สกว.มอบรางวัล14ผลงานวิจัยเด่น
ชูนักวิจัย “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”
สกว.จัดพิธีมอบรางวัล 14 ผลงานวิจัยเด่นที่มีผลกระทบสูง พร้อมต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ ชี้นักวิจัยจะต้องเป็น ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ ในมิติที่เปิดกว้างไร้ขีดจำกัด ขณะที่ สกว. ต้องพร้อมฝ่าฟันต่อสิ่งท้าทาย ย้ำความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะเป็นแรงหนุนเสริมให้ประเทศพัฒนาบนฐานความรู้ต่อไป
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงาน “พิธีมอบรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2560” ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยมี พล.อ.อ. ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่นักวิจัยที่มีผลงานดีเด่นและนำไปใช้ประโยชน์ในด้านวิชาการ ด้านพาณิชย์ ด้านชุมชนและพื้นที่ และด้านนโยบาย มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “สกว. 4.0 งานวิจัยไร้ขีดจำกัด” ว่าในยุคอุตสาหกรรม 4.0 เราต้องอาศัยเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เกี่ยวข้องถึงกันหมด เป็นตัวเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือกลยุทธ์ให้ทันต่อสถานการณ์โลกและสิ่งแวดล้อมในโลกไร้พรมแดน ทุกคนจึงต้องมีความพร้อมเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้
“นักวิจัยทุกคนต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง วิถีดั้งเดิมจะต้องพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้และปัญญาเพื่อสร้างนวัตกรรม แต่หัวใจสำคัญของการเป็นผู้นำนั้นต้องคำนึงถึง 1. ต้องพร้อมเสมอต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งเร็วและช้า เข้าถึงเทคโนโลยีในบริบทต่าง ๆ มีวิสัยทัศน์ในการมองอนาคต สร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ 2. มีขีดความสามารถและสมรรถนะในการเป็นผู้ประสานงาน มีความร่วมมือกับหน่วยงานผู้ให้ทุนและเครือข่ายวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่กับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม 3. สามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ใช้เครื่องมือ งบประมาณ และการบริหารจัดการอย่างคุ้มค่า นักวิจัยจึงต้องศึกษาเรียนรู้และปรับตัวเองให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม”
สกว. 4.0 งานวิจัยไร้ขีดจำกัด จึงทำอย่างไร้ทิศทาง วัตถุประสงค์ ไม่หวังผลตอบแทนไม่ได้ เราต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ให้เกิดความท้าทายในการแก้ปัญหา เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และนำมาใช้ในกระบวนการที่ดีที่สุดก่อนนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นงานวิจัยจึงไม่ได้ตีกรอบหรือห้ามการใช้สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่หรือสะสมกันมา ต้องสามารถต่อยอด คิดค้นขึ้นใหม่ จะทำคนเดียวหรือเป็นทีมก็ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ นำไปแก้ปัญหาสังคมชุมชนหรืออุตสาหกรรมได้ มีมิติที่เปิดกว้างในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไรขีดจำกัด สกว.ต้องแสดงความพร้อมในการฝ่าฝันต่อสิ่งท้าทาย โดยมีงานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ ที่ตอบโจทย์ของประชาชนและประเทศชาติสู่ประเทศไทย 4.0 รวมถึงผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และลดความเหลื่อมล้ำของสังคมให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากขึ้น
ขณะที่ ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อมุ่งสู่การเป็น “ประเทศไทย 4.0” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรม และส่งเสริมให้เกิดการใช้ผลงานวิจัยในทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาคนให้มีความรู้อย่างทั่วถึง และสร้างความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งปัจจุบันและในอนาคต ดังนั้น “ความรู้” จึงเป็นฐานสำคัญที่จะนำประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สกว.เห็นความสำคัญในส่วนนี้จึงได้สนับสนุนผลงานวิจัยในศาสตร์ทุกแขนง พัฒนานักวิจัยทุกระดับ รวมทั้งผลักดันความรู้จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ทุกด้าน โดยแต่ละปี สกว.มีผลผลิตจากงานวิจัยจำนวนมากซึ่งล้วนแต่มีคุณค่า
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลมี 14 ผลงาน จาก4 ด้าน ประกอบด้วย ผลงานวิจัยเด่นด้านนโยบาย จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่ 1) การขยายโอกาสธุรกิจเนื้อโคไทย โดย รศ. ดร.จุฑารัตน์ เศรษฐกุล 2) ภาษีเงินได้เป็นธรรมหรือไม่ ศ. ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) การวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางไทยระดับระหว่างประเทศ ผศ. ดร.สุภา วิรเศรษฐ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 4) มาตรการในการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย ศ. ดร.อุดม รัฐอมฤต
ผลงานวิจัยเด่นด้านพาณิชย์ จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ 1) เครื่องล้างเกลือในแมงกะพรุนดอง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย อ.สมัคร รักแม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 2) จ่าเฉยอัจฉริยะพร้อมระบบออกใบสั่งอัตโนมัติ ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
ผลงานวิจัยเด่นด้านชุมชนและพื้นที่ จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่ 1) การแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตคนพิการ ครอบครัว สังคม อย่างยั่งยืน นางพัชราภรณ์ ชนภัณฑารักษ์ มูลนิธิเพื่อพัฒนาคนพิการ 2) การพัฒนาทุนชุมชนสู่ทุนทางเศรษฐกิจของชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวปัตตานี น.ส.สุวิมล พิริยธนาลัย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นอ่าวปัตตานี 3) งานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำหมัน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ผศ. ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 4) สร้างความเข้มแข็งและความมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่อการจัดการปัญหาหมอกควัน ผศ. ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผลงานวิจัยเด่นด้านวิชาการ จำนวน 4 ผลงาน 1) สืบจากซาก รศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 2) นวัตกรรมสารเลียนแบบสารพันธุกรรมและการประยุกต์ใช้ ศ. ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) เมลาโทนินและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อชราภาพของสมองและโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ศ. ดร.ปิยะรัตน์ โกวิทตรพงศ์ สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ 4) องค์ความรู้ใหม่ทางเคมีวิเคราะห์เพื่อนวัตกรรมทางการตรวจวัด ศ. ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย