ไบโอเทคโชว์วิจัยเอนไซม์ไข่ขาว
สารกันบูดจากธรรมชาติ ‘NAC2018’
งานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 (NSTDA Annual Conference: NAC2018) ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 13 มีนาคม 2561 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ภายใต้หัวข้อ “ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น” จะมีผลงานวิจัยของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรมาโชว์มากมาย สำหรับผลงานที่มุ่งตอบโจทย์ “อาหารเพื่ออนาคต” ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งรวมถึง ผลงาน eLysozymeTM (เอนฮานซ์ ไลโซไซม์) เอนไซม์จากไข่ขาวที่เปรียบเสมือนสารกันบูดจากธรรมชาติ ด้วยคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรีย อนาคตช่วยทดแทนสารกันบูดจากเคมี ทั้งในอาหารคนและอาหารสัตว์ได้
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. เปิดเผยว่า ผลงาน eLysozymeTM (เอนฮานซ์ ไลโซไซม์) จากไข่ขาว เป็นการร่วมกับบริษัทเอกชน วิจัยและพัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นการวิจัยประเด็นมุ่งเน้นด้านอาหารเพื่ออนาคต โดยเป็นการดึงเอนไซม์ไข่ขาว ที่มีคุณสมบัติทำลายจุลินทรีย์ได้อยู่แล้วด้วยการเจาะทำลายผนังเซลล์นั้น นำออกมาเพิ่มฤทธิ์ เพื่อให้สามารถฆ่าจุลินทรีย์ได้ ซึ่งจะสามารถใช้เป็นเสมือนสารกันบูด สำหรับถนอมอาหารทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ โดยทำออกมาในรูปผง ที่สามารถละลายน้ำได้ ทดแทนการใช้สารกันบูดแบบเดิมที่ใช้เคมีและลดใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะช่วยลดสารตกค้างในอาหาร ที่สำคัญยังมีจุดเด่นตรงที่เป็นสารจากธรรมชาติ
สำหรับจุลินทรีย์ที่เอนฮานซ์ ไลโซไซม์สามารถยับยั้งได้ ครอบคลุมทั้งแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเน่าเสีย แบคทีเรียก่อโรคที่มักพบปนเปื้อนในอาหาร และแบคทีเรียก่อโรคที่มีความสำคัญในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปศุสัตว์ ได้แก่ แบคทีเรียแกรมบวกต่าง ๆ เช่น Staphylococcus aureus, Micrococcus lysodeikkticus, Bacillus cereus, Bacillus stearothermophilus, Clostridium thermosaccarolytium, Clostridium tyrobutyricum, Lactococcus garviae และแบคเรียในกลุ่มแบคทีเรียแลคติก
“เป็นการยับยั้งจุลินทรีย์อันตราย แตกต่างจากสารกันบูดแบบเก่าที่ฆ่าเชื้อแบบครอบจักรวาล ทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ตายไปด้วย”
ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ทำการทดลองร่วมกับบริษัทผลิตอาหารสัตว์ โดยนำไปทดลองกับกุ้ง ซึ่งผลเปรียบเทียบกุ้งที่เลี้ยงด้วยอาหารที่มีส่วนผสมของ เอนฮานซ์ ไลโซไซม์ พบว่า มีอัตรารอดชีวิตสูงขึ้นที่ 50-70% เทียบกับ 30% ในกุ้งที่เลี้ยงด้วยอาหารแบบเดิม
“เบื้องต้น เอนฮานซ์ ไลโซไซม์ จะถูกนำมาใช้ในอาหารสัตว์ก่อน แต่ในอนาคตสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งในอาหารสัตว์และคน ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ชีส บะหมี่ และนม หรือใช้ในเครื่องสำอาง เป็นต้น เวลานี้ผลงานวิจัยดังกล่าวนี้อยู่ระหว่างการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่าย”
อนึ่งนับว่าผลงานวิจัยนี้เป็นประโยนช์อย่างมากซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับไข่และไข่ขาว เนื่องจาก “ไลโซไซม์ (Lysozyme)” ซึ่งมีประมาณ 3.4% ของไข่ขาวและมีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรียด้วยนี้ ปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมอาหารแล้ว ในฐานะสารกันบูดจากธรรมชาติ (natural preservative) โดยได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) และหลายๆ ประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย ถึงความปลอดภัยในการบริโภค และได้รับอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และการบำบัดรักษาบางประเภท รวมถึงอาหารสัตว์ด้วย ทำให้แต่ละปีมีการใช้ไลโซไซม์สูงถึงปีละกว่า 350 ตัน
สำหรับไลโซไซม์จากแหล่งอื่นนอกจากในไข่ขาว ยังพบได้ในน้ำตา น้ำลาย ยางมะละกอ และน้ำนมแม่ ด้วย
ขอบคุณภาพประกอบไข่จาก-https://www.quora.com