เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯเผย
ประมงไม่ยั่งยืนทำสูญลูกปลา74ชนิด
ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน (Civil Society’s Coalition for Ethical and Sustainable Seafood) รวมถึง มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน สมาคมรักษ์ทะเลไทย ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ(MWRN)และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดผลงานวิจัย 2 ชุด ในด้านสถานการณ์สิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทยและด้านสิ่งแวดล้อมที่เจาะลึกถึงความสูญเสียในท้องทะเลไทยจากการทำประมงไม่ยั่งยืนที่ พบว่า ภาคประมงไทยยังมีปัญหาน่าห่วงด้านสิทธิแรงงาน ขณะที่การทำประมงไม่ยั่งยืนทำสูญเสียลูกปลาเศรษฐกิจมากกว่า 74 ชนิด กระทบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 145 ล้านบาทต่อปี เสนอปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย ระบบตรวจสอบ และการร้องเรียนในอุตสาหกรรมประมง ตลอดจนเร่งประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมของการป ระมงไม่ยั่งยืนอย่างจริงจัง
นายบรรจง นะแส นายกสมาคมสรักษ์ทะเลไทย
แรงงานประมงในไทยทำงานเกินเวลา-เสี่ยงอันตราย-รู้สิทธิน้อย
นางสาวนาตยา เพชรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการ ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา นำเสนอผลงานวิจัยด้านแรงงานหัวข้อ “ชีวิตติดร่างแห: ความจริงล่าสุดสถานการณ์ประมงไทย” ที่พบว่า 1 ใน 5 ของแรงงานบนเรือประมงไทย ทำงานเกิน 14 ชั่งโมงต่อวัน มากกว่า 1 ใน 3 ไม่ได้นอนพักผ่อนเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่า ผิดกฎหมายแรงงานที่กำหนดให้ทำงานไม่เกิน 14 ชั่วโมงต่อวันและมีเวลาพักผ่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมงติดต่อกัน นอกจากนี้ ยังพบว่า แรงงานร้อยละ 92 ทำงานบนเรือยังต้องมาทำงานต่อบนฝั่งอีกราว 5 ชั่วโมงในวันที่นำเรือเข้าฝั่งและออกจากฝั่งด้วย
นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่า “งานบนเรือหนักอยู่แล้ว แต่เกือบทุกคนยังต้องทำงานบนฝั่งเพิ่มเติมอีก จะเห็นว่า พวกเขาต้องทำงานหนักมาก ๆ เพื่อแลกกับค่าจ้าง ซึ่งเรามองว่า เป็นช่องโหว่ที่ภาครัฐควรเข้ามาตรวจสอบและกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น”
ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯ ระบุว่า ความพยายามการปกป้องสิทธิแรงงานประมงในไทยมีความก้าวหน้าหลายประการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีช่องโหว่ที่ต้องแก้ไขอีกมาก โดยงานวิจัยพบว่า สภาพการทำงานของแรงงานประมงยังน่าเป็นห่วง แม้ว่าแรงงานส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับให้ใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างเสื้อชูชีพ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่กำหนดให้เรือทุกลำต้องมีตามกฎกระทรวงที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2559 แต่มีแรงงานเพียง 12% เท่านั้นที่ระบุว่าพวกเขาได้รับการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือประมงอย่างปลอดภัย ขณะที่ 35% ระบุว่าบนเรือไม่มียาสามัญประจำบ้านและชุดปฐมพยาบาล 16% ระบุว่าไม่มีอาหารเพียงพอ และ 3% ไม่ได้รับอนุญาตให้พักผ่อนเมื่อล้มป่วย
งานวิจัยฉบับนี้ยังว่า พบแรงงานประมง 62% ระบุว่าพวกเขามีพาสปอร์ตหรือเอกสารสำคัญประจำตัว (Certificate of Identity) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเพียง 15% ในการสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปี 2560 อย่างไรก็ตาม เกือบ 2 ใน 3 ของแรงงานตอบว่า พวกเขาไม่ได้เก็บเอกสารไว้กับตัวเอง ส่วนใหญ่ถูกนายจ้าง คนเรืออาวุโส ฝ่ายบริหารจัดการของบริษัท หรือนายหน้าเก็บเอาไว้ ซึ่งผิดกฎกระทรวงที่ห้ามนายจ้างเก็บเอกสารสำคัญส่วนตัวของแรงงาน นอกจากนี้ แรงงาน 39% จำไม่ได้ว่าพวกเขาเคยเซ็นสัญญาทั้งงาน และ 95% ไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้างงานจากนายจ้าง ซึ่งผิดกฎหมายเช่นกัน
สำหรับประเด็นการรับรู้สิทธิแรงงาน งานวิจัยของภาคีเครือข่ายฯ ระบุว่า 70% ของแรงงานประมงรู้สึกว่าไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิแรงงานอย่างเพียงพอ โดยกว่า 36% เข้าไม่ถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน และแรงงานมากถึง 90% ไม่เคยยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงาน เนื่องจากไม่รู้ขอบเขตสิทธิของตนเอง
นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)เปิดเผยว่า “แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งภาคประชาสังคมที่มีเป้าหมายร่วมในการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในภาคประมงของไทยอย่างเป็นระบบ และเราก็เห็นพัฒนาการในหลายๆ จุดตามที่ได้พูดถึงมาแล้ว แต่งานวิจัยก็สะท้อนให้เห็นว่าตัวนโยบายกับการนำไปปฏิบิติหรือบังคับใช้อาจจะยังไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างสมบูรณ์”
จากข้อค้นพบทั้งหมดในงานวิจัย ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ได้ประกาศข้อเสนอไปยังรัฐบาลไทยทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาระบบการร้องเรียนจากแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ออกกฎหมายห้ามบังคับเก็บค่านายหน้าจากแรงงาน ส่งเสริมการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐ และให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ 87 ว่าด้วยว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง (ILO Convention 98/87) ที่กำหนดให้รับรองสิทธิการรวมตัวและการต่อรองของแรงงาน
นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ยังเสนอไปยังภาคเอกชนในอุตสาหกรรมประมงไทยให้เข้ามามีบทบาทในการปกป้องสิทธิแรงงานมากขึ้น ส่งเสริมการจ้างงานอย่างเป็นธรรม จ่ายค่าจ้างอย่างเหมาะสม ยุติการเก็บค่านายหน้าจากแรงงาน เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยบนเรือให้มีสูงขึ้น เปิดโอกาสให้แรงงานเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะที่ภาคเอกชนที่เป็นผู้ซื้ออาหารทะเลในต่างประเทศก็ควรสนับสนุนผู้ส่งออกที่ให้ความสำคัญกับอาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนเช่นกัน
ประมงไม่ยั่งยืนทำสูญลูกปลาเศรษฐกิจกว่า 74 ชนิด กระทบเศรษฐกิจ 145 ล้านบ./ปี
ด้านนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดผลวิจัยอีกชิ้น หัวข้อ “ความสูญเสียของท้องทะเลไทยจากการทำประมงไม่ยั่งยืน” ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจของการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยพบว่า การทำประมงด้วยอวนลากและอวนล้อมปั่นไฟกลางคืนสร้างความเสียหายอย่างมากต่อทะเลไทย เพราะอวนทั้ง 2 ประเภทเป็นเครื่องมือหลักในการจับลูกปลาเศรษฐกิจไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์จำนวนมาก แทนที่จะปล่อยให้โตเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงกว่า 145 ล้านบาท
การสำรวจเลือกทำในช่วงเดือนธันวาคม2560-มกราคม 2561 ช่วงที่ไม่ค่อยมีปลา จากตัวอย่างที่ท่าเรือสงขลาจากการประมงอวนลาก เพื่อดูสัดส่วนปลาเศรษฐกิจในปลาเป็ดที่จะนำไปใช้ทำอาหารสัตว์พบว่า ในตัวอย่าง 409 กิโลกรัม เป็นปลาเศรษฐกิจ 31% และในจำนวนนี้เป็นปลาขนาดเล็ก 65% และเป็นปลาเศรษฐกิจลูกวัยอ่อน 35% ประเมินได้ว่า ในทุก 1 ตันหรือ 1,000 กิโลกรัมของการทำประมง จะมีการทำลายปลาเศรษฐกิจวัยอ่อนไปถึง 109 กิโลกรัม
“จากการแยกว่าเป็นปลาอะไรบ้าง พบว่า เป็นลูกปลาเศรษฐกิจมากกว่า 74 ชนิด เช่น ปลาทู ปลากระพง ปลาอินทรี ปลาจะละเม็ด ปลาเก๋า เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยจะต้องทำ EHIA เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการทำประมงโดยจับลูกปลาวัยอ่อน ถ้ายังไม่เร่งแก้ปัญหา เราเป็นห่วงว่าทรัพยากรทางทะเลไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งได้รับความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ”
อย่างไรก็ดีรายงานฉบับสมบูรณ์ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ซึ่งหากสมบูรณ์แล้วจะมีการเผยแพร่ให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจต่อไป
เปิดตัวภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมฯ-สมาชิก 10 องค์กรภาคสนาม 5 องค์กรสนับสนุน
นายบรรจง นะแส นายกสมาคมสรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ยังถือเป็นการเปิดตัวต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการของ “ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน” (CSO Coalition for Ethical and Sustainable Seafood) ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาสังคมทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อร่วมทำงานแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมประมงไทย ประกอบด้วยสมาชิก 10 องค์กรภาคสนามและอีก 5 องค์กรสนับสนุน
นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
สำหรับ 10 องค์กรภาคสนามได้แก่ มูลนิธิส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) ,ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล,เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ, มูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนา,มูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, มูลนิธิรักษ์ไทย,สมาคมรักษ์ทะเลไทย,สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย,มูลนิธิอันดามันและมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ส่วนอีก 5 องค์กรสนับสนุนได้แก่ องค์การอ็อกแฟมแห่งประเทศไทย,กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ,Freedom Fund และ GLPH องค์กรด้านกฎหมาย
“การทำงานของภาคีเครือข่ายฯ เราจะเน้นไปที่การใช้ข้อมูล งานวิจัย และหลักฐานที่เชื่อถือได้ต่างๆ เพื่อผลักดันให้ภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศสานต่อการแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมในอุตสาหกรรมประมงไทยอย่างจริงจังมากขึ้น โดยให้คำนึงถึง สัตว์น้ำวัยอ่อนเพิ่มขึ้น
เราอยากให้คนไทยทุกคนกล้าพูดได้เต็มปากว่าอาหารทะเลไทยเป็นอาหารทะเลที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย และไม่ได้ถูกผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของแรงงานที่ถูกกดขี่”