วช.จัดเวทีเรียนรู้ “ธนาคารปูม้า”
คืนปูม้าสู่ทะเลไทย ตรัง-ใกล้เคียง
วช.ผนึกหน่วยงานพันธมิตร จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ธนาคารปูม้า” ณ อาคารเรียนรุ้ชุมชนบ้านน้ำราบ หมู่ที่ 4 ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ ฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าอย่างยั่งยืนโดยมีดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบป้ายธนาคารปูม้าและร่วมปล่อยลูกปูม้าคืนสู่ทะเล ชี้ตามมติครม.เดือนมีนาคมมุ่งฟื้นฟูลูกปูม้าทั้ง 2 ฝั่งทะเลไทยให้ได้รวม 500 ชุมชนภายใน 2 ปี เริ่มนับหนึ่งจากพื้นที่จ.ตรัง หลังปูม้าและผลิตภัณฑ์จากปูม้าซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปีร่อยหรอลง ผลจากการทำประมงในปริมาณที่เกินกำลังผลิตของธรรมชาติ โดยประยุกต์องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นและการวิจัย ของหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าและพัฒนาแก้ไขความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในท้องทะเล นำสู่การสร้างรายได้ของชาวบ้านและชุมชนเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสนอขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนบริเวณชายฝั่งของประเทศรวม 500 ชุมชนในเวลา2 ปี และได้มอบหมายให้เป็นหน่วยงานบูรณาการหลัก ร่วมกับหลายหน่วยงานในการดำเนินการนำองค์ความรู้จากผลการวิจัยและนวัตกรรมเดิมมาต่อยอดหรือวิจัยเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูม้าก่อนปล่อยคืนสู่ทะเล และขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างเหมาะสม ตลอดจนการสนับสนุนการตลาดในทุกรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าอันจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน
ทั้งนี้หน่วยงานพันธมิตรภาครัฐที่ได้รับมอบหมายมาร่วมมือกันในการขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ อย่างรวดเร็วตามมติครม. ประกอบด้วย วช. กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ธนาคารออมสิน บริษัทประชารัฐรักสามัคคีในพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริษัทไปรษณีย์ไทยและกระทรวงพาณิชย์ โดยร่วมมือกับภาคประชาชน ชุมชนในท้องถิ่น
“ปัจจุบันมีชุมชนอยู่ใน 2 ฟากฝั่งทะเลไทยอยู่ประมาณ 4,000 ชุมชน มีทำธนาคารปูม้าแล้วประมาณ 200 ชุมชน ตั้งเป้าจะทำเพิ่มอีกให้ได้รวม 500 ชุมภายใน 2 ปีหรือเพิ่มอีกประมาณ 12% ปีแรกเพิ่มอีก 150 ชุมชนเป็น 350 ชุมชน ปีที่ 2 อีก 150 เป็น 500 ชุมชน ซึ่งจะทำต่อไปอย่างต่อเนื่องเพื่อหวังฟื้นทรัพยากรปูม้าให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมในอนาคต หากไม่ทำปูม้าจะลดลงไปเรื่อย ๆ โดยปีที่ถือว่าดีที่สุดคือ 2552 นับปูม้าได้มากถึง 40,000 ตัน แต่ได้ลดลงมาเรื่อย ๆ เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้วเหลือเพียงประมาณ 20,000ตัน
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนด้วย โดยพบว่าหลังจากทำธนาคารปูม้าแล้วประชาชนมีรายได้ประมาณวันละ 3,000 บาท/คนหรือครอบครัว ขณะที่ชุมชนมีรายได้เฉลี่ย 4 ล้านบาท/ชุมชน/เดือน”
ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายผลธนาคารปูม้า ในระดับพื้นที่ให้มีการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน มีการบูรณาการความร่วมมือและให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขยายผล ธนาคารปูม้า และเพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และกระตุ้นความสนใจในการขยายผลธนาคารปูม้า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับพันธมิตรและเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ จัด “การประชุมเครือข่ายขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง” ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2561 ณ อาคารเรียนรุ้ชุมชนบ้านน้ำราบ หมู่ที่ 4 ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมมอบนโยบาย และมอบป้ายธนาคารปูม้าแก่ผู้แทนเครือข่ายธนาคารปูม้า 10 อำเภอ
พร้อมกันนี้ ดร.กอบศักดิ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบต้นหญ้าทะเลจากนายบรรจง นฤพรเมธี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด(บ่อหินฟาร์มสเตย์) ศูนย์เรียนรู้ธนาคารต้น หญ้าทะเลและธนาคารปูม้า ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ด้วย ก่อนส่งมอบต่อแก่เลขาธิการวช.และนายศิริพัฒน์ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการปลูกหญ้าทะเล เพื่อเป็นอาหารของสัตว์น้ำและปูม้า เป็นห่วงโซ่ทะเลที่ยั่งยืนและนำสู่การมีทรัพยากรปูม้าและสัตว์ทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป
ขณะเดียวกัน ในการจัดประชุมเครือข่ายขยายผลธนาคารปูม้าฯ ในครั้งนี้ยังได้มีการระดมความคิดเห็น เรื่อง “ปัจจัยต่อความสำเร็จของการเพิ่มปริมาณปูม้า และการสร้างธนาคารปูม้าชุมชน ในมุมมองกลุ่มประมง” รวมถึงการแบ่งกลุ่มระดมความคิด “บทเรียนความสำเร็จ ข้อเสนอแนะ และแนวทางการขยายผลธนาคารปูม้าชุมชน” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการขยายผลเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเกิดการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของธนาคารปูม้าจนเกิดการนำไปขยายผลในพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป
นายบรรจง นฤพรเมธี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด(บ่อหินฟาร์มสเตย์) ศูนย์เรียนรู้ธนาคารต้น หญ้าทะเลและธนาคารปูม้า ตำบลบ่อหิน เปิดเผยว่า ประชาชนในพื้นที่ อ.บ่อหิน จ.ตรัง มีอาชีพเกษตรกร ทำสวนยางและทำประมงพื้นบ้าน ใช้เรือขนาดเล็กทำประมงไม่เกิน5 กม.จากชายฝั่งในบริเวณอ่าวสิเกา มีปลาหลายชนิด เช่น ปลาทราย ปลากระบอก ปลาทู หมึกหอม กระดอง นอกจากนี้ยังมีปูม้า ซึ่งถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง
ทั้งนี้เดิมในเขตอ่าวสิเกามีปูม้าอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นแนวหญ้าทะเลประมาณ 33,000 ไร่ แต่ลดน้อยลงแล้วเหลือราว 27,000ไร่ แต่การทำประมงปูม้า ใช้อวนและลอบในการจับกันมากเกินไป ทำให้ถึงจุดที่มีปูไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ปูหาได้ยากขึ้น ต้องใช้เวลานานขึ้น ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตปูม้าในช่วงปี 2535-2540 สามารถจับปูม้าได้1-2 กก.ต่ออวน1 หัว ชาวบ้านมีรายได้อยู่ได้อย่างสบายๆ เพราะเรือแต่ละลำซึ่งใช้อวน3 หัวจะจับปูได้ 4-5กก. แต่ในช่วงวิกฤต จับได้เพียง 1 กก.ต่ออวน 3 หัว นอกจากจับได้น้อยแล้ว ปูหายากขึ้นจากที่เคยจับได้ทั้งปีและอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่ง
จากเหตุดังกล่าวเป็นที่มาของการพยายามฟื้นฟูปูม้า โดยร่วมมือกันทำในชุมชนก่อน และเรียนรู้การทำธนาคารปูม้าจากพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ เช่น ที่จ. ชุมพร ควบคู่กับการปลูกหญ้าทะเล โดยทำมาต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปีแล้ว
“ผลของการดำเนินการดังกล่าว ช่วยฟื้นความสมบูรณ์ของทรัพยากรในทะเล โดยเฉพาะปูม้าแม้จะไม่เหมือนเดิม 100% โดยปูม้าฟื้นมา50% วัดจากปริมาณเรือประมงปูม้า ที่เดิมในหมู่บ้านมีอยู่ประมาณ 400 ลำ แต่เหลือเพียง 30-40 ลำในช่วงวิกฤต เวลานี้มีประมาณ 200 ลำ”
ภายในการจัดงานครั้งแรกของโครงการนี้ มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก มีการนำผลงานธนาคารปูม้าให้ชม พร้อมด้วยการนำเสนอผลงานธนาคารปูม้าของภาคเอกชน อีกทั้งมีการออกร้านชุมชนเพื่อนำผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงมาจำหน่ายจำนวนมาก รวมถึงด้านการเกษตร ด้านหัตถกรรมผ้าที่มีลวดลายสวยงามและด้านท่องเที่ยวชุมชน
หลังเสร็จเวทีระดมความคิดเห็นแล้วรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้เดินทางไปปล่อยปูม้าสู่ทะเลจำนวน 5,000,000 ตัว
จากนั้นในช่วงบ่าย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์พร้อมคณะจากวช. ชุมชนและสื่อมวลชน ได้ไปร่วมกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลต่อ ที่บริเวณชายหาด หาดคลองสน อ.กันตรัง จ.ตรัง