นักวิชาการมธ.ถก.ภัยร้ายฝุ่นกลางเมือง
เตือนป่วยภูมิแพ้งดกิจกรรมกลางแจ้ง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ถกปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่กทม. ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เมื่อเร็ว ๆนี้ ชี้ผลเปรียบเทียบจากข้อมูลสถิติปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 รายวัน ในอากาศบริเวณกรุงเทพฯรอบหลายปีที่ผ่านมาและในช่วงปี 2560 ถึงปี 2561 อยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงไปกว่าในปีก่อน ๆ โดยในปี 2560 ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลดลงถึง 25 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบจากค่าเฉลี่ยของปี 2556 ที่สูงถึง 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เสนอหลายมาตรการเฉพาะกิจระยะเวลา 90 วัน สำหรับช่วงกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี เน้น “ลดจำนวนแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ” และ “ลดปริมาณมลพิษจากแหล่งกำเนิด” ทั้งจากรถยนต์ โครงการก่อสร้างต่าง ๆ เตาเผาศพให้ใช้เตาเผาแบบไร้ควัน พร้อมแนะผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ งดกิจกรรมกลางแจ้ง คาดสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะคงอยู่ไปถึงช่วงกลางเม.ย.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 1 หัวข้อ “ภัยร้าย “ฝุ่น” กลางเมือง” โดยมี ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มธ., ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, และรองศาสตราจารย์ ดร. นันทวรรณ วิจิตรวาทการ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มธ. เข้าร่วมเสวนา ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า วิกฤตการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินมาตรฐานค่าเฉลี่ยรายวัน ที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพฯ ตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา( ปลายม.ค.-20ก.พ.61) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบระยะสั้นต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้
เมื่อเทียบจากข้อมูลสถิติปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 รายวัน ในอากาศบริเวณกรุงเทพฯ ในหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในช่วงปี 2560 จนถึงปี 2561 นี้ อยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงไปกว่าในปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา โดยจากสถิติข้อมูลย้อนหลังไป 7 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ พบว่า ค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มลดลงมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โดยในปี 2560 ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลดลงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ของปี 2556 ที่สูงถึง 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สาเหตุจากการนำน้ำมันและรถยนต์มาตรฐาน Euro 4 มาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา จึงส่งผลให้มีการลดการระบายมลพิษ รวมทั้ง PM2.5 จากรถยนต์ทั้งรถเก่าและรถใหม่
ขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษ กำลังพิจารณาที่จะเสนอให้นำมาตรฐานน้ำมันและรถยนต์ ระดับ Euro 5 มาใช้ในประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศโดยรวมในกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยลดลงได้ตามมาในอนาคต โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกับภาคผู้ผลิตน้ำมันและรถยนต์แล้วถึงกำหนดระยะเวลาที่จะนำมาใช้
ดร. สุพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะคงอยู่ไปจนถึงช่วงกลางเดือนเมษายน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมฝุ่นละอองที่กำลังดำเนินการและสภาพภูมิอากาศด้วย โดยชี้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนทุกคนต่างมีส่วนในการทำให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 จากกิจกรรมประจำวันต่าง ๆ อาทิ การใช้ยานพาหนะ การเผา โดยเฉพาะการเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง และการประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภาคประชาชนต้องช่วยกันลดการก่อให้เกิดฝุ่นละออง โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้อต่อการแพร่กระจายของสารมลพิษอากาศ แต่ความรุนแรงจะลดลง หากเพิกเฉยกับประเด็นดังกล่าว และทางภาครัฐไม่มีการกำหนดมาตรการ ข้อกำหนดต่างๆ ที่เข้มข้นในช่วงวิกฤติ สถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในปีต่อๆ ไปก็อาจจะยังคงรุนแรงต่อเนื่องต่อไป
จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการข้อเสนอมาตรการเฉพาะกิจระยะเวลา 90 วัน สำหรับช่วงกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี เพิ่มเติมจากในช่วงปกติ โดยเสนอให้มีการ “ลดจำนวนแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ” ตัวอย่างเช่น 1) ขยายเขตพื้นที่การจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร เพิ่มจากเขตรอยต่อกับจังหวัดปริมณฑลออกไปถึงวงแหวนรอบนอก 2) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จำกัดเวลารถบรรทุกขนาดเล็กตาม พรบ.การขนส่งทางบก หรือป้ายทะเบียนสีเขียว เข้าในเขตกรุงเทพฯ ในชั่วโมงเร่งด่วน 3) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จำกัดรถส่วนบุคคลเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร ทะเบียนรถเลขคู่ในวันคู่และทะเบียนรถเลขคี่ในวันคี่ ในลำดับถัดไป และ 4) ออกประกาศจังหวัด ห้ามเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด 90 วัน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ดร.สุพัฒน์ กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ต้องทำการ “ลดปริมาณการระบายมลพิษอากาศจากแหล่งกำเนิด” ควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างเช่น 1) จัดการจราจรให้คล่องตัว ซึ่งจะทำให้การระบายมลพิษอากาศจากการคมนาคมขนส่งลดลง อาทิ ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักทุกสายอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่ 06:00 ถึง 21:00 น. และจัดระเบียบการจราจรและคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามกฎจราจรอย่างเขัมงวด 2) ควบคุมการก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ ให้ดำเนินมาตรการควบคุมการเกิดและการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ตามข้อกำหนดของ กทม. และให้จังหวัดปริมณฑลดำเนินการในลักษณะเดียวกัน 3) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ให้การก่อสร้างโครงการของรัฐปรับแผนการก่อสร้างเพื่อลดกิจกรรมหรือชะลอการก่อสร้างในส่วนที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง และ 4) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ให้มีการเผาศพเฉพาะที่ใช้เตาเผาศพไร้ควันเท่านั้น ทั้งนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่สามารถดำเนินการได้อีกมาก ดังที่มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอไว้ ดร.สุพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
รศ.ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่น และผลกระทบ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ได้มีการกำหนดว่าฝุ่นละเอียดในบรรยากาศ เป็นฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหรือเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ปัจจุบัน องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency, US.EPA.) ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับ PM2.5 คือค่าเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 15 มคก./ลบ.ม และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 35 มคก./ลบ.ม และองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดค่าเฉลี่ยรายปี เท่ากับ 10 มคก./ลบ.ม และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 25 มคก./ลบ.ม
ส่วนประเทศไทยกรมควบคุมมลพิษ ได้กำหนดค่ามาตรฐานสำหรับ PM2.5 คือค่าเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 25 มคก./ลบ.ม และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 50 มคก./ลบ.ม ซึ่งสุงกว่าค่ามารฐานของ US.EPA. และองค์การอนามัยโลก เนื่องจาก จากผลการศึกษาวิจัย พบว่าค่าประมาณของระดับความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ สูงกว่าค่าที่พบในประเทศทางตะวันตก ทำให้คาดว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานรายปีของ PM2.5 ในระดับสูงหรือ 25 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนในกรุงเทพฯ หรือเขตอื่นๆ ที่มีค่ามลภาวะทางอากาศค่อนข้างสูง
ด้าน ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วงที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศเกินมาตรฐาน กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงก่อสถานการณ์ดังกล่าว และต้องดูแลรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ ซึ่งปริมาณของกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในเขตกรุงเทพฯ มีสูงถึงกว่า 2.3 แสนคน และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
โดยกลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่อการมีอาการ ควรปฏิบัติตาม 4 คำแนะนำ ได้แก่ 1) หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมกลางแจ้งในบริเวณทีมีฝุ่นมาก โดยเฉพาะบริเวณที่คับคั่งไปด้วยยานพาหนะและไม่มีการระบายอากาศที่ดี 2) สวมผ้าปิดจมูกหรือหน้ากากอนามัย ชนิด N95 ขณะออกจากบ้าน 3) เมื่อเกิดอาการควรใช้ยาพ่นป้องกันหอบ ยาพ่นจมูกหรือรับประทานยาแก้แพ้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรลดยาเอง ส่วนคนไข้ที่เป็นหอบหืดควรพกยาพ่นฉุกเฉินที่เป็นยาขยายหลอดลมติดตัวไว้เสมอ 4) พกน้ำตาเทียมหยอดตา หรือน้ำเกลือ สำหรับแก้อาการระคายเคืองตา
สำหรับผู้ สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่ มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร.02-564-4493 หรือ www.tu.ac.th