธิ์ ทองใบ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ หาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัลฯ สาขาฟิสิกส์ เนื่องจากเป็นนักฟิสิกส์ด้านวัสดุศาสตร์ที่มีผลงานวิจัยมุ่งประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงสมบัติของไดอิเล็กตริก รวมถึงสาเหตุของการมีค่าคงที่ไดอิเล็กตริกที่สูงมาก