รมต.สำนักนายกฯมอบนโยบายวช.
หนุน “วิจัยกินได้” ตอบโจทย์ประเทศ
รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี (ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล)และคณะ เดินทางมาตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมมอบนโยบายในการปฏิบัติงานแก่บุคลากร วช. โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ชูนโยบายขับเคลื่อน “วิจัยกินได้” เน้นปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบบูรณาการจุดแข็งของหน่วยงานเครือข่าย ให้การวิจัยเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงแก้ปัญหาสำคัญของแต่ละพื้นที่ มีการทำงานร่วมกับชุมชน และเมื่อวิจัยเสร็จแล้วต้องใช้งานได้จริง ตรงกับความต้องการ และต้องนำความรู้เรื่องนั้นๆ มาขยายผลต่อไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เช่น ธนาคารปูม้า
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) แถลงภายหลังการประชุมตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่บุคลากร วช. ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการนำ “งานวิจัย” มาเป็นอีกกลไกสำคัญที่ใช้สร้างโอกาสและผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการส่งเสริมให้มีการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง โดยเรื่องที่กำลังเร่งดำเนินการมีหลายอย่างดังนี้คือ
1. จะเร่งผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จัดทำขึ้นต่อท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดโครงสร้างและพันธกิจของ วช. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านนโยบายการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยจะเร่งรัดทำให้ได้ภายใน 2 เดือนข้างหน้า สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งต้องอาศัยการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม วช.จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ หรือเป็น “เสนาธิการ” ทางการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นสำนักงานสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ บูรณาการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบวิจัยและนวัตกรรม
2. กำหนดแนวทางนโยบาย กรอบวิจัยว่าจะไปในทิศทางไหน การดำเนินงานที่เป็นเอกภาพ ให้มีความชัดเจน เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดความเสียหาย และส่งเสริมให้ระบบวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังสิ่งที่วช.กำลังทำ “การวิจัยปัญหาท้าทายไทย” เช่น ปัญหาหมอกควัน ปัญหาผักตบชวา พยาธิโรคใบไม้ตับ ปัญหายางพารา ปัญหาปูม้า ที่มีการทำธนาคารปูม้า ช่วยเพิ่มมูลค่าได้เป็นแสนล้าน เพราะปูม้า 1 ตัวมีค่าเท่ากับทองคำ 2 บาท เพราะจะช่วยให้ปูรอดชีวิตได้อีก 500 ตัว เท่ากับประมาณ 50,000 บาท โดยจะจัดตั้งคณะกรรมการ 1 ชุดเพื่อกำหนดโจทย์ของประเทศไทยว่า เป็น วิจัยมุ่งเป้า วิจัยปัญหาท้าทาย และวิจัยกินได้ เพื่อให้เป็นคำถามที่นักวิจัยช่วยกันตอบตรงความต้องการของประชาชน และต่อไปจะใช้แนวทางนี้ในการทำกรอบจัดสรรงบประมาณวิจัยของประเทศไทย
“เวลานี้ “โมเดลปูม้า” ที่มีการทำธนาคารปูม้า ถูกนำมาขยายผล โดยจากการลงพื้นที่ไปแหลมผักเบี้ยของนายกรัฐมนตรีและคณะ ทำให้มองเห็นโอกาสของโครงการวิจัยนี้ที่ช่วยฟื้นฟูประชากรปูม้าที่เคยร่อยหรอลงให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม เพราะมีการนำปูไข่มาเพาะเลี้ยง อนุบาลลูกปูก่อนนำปล่อยคืนสู่ทะเล ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการคืนปูม้าให้ทะเลไทย โดยจะขยายผลแนวคิดนี้สู่ชุมชนที่พร้อมทั่วอ่าวไทยและอันดามัน จากปัจจุบันมีชุมชนที่ทำธนาคารปูม้าประมาณ 100 แห่งทั่วประเทศและกลุ่มนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น
โดยร่วมมือกันระหว่าง วช. ธนาคารออมสิน ไปรษณีย์ กรมประมง ซึ่งธนาคารออมสินจะจัดสินเชื่อให้กับหมู่บ้านที่สนใจจะทำเรื่องธนาคารปูม้า เอกชนรับซื้อไม่อั้น เพราะปัจจุบันปูม้าขาดแคลน ข้าวผัดปูไม่มีปูใส่ ปูกระป๋องส่งออกก็ไม่มี ขณะที่ราคาขายอยู่ที่ 2,000 บาทต่อกิโลกรัม ในอนาคตจะทำโมเดลแบบเดียวกันนี้กับ หอย กุ้ง กั้งด้วย”
3. การปรับวิธีการวัดผลสัมฤทธิ์ ของโครงการวิจัยต่าง ๆ จะเลิกโครงการวิจัยเพื่อวิทยฐานะ เช่น ผศ. รศ. เป็น ศ. จะสนับสนุนน้อยลง แต่เอางบประมาณดังกล่าวมาตอบโจทย์วิจัยที่มีผลต่อประเทศไทย และคิดถึงเรื่องของการขยายผลและวัดผลว่า งานวิจัยที่ออกไปมีผลมากน้อยแค่ไหน
4.เวลาที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ขอเป็นศูนย์ในความเป็นเลิศ โดยนายกรัฐมนตรีอยากให้ทบทวนว่า มีกรอบการพิจารณาอย่างไรในการเป็นศูนย์ความเป็นเลิศในด้านนั้น ๆและ ให้จัดสรรส่งเสริมการวิจัยในเรื่องที่ไทยสนใจสอดพ้องกับพื้นที่ จนกลายเป็นเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ หลากหลายทั่วประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ขอนแก่นมีอ้อยมาก ต้องไปดูว่า อ้อยทำอะไรได้บ้าง รวมถึงด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ อนาคตมหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเป็นแหล่งของนวัตกรรมด้านอ้อย ส่วน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่มีมันสำปะหลังมาก ก็อาจกลายเป็นศูนย์ที่เป็นเลิศด้านนวัตกรรมมันสำปะหลังและอยากทำเรื่องของโค วากี เนื้อนุ่ม ก็ให้มีความเป็นเลิศด้านนี้ เป็นต้น
5. การจัดทำฐานข้อมูลสำหรับระบบวิจัยและนวัตกรรม โดยทางวช.จะจัดทำเวบไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ว่า โจทย์วิจัยคืออะไร คำตอบของการวิจัยคืออะไร ผลงานวิจัยที่นำไปใช้ได้คืออะไร เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงฐานข้อมูลบุคลากร เอกชนได้ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง สุดท้ายเป็นการพัฒนาบุคลากรภายในวช.ให้เข้มแข็งและเป็นเสนาธิการด้านการวิจัย นวัตกรรมของประเทศอย่างแท้จริง
ด้านศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2561 วช. วางแนวทางในขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล 3 แนวทาง คือ 1) การบูรณาการเครือข่ายภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคชุมชน ภาคอุตสาหกรรม ตามยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 2) การใช้องค์ความรู้จากการวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ
3) การบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อเสริมพลังความเข้มแข็งของการทำงาน โดยในโครงการ “ปั้นดาว” ภายใต้แนวคิด “วิจัยกินได้” วช.และเครือข่ายวิชาการ ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งมีความเข้มแข็งในเชิงการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น ไส้กรอกปลากาฬสินธุ์ ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน การสนับสนุนการขยายสเกลการผลิตสิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ทั้งนี้ทุกแผนงานจะเป็นการบริหารจัดการงบประมาณแบบมีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนตามประเด็นยุทธศาสตร์และตามรายพื้นที่ และมั่นใจได้ว่าผลสำเร็จที่จะต้องเกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งคุณภาพชีวิต สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
ในโอกาสนี้มีการนำผลงานวิจัยเด่น ๆ มาจัดแสดงด้วย อาทิ ผ้าไหมแพรวา กาฬสินธุ์, ถั่วลายเสือ ,นมข้าวและเครื่องกลเติมอากาศบำบัดน้ำเสียพลังานแสงอาทิตย์