มหกรรมพิพิธภัณฑ์เกษตร2018
“AGRI’ MUSEUM EXPO 1-3 มิ.ย.”
พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ นวนคร ปทุมธานี จัดใหญ่งาน มหกรรม “พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ 2018 Agri’ Museum Expo รื่นเริง เบิกบาน สืบสานเกษตรไทย” ระหว่างวันที่ 1 – 3 มิถุนายน 2561 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 20.00 น. สืบสานตำนานเกษตรไทย จากพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ และศูนย์การเรียนรู้กว่า 30 แห่ง ทั่วประเทศ อัดแน่นด้วยกิจกรรมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมวิถีเกษตรของไทย ของเล่นพื้นบ้านวิถีเกษตรไทย 4 ภาค อาหารพื้นบ้านพื้นถิ่น เรียนรู้และสัมผัสวีถีชีวิตเกษตรไทยทั้ง 4 ภาค ผ่านนิทรรศการมีชีวิตหลากหลายรูปแบบ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน เสวนาภาษาพิพิธภัณฑ์และการจัดการดูแลวัตถุชิ้นงาน อีกทั้งจัดแสดง อบรมวิชาของแผ่นดินอบรมเชิงปฏิบัติการ ไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดทั้ง 3 วัน กว่า 20 วิชา ชี้ปีนี้เน้นกลุ่มเป้าหมายเพิ่มพิเศษเป็น “ผู้สูงวัย” เพื่อนำเสนอทำเกษตรเบา ๆ ยามว่าง พืชผักสวนครัว ไม่ต้องซื้อหา ส่วนกลุ่มหลักยังคงเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป คาด3 วัน มีผู้เข้าชมงานประมาณ 20,000 คน
นายสหภูมิ ภูมิธฤติรัฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้พระอัจฉริยภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้านการเกษตร ภูมิปัญญา นวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรไทยในมิติต่างๆ ที่มีชีวิตและทันสมัย เชื่อมโยงขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคการเกษตรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ
โดยการจัดงาน มหกรรม “พิพิธภัณฑ์เกษตรฯ 2018 Agri’ Museum Expo รื่นเริง เบิกบาน สืบสานเกษตรไทย” ในครั้งนี้ เน้นการขับเคลื่อนเชื่อมโยงพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลากหลายแขนงวิชา โดยเฉพาะด้านเกษตร วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญา และเทคโนโลยี จากพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ชั้นนำของประเทศไทย อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกาญจนาภิเษก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุพรรณบุรี มิวเซียมสยาม ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านของพ่อ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษากรุงเทพฯ และศูนย์เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ทั่วประเทศ เป็นต้น
“การจัดงานในครั้งนี้เป็นการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความสามารถของพระองค์ทางด้านการเกษตร ครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษเพราะเป็นเดือนของการสถาปนาก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์ จึงจัดมหกรรมนี้ขึ้น เชิญพิพิธภัณฑ์ที่เป็นพี่น้องกันมาออกร้านเพื่อแสดงถึงเรื่องการเกษตร ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการเสวนาด้านการเกษตร เช่น เกษตรกรรมก่อนประวัติศาสตร์ที่โนนวัด หัวข้อ “เกษตรกรรมบ้านโนนวัด 6 พันปี ชัวร์หรือมั่วนิ่ม” โดย ผศ.ดร.วรชัย วิริยารมภ์ ซึ่งที่เป็นเกษตรกรรมของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เราค้นพบว่า เป็นการทำเกษตรกรรมที่ชัดเจนค่อนข้างมาก ทั้งเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ จะเป็นตำนานทำให้ศูนย์เรียนรู้ที่มาร่วมงานกับเราในครั้งนี้ได้เรียนรู้นำไปประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตการเติบโตของพวกเขาได้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งของพื้นบ้านต่าง ๆ ศูนย์เรียนรู้ที่มาร่วมงานในครั้งนี้เขาจะทำศูนย์เรียนรู้คล้ายพิพิธภัณฑ์ เช่น เครื่องมือทำการเกษตร เครื่องมือจับสัตว์ ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่เราไม่เคยรู้ว่ามี เช่น พิพิธภัณฑ์อาวุธโบราณ ที่เอาไว้ใช้ในยามสงคราม แต่ในยามไม่มีสงครามก็เอามาใช้ในการเกษตร
บางแห่งเขาอาจไม่มีความรู้เรื่องการดูแลรักษา ซึ่งครั้งนี้เราเชิญวิทยากรที่มีความรู้เรื่องการอนุรักษ์มา ให้ความรู้ เมื่อเขามาอบรมก็สามารถนำความรู้ไปใช้ได้ มีเรื่องการจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งเมื่อเขามาอบรมก็สามารถเอาหลักในการจัดแสดงนิทรรศการไปประยุกต์ใช้ได้ในการจัดแหล่งเรียนรู้ และพิพิธภัณฑ์ของเขา เพิ่มบทบาทหน้าที่จากแหล่งเรียนรู้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้
ขณะเดียวกันการที่เครือข่ายมาร่วมกันจัดงานครั้งนี้จะช่วยในเรื่องการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อไปจะจับมือร่วมมือกันในเรื่องการเผยแพร่ ใครมาพิพิธภัณฑ์ที่นี่จะได้รู้เรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ที่อื่นด้วย หรือใครไปดูพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเครือข่ายก็จะได้เรียนรู้เรื่องราวของพิพิธภัณฑ์เกษตรด้วย”
ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯยังกล่าวอีกว่า ประชาชนที่มาเที่ยวชมในงานจะได้ความรู้หลายอย่าง นอกจากเรื่องของพิพิธภัณฑ์แล้วยังได้วิชาของแผ่นดิน ประชาชนจะได้เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ การทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกษตร โดยครั้งนี้มีเรื่อง ครองแครงกรอบ การเลี้ยงปลาช่อนในบ่อซีเมนต์ การทำกังหันผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะให้ความรู้อย่างเปิดเผย เป็นคอร์สสั้น ๆ ที่สามารถเรียนรู้ภายในระยะเวลาสั้นและนำไปประกอบอาชีพได้
“ส่วนเป้าหมายหลักของการจัดงานในปีนี้ นอกจากมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็น นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปแล้ว ตอนนี้ขยายมาเป็นกลุ่มผู้สูงอายุด้วย ซึ่งจะมีให้ความรู้การเกษตรสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่บ้านว่าง ๆ ให้มีการทำเกษตรง่าย ๆ เช่น พืชผักสวนครัว พืชกินได้ที่ไม่ต้องไปซื้อ”
ทั้งนี้ทางพิพิธภัณฑ์จัดงานขนาดย่อม ๆ เฉพาะเสาร์-อาทิตย์เป็นประจำอยู่แล้ว โดยมีเครือข่ายมาขายสินค้าและให้ความรู้แก่ประชาชน แต่งานมหกรรมใหญ่จัดปีละ 4 ครั้ง ในช่วงโอกาสสำคัญ ๆ เช่น ครั้งนี้จัดเนื่องจากเป็นเดือนสถาปนา ช่วงวันที่ 5 ธันวาคม ปีนี้อาจเพิ่มวันที่ 13 ตุลาคม และเดือนเมษายน ช่วงสงกรานต์ ส่วนการจัดงานมหกรรมครั้งล่าสุดนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 20,000 คนในการจัดงานเป็นเวลา 3 วัน
“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่สนใจในเรื่องของงานพิพิธภัณฑ์และงานเกษตรมาเที่ยวชมงานนี้ได้ในวันที่ 1-3 มิถุนายน มางานเดียวได้ 2 เรื่อง ทั้งเรื่องพิพิธภัณฑ์และเกษตรกรรม”