IFEC ค้านกรมพัฒนฯรับจดทะเบียน
กรรมการไอเฟคใหม่-อาจขัดข้อกม.
ผู้บริหารIFEC แถลงการณ์คัดค้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการ IFEC หลังพบข้อสงสัยว่า อาจจะกระทำผิดกฎหมายหลายประการ เกรงหากปล่อยดำเนินการต่อไปจะสร้างปัญหายืดเยื้อแก่IFEC
นายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC และ นายประสิทธิ วงศาสวัสดิ์ ทนายความ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีกรรมการคนหนึ่งของบริษัท ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนกรรมการบริษัทออกจากตำแหน่ง 6 คนจากเดิมที่มีอยู่ 9 คนตามหนังสือรับรอง ทำให้กรรมการฯเหลือเพียง 3 คน เมื่อวันที่ 3 พ.ค 2561 โดยอ้างว่าเพื่อให้ข้อมูลทางทะเบียนบริษัทถูกต้อง นอกจากนั้น ยังได้ยื่นคำร้องขอถอนคำขอจดทะเบียนกรรมการเข้าใหม่อีก 4 คนที่ยื่นเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2560 ซึ่งเป็นคำขอจดทะเบียนกรรมการเข้าใหม่ที่ได้ค้างคาอยู่ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามานาน สาเหตุเพราะมีการโต้แย้งคัดค้านการขอจดทะเบียนมาโดยตลอด ต่อมาในวันที่ 17 พ.ค. 61 กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากลับรับจดทะเบียนกรรมการออก 6 คน ทำให้เกิดข้อน่าสงสัยเคลือบแคลงในการยื่นขอจดทะเบียน กล่าวคือ
ประการแรก แบบฟอร์มคำขอจดทะเบียน(บมจ. 101) มี 2 ฉบับ กรมพัฒนฯรับจดเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2561 เหมือนกัน แต่มีข้อความแตกต่างกัน โดยฉบับแรกลงวันที่มีมติที่ประชุมว่าคือวันที่ 2 พ.ค. 2560 แต่อีกฉบับไม่มีลงวันที่ แต่ทั้ง2 ฉบับมีลายมือชื่อนายทะเบียนลงไว้ จึงสงสัยว่า ฉบับใดเป็นของจริง ฉบับใดเป็นเท็จ
ประการที่สอง นายทะเบียนผู้รับจดกับผู้รับรองลายมือชื่อกรรมการเป็นคนๆเดียวกัน ซึ่งผิดวิสัยปกติที่ ผู้รับรองลายมือชื่อมักเป็นทนายความ
ประการที่สาม หนังสือขอถอนคำขอจดทะเบียนกรรมการใหม่เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงขอคัดสำเนาไม่ได้ และไม่มีการรับรองสำเนา อีกทั้ง กรมพัฒน์ฯจะมีคำสั่งอย่างใรในคำขอถอนนี้
ประการที่สุดท้าย การเร่งรีบในการจดทะเบียนกรรมการเอารายชื่อกรรมการออก จุดประสงค์เพื่อให้กรรมการเหลือ 3 คนจนไม่ครบองค์ประชุม ทำให้เกิดข้อขัดข้องในการบริหารจัดการกิจการIFEC
นายศุภนันท์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่IFECต้องรีบเร่งดำเนินการ คือการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดต่อบริษัททั้งทางแพ่งและทางอาญาเพื่อเงินและทรัพย์สินของบริษัทกลับคืนมา เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของบริษัท ดังนั้นการที่มีผู้ไปขอจดทะเบียนกรรมการออกจนเหลือ 3 คน จึงเป็นการทำให้บริษัทเดินต่อไปอย่างลำบาก เพราะจะมีปัญหาเรื่องอำนาจกรรมการติดตามมา
“เราควรแก้ปัญหาให้ถูกจุดและถูกต้องด้วยข้อบังคับบริษัทที่มีกฎหมายรับรอง หากทำแค่ตามที่คิดหรือแค่อยากจะทำ อาจจะสร้างปัญหาซ้ำซ้อนเพิ่มเติมให้IFEC อีก เกิดการฟ้องร้องกันไปมาไม่จบ ทำให้แก้ปัญหาไม่จบสิ้นบริษัทก็เดินต่อลำบาก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอเฟค กล่าว