ADTECสานต่อพระราชปณิธานร.๙
“บริการฝังรากฟันเทียมผู้สูงอายุ”
โปรแกรมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์วัสดุฝังใน หรือ ADTEC ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือTCELS สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมสานต่อพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของปวงชนชาวไทยด้านงานทันตกรรม เปิดตัว “โครงการบริการฝังรากฟันเทียมผู้สูงอายุ” ช่วยลดปัญหาในช่องปาก ช่วยเหลือผู้สูงอายุยากจน ที่ด้อยโอกาสให้มีฟันในการขบเคี้ยว เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งเป้า ๓ ปี ๖,๐๐๐ ราย ทั่วประเทศ หลังเดินหน้าช่วยเหลือผู้สูงอายุมานับ10ปี เป้าหมายสุดท้ายผลักดันเข้าสู่ระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ผู้สูงวัยได้รับสิทธิประโยชน์รับบริการฝังรากฟันเทียมฟรี เนื่องจากการฝังรากฟันเทียมมีค่าใช้จ่ายสูงหลักหลายหมื่นบาทถึงหลักแสน
ผศ.ทพ. วิจิตร ธรานนท์ ผู้อำนวยการโปรแกรมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์วัสดุฝังใน (ADTEC) กล่าวว่า จากความสำเร็จของ “โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” สู่ “โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔” ที่ให้บริการฝังรากฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุสำหรับผู้ต้องใช้ฟันเทียม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำนวน ๑๐,๐๐๐ ราย และ ๘,๔๐๐ รายทั่วประเทศตามลำดับ ซึ่งเกิดจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาล ๙ ที่ทรงห่วงใยประชาชนในเรื่องของสุขภาพฟัน โดยทรงมีพระราชดำรัส ว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” และยังได้รับสั่งต่ออีกว่า “คนเรานั้นถ้าสุขภาพในช่องปากไม่ดี ก็จะทำให้สุขภาพด้านอื่นๆ ด้อยไปด้วย”
จากพระราชดำรัสในครั้งนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือจัดทำโครงการขึ้น ซึ่งโครงการที่ผ่านมานั้นสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุที่ฟันหลุดหมดปาก จะนิยมใส่ฟันเทียม เมื่อใส่ไปแล้วเวลาพูด ฟันเทียมมักจะหลุดออกมา หรือเวลาเคี้ยวอาหารก็จะทำให้รู้สึกเจ็บ การใส่รากฟันเทียมลงไป จะทำให้ฟันเทียมทั้งปากแน่นขึ้น สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น โดยให้ผู้สูงอายุที่ขาดโอกาสในการรักษาสุขภาพช่องปาก ได้มีโอกาสเข้ารับบริการฝังรากฟันเทียมบริเวณขากรรไกรล่าง รายละ ๒ ชุด ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการฝังรากฟันเทียมสามารถบดเคี้ยวอาหารได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับ “โครงการบริการฝังรากฟันเทียมผู้สูงอายุ” ครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 เป็นการสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ท่านอีกครั้ง ซึ่งADTEC ได้เล็งเห็นงานทันตกรรมรากเทียม เพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับแผนทันตกรรมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๕ ที่ต้องการให้มีการเพิ่มการเข้าถึงการบริการ การส่งเสริม การรักษา และฟื้นฟูสภาพช่องปากของผู้สูงอายุให้เพิ่มมากขึ้น
“จากการดำเนินงานโครงการบริการรากฟันเทียมผู้สูงอายุที่ผ่านมานับสิบปีทำให้ทราบถึงปัญหาต่างๆ มากมาย โดยส่วนใหญ่พบว่า ผู้สูงอายุในต่างจังหวัดจะไม่ใส่ใจในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก เนื่องจากไม่มีความรู้ และอีกอย่างคือ ทุกคนต้องทำงาน เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว จึงคิดว่า “ไม่มีฟัน” ก็ไม่เป็นไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ฟัน” คือสิ่งที่สำคัญมาก นอกจากจะทำให้เรามีความมั่นใจ ฟันยังช่วยให้เราบดเคี้ยวอาหาร เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพราะฉะนั้นการมีสุขภาพฟันที่ดี สุขภาพร่างกายก็จะดีตามไปด้วย
ทั้งนี้ปัญหาเรื่องสุขภาพช่องปาก ถือเป็นปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุ จากผลสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุในปัจจุบันประเทศไทย มีจำนวน ๑๔ ล้านคน โดย ๘๘% เป็นผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันไปบางส่วน และอีก ๑๒% คือ คนที่ไม่มีฟันเลย ดังนั้นอาจพูดได้ว่า ผู้สูงอายุทุกคนจะมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว เพราะฟันบางส่วนหลุดหายไป และต้องใช้ฟันหน้าเคี้ยวอาหารแทน ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะรากฟันจะค่อยๆ สึกไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนใส่ใจสุขภาพปากและฟัน ด้วยวิธีง่ายๆ คือ แปรงฟันให้สะอาดและถูกวิธี หมั่นไปตรวจสุขภาพฟันทุกๆ ๖ เดือน”
สำหรับโครงการใหม่ในปีนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุจากทั่วประเทศ จำนวน ๗๐๐ ราย โดยสิ่งที่แตกต่างไปจาก ๒ โครงการที่ผ่านมาคือ จะใส่รากฟันเดี่ยวให้กับผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันบางส่วน โดยเฉพาะฟันบดเคี้ยว หรือ ฟันกราม ให้คนละ ๒ ราก พร้อมครอบฟันให้อย่างสมบูรณ์ ตั้งเป้า ๓ ปี จำนวน ๖,๐๐๐ ราย เฉลี่ยปีละ ๒,๐๐๐ ราย รวมจำนวน ๔,๐๐๐ ราก ซึ่งรากฟันที่ใส่ให้คนไข้จะมีอายุการใช้งานอย่างต่ำ ๑๐ ปี หรืออาจมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการรักษา หากรักษาดีอาจสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต
ส่วนระยะเวลาในการรักษาหากฝังรากเทียมข้างบนใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ส่วนข้างล่างใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน ส่วนค่าใช้จ่ายในการฝังรากฟันเทียมปกติ หากเป็นโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 30,000-40,000 บาท แต่หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึงซี่ละ 100,000-120,000 บาท
ด้านดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์การมหาชน) หรือTCELS กล่าวว่า โครงการสอดพ้องกับนโยบายของดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ให้ความสำคัญกับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษาในการพัฒนาประเทศ โดยชี้ว่า การจะพัฒนาประเทศสิ่งที่จะต้องทำวันนี้มี 3 เรื่อง คือ 1) ต้องให้ความสำคัญสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เสมือนเป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ดีสำหรับอนาคต ส่งเสริมเยาวชนให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านสะเต็มศึกษา (STEM) ซึ่งเป็นแนวทางจัดการการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์
2)ลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างของกลุ่มผู้มีรายได้มากและรายได้น้อยในสังคม ซึ่งไทยนำในอาเซียน ดัชนีความแตกต่างของกลุ่มผู้มีรายได้ (
“โครงการบริการฝังรากฟันเทียมนี้ นับว่าตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อนี้ ทั้งเรื่องสร้างแรงบันดาลใจ ลดเหลื่อมลำและการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการนำเข้าและเกิดการจ้างงาน โดย 2 โครงการที่ผ่านมาสามารถช่วยผู้สูงอายุได้นับหมื่นคนและยังช่วยลดค่าใช้จ่ายปัญหาในช่องปากได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ TCELS ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัย บูรณาการเพื่อดูคุณภาพการออกแบบ ความปลอดภัย การเชิญผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม เชิญบริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำด้านเครื่องมือแพทย์ให้มามีส่วนร่วม นำเทคโนโลยีอื่น ๆ มาปรับใช้ทำเครื่องมือแพทย์และยังมีการทำฐานข้อมูลไว้ ขออวยพรให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จเหมือน 2 โครงการที่ผ่านมา”
ผศ.ทพ. วิจิตร กล่าวเสริมว่า ผู้สูงอายุที่สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับการคัดกรองจากทันตแพทย์ก่อน นอกจากต้องเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไปแล้ว จะต้องไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง หรือโรคที่ทำให้เสี่ยง เช่น ผู้ที่มีกระดูกขากรรไกรบาง ผู้เป็นโรคกระดูกพรุนและผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกระดูก โดยโรคไตเรื้อรังทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เนื่องจากขาดวิตามินดีในรูปที่พร้อมทำงาน และมีอัตราการสลายกระดูกมากกว่าอัตราการสร้างกระดูก แพทย์จะแนะนำอาหารที่ควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยง และให้ยาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก”
โดยสามารถไปติดต่อได้ที่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งปีนี้มีทั้งหมด ๒๐ แห่ง ก่อนจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โรงพยาบาลเหล่านั้นได้แก่
ภาคเหนือ ได้แก่ รพ.เชียงคำ จ.พะเยา, รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย, รพ.แพร่ จ.แพร่ รพ.ลำปาง จ.ลำปาง, รพ.น่าน จ.น่าน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ รพ.เทพรัตน์ จ.นครราชสีมา, รพ.สิรินธร จ.ขอนแก่น, คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น, รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
ภาคใต้ ได้แก่ รพ.ค่ายธนะรัชต์ จ.ประจวบคีรีขันธ์, รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, รพ.สตูล จ.สตูล, รพ.ตรัง จ.ตรัง, รพ.ตะกั่วป่า จ.พังงา, รพ.สุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎ์ธานี
ภาคตะวันออก ได้แก่ รพ. ขลุง จ.จันทบุรี, รพ.ระยอง จ.ระยอง
ภาคกลาง ได้แก่ โรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี,สถาบันประสาทวิทยา กรุงเทพฯ และ คลินิกทันตกรรม ADTEC จ.ปทุมธานี
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ๐๒-๕๖๔-๖๙๖๐-๑, ๐๒-๕๖๔-๗๐๐๐ หรือ www.adtec.or.th