พม.บุกหนองคายรวมพลังประชารัฐ
รณรงค์หยุดค้าประเวณี-ค้ามนุษย์
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ ตลอดจนสื่อมวลชนจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีและการค้ามนุษย์ โดยมีพ.ต.ท.หญิง ธาราทิพย์ จำรัส รองผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย(ตม.)และนายอาทร จันทร์พิลา ประชาสัมพันธ์ของจังหวัดหนองคายนำเสนอแนวทางดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง
พ.ต.ท.หญิง ธาราทิพย์ เปิดเผยว่า สถิติการค้าประเวณี ในจังหวัดหนองคายในปี 2558-2560 และปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม พบการค้าประเวณี จำนวน 1 คน และพบเตร็ดเตร่เพื่อค้าประเวณี จำนวน 77 คน เป็นคนลาว จำนวน 66 คน ไทย จำนวน 11 คน ในส่วนของการค้ามนุษย์ในจังหวัดหนองคายพบว่า ในปี 2558-2560 และปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม จับกุมข้อหาค้ามนุษย์ จำนวน 6 คดี มีผู้ต้องหาคนไทย จำนวน 9 คน ลาว จำนวน 1 คน ผู้เสียหาย คนไทย จำนวน 5 คน ลาว จำนวน 6 คน
จากนั้นได้เยี่ยมชมเครื่องตรวจพาสปอต ของด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคาย (ตม.) ก่อนเป็นประธานเปิดการเสวนา “การพัฒนาบทบาทผู้นำทางสังคมด้านสตรีและครอบครัว” เพื่อรวมพลัง หยุดยั้ง การค้าประเวณี และการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก ภายใต้กิจกรรมเสวนาสัญจรพลังบวกสาม ภาครัฐ สื่อ และประชาสังคมเพื่อสตรีและครอบครัว โดย ร่วมต่อจิ๊กซอร์ประกาศให้สังคมรับรู้ และแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือ “ประชารัฐรวมพลังหยุดค้าประเวณี ค้ามนุษย์”
หลังจากนั้นได้ปล่อยขบวนรณรงค์ป้องกันการค้าประเวณีและการค้ามนุษย์ มุ่งหน้าไปยังลานพญานาคหน้าเทศบาลเมืองหนองคาย
นายเลิศปัญญากล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจ บทบาทหน้าที่การทำงาน และการเตรียมพร้อมของภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการขับเคลื่อนงานด้านสตรีและครอบครัว ในการปรับองค์กรให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อสนับสนุนการก้าวไปสู่ ไทยแลนด์ ๔.๐ โดยใช้กลไกการสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของเครือข่ายและภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งเป็นพลังประชารัฐ ที่ประกอบด้วย คนในชุมชน หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนที่เป็นกลไกสำคัญในการส่งต่อข้อมูล และเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้หาการค้าประเวณีที่อาจจะก้าวไปสู่การค้ามนุษย์ได้
“กลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ พม. พร้อมให้การสนับสนุนทุกภาคส่วน สำหรับเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานเพื่อการสอดส่องป้องกันภัยให้กับสตรีและเด็ก ตลอดจนคนไทยที่ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนทั้งภายในและภายนอกประเทศ คือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทรสายด่วน 1300 ซึ่งมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วบริการในภาวะวิกฤตตลอด 24 ชั่วโมง”