ปลัดกระทรวงวิทย์ฯนำทีมไปจีน
ร่วมมือศึกษา-วิจัยด้านอวกาศ
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำทีมผู้บริหารกระทรวงฯ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้าเยี่ยมชม China National Space Administration (CNSA) และ China Academy of Space Technology (CAST) สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดงานสัมมนา “The 1ST Space Science Research Experiment & Exploration (SRE)” ระหว่างวันที่ 2 – 4 เมษายน 2561 ณ China National Space Administration (CNSA) โดย นายอู๋ เอี้ยนหัว รองผู้อำนวยการ China National Space Administration (CNSA), นายเทียน อู๋หลง เลขาธิการ CNSA และผู้บริหาร CNSA ให้การต้อนรับ พร้อมร่วมหารือความร่วมมือและการสนับสนุน ซึ่ง สทอภ. และ สวทช. จัดการสัมมนานี้ร่วมกับ CNSA ขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการวิจัยด้านอวกาศและนักวิทยาศาสตร์ไทยเข้าร่วมศึกษาและวิจัยในสถานีอวกาศ โดย สทอภ. และ สวทช. ดำเนินโครงการทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง (National Space Exploration (NSE)) เพื่อการวิจัยและการสำรวจในห้วงอวกาศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยที่มีคุณค่าและพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมอวกาศ สำหรับการพัฒนาประเทศด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนด้านการแพทย์ และเตรียมและพัฒนานักวิจัยไทยศึกษาด้านอวกาศ พร้อมยกระดับงานวิจัยในประเทศ ตลอดจนเป็นการขยายอุตสาหกรรมอวกาศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไป
รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทย์ฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร นักวิจัย รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเป็นอย่างมาก จากการที่ สทอภ. และ สวทช. ดำเนินโครงการทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง (NSE) เป็นโครงการที่เปิดรับข้อเสนองานวิจัยจากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย หน่วยงานเอกชน และผู้สนใจจากทั่วประเทศ เพื่อค้นหาข้อเสนองานวิจัยที่โดดเด่นและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้านนวัตกรรมอวกาศ และได้คัดเลือก 4 โครงงานวิจัย ที่มีศักยภาพสูงให้มีโอกาสไปทำการวิจัยและทดลองในสถานีอวกาศ ทั้งด้านไบโอเทคโนโลยีการสร้างผลึกโปรตีนในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงสำหรับผลิตยารักษาโรคมาลาเรีย การปลูกพืชในสถานีอวกาศ การพัฒนาอาหารไทยให้เป็นเสบียงสำหรับนักบินอวกาศ และการพัฒนาเทคนิคการสร้างเครื่องพิมพ์สามมิติสำหรับอาหารในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง อีกทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องอาหารเป็นอย่างมากจึงเป็นโอกาสอันดีในการขยายความสามารถของผู้ประกอบการภายในประเทศ
ในการเยี่ยมชมและจัดสัมมนานี้ ได้ขอความสนับสนุนจาก China National Space Administration (CNSA) หน่วยงานรัฐของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่รับผิดชอบดูแล กำหนดนโยบาย และพัฒนาโครงการอวกาศของจีน ในการสนับสนุนความร่วมมือเป็นอย่างดีในการนำโครงการวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ไทยขึ้นไปศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวิจัยในอวกาศภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของไทยยังมีความรู้และประสบการณ์ด้านนี้น้อยมาก นอกจากนี้ยังเป็นการต่อยอดแผ่นแม่บทด้านอวกาศและ EECi เพื่อสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศต่อไป
สำหรับการสัมมนา SRE นี้เป็นกลไกระดับนานาชาติที่จะช่วยส่งเสริมผลักดันโครงงานวิจัยทั้ง 4 โครงการดังกล่าวของนักวิทยาศาสตร์ไทยให้มีโอกาสขึ้นไปดำเนินการทดลองวิจัยบนสถานีอวกาศของสาธารณรัฐจีน รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์ไทยได้เข้าถึงกิจกรรมด้านการสำรวจอวกาศมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายฐานอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งทาง สทอภ. ได้เริ่มเปิดรับข้อเสนองานวิจัยและการทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงประจำปี 2561 แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้งานวิจัยที่น่าสนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น จนถึง 31 กรกฎาคม 2561
นายอู๋ เอี้ยนหัว รองผู้อำนวยการ CNSA กล่าวว่า มีความรู้ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้ความร่วมมือในการโครงการวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ไทยขึ้นไปบนสถานีอวกาศ ก่อนหน้านี้ CNSA ได้มีความร่วมมือกับประเทศไทยไปแล้วในเรื่องของ Remote Sensing และอีกหลายๆ โครงการ ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ด้านข้อมูลข่าวสาร รวมถึงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์ และภายในปี 2022 จะสร้างสถานีอวกาศเทียนกง 2 เสร็จ และอาจมีความร่วมมือต่างๆ อีกหลายโครงการที่จะมีส่วนร่วมในการส่งนักวิทยาศาสตร์ศึกษาและวิจัยในสถานีอวกาศ การวิจัยด้านอวกาศจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรหลายๆ ประเทศในการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและเสริมสร้างรากฐานด้านวิทยาศาสตร์อวกาศซึ่งจะนำไปสู่อุตสาหกรรมอวกาศอย่างต่อเนื่องต่อไป