วสท. ค้านต่างด้าวทำวิศวกรรมโยธา
ชี้กระทบโครงสร้างเศรษฐกิจรายได้ปท.
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ไม่เห็นด้วยกรณีกระทรวงแรงงานจะประกาศให้คนต่างด้าวทำอาชีพวิศวกรรมโยธาได้ โดยอ้างว่าเพื่อบรรเทาการขาดแคลนแรงงานซึ่งจะประกาศเป็นกฏกระทรวงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 วสท.ย้ำว่าจะสร้างความเสียหายอย่างยิ่งต่อชีวิตความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน เศรษฐกิจและรายได้ของประเทศ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะปล่อยให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานด้านวิศวกรรมโยธาของประเทศตนอย่างเสรี วสท.ขอเสนอแนะสิ่งที่ถูกต้องแก่กระทรวงแรงงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศไทย
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า ตามที่ กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน ได้แถลงข่าวว่า กำลังเตรียมออกประกาศให้คนต่างด้าวทำได้ 12 อาชีพ ซึ่งรวมถึงงานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธาโดยอ้างว่าเพื่อบรรเท่าการขาดแคลนแรงงาน โดยยึดหลัก 3 ประการ ต้องไม่เป็นภัยความมั่นคง ไม่กระทบการมีงานทำของคนไทย และจะอนุญาตเท่าที่จำเป็นนั้น วสท.ซึ่งเป็นองค์กรเสาหลักด้านวิศวกรรมของประเทศมากว่า 75 ปี ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการประกาศของกระทรวงแรงงาน เนื่องจากส่วนราชการยังขาดความเข้าใจในงานวิศวกรรมโยธาซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติตลอดมา ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เนื่องจากงานวิศวกรรมโยธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาโครงการเมกะโปรเจค โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ขนส่งและโลจิสติกส์ สิ่งปลูกสร้าง อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่อยู่อาศัยมากมาย ล้วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและใช้เทคโนโยลีระดับสูงอย่างหลากหลาย การที่เปิดให้วิศวกรต่างชาติเข้ามาได้อย่างง่ายดาย แบบที่กระทรวงแรงงานประกาศ เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิต และทำลายเศรษฐกิจของประเทศไทย จะก่อให้เกิดการเสียประโยชน์จากการจ้างงานวิศวกรคนในประเทศ การปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาทำงานวิศวกรรมโยธาได้โดยเสรีส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของเมือง และประเทศชาติ เพราะตึกหรือโครงการที่สร้างเสร็จแล้วไม่สามารถที่จะเห็นถึงภายในได้ว่าเขาใช้วัสดุก่อสร้าง เหล็กเส้นมีคุณภาพเพียงพอหรือไม่ หรือได้มีกระบวนการก่อสร้างตามขั้นตอนมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่
ทั้งนี้ ดร.ธเนศ เน้นย้ำว่า วสท.ขอสงวนงานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบ และคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการ ทดสอบ ควบคุม การก่อสร้างและให้คำแนะนำ สำหรับคนไทยเท่านั้น หากต่างด้าวจะเข้ามาทำงานในลักษณะดังกล่าว ต้องผ่านขั้นตอนขออนุญาตตามกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และพระราชบัญญัติวิศวกร 2542 ทั้งนี้ไม่รวมงานที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า แต่เดิมทีนั้นมีการสงวนอาชีพวิศวกรรมโยธาไว้สำหรับคนไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 และต่อมากระทรวงแรงงานได้ออกประกาศเป็นอาชีพสงวนไว้สำหรับคนไทยตามพระราชกฤษฎีการกำหนดในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 ได้กำหนดบัญชีอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ทั้งนี้ ในนานาประเทศถือว่างานวิศวกรรมโยธาเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญในภูมิสัญฐานของประเทศ (Locality) ไม่ไช่ปล่อยใครมาทำก็ได้หรือปล่อยให้คนต่างด้าวมาดำเนินงานวิศวกรรมโยธา ศักยภาพของวิศวกรโยธาและอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยนั้น มีความเจริญก้าวหน้าและใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีประสบการณ์และสร้างผลงานด้านวิศวกรรมและสิ่งปลูกสร้าง เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนจำนวนวิศวกรโยธาของประเทศไทยก็มีจำนวนเพียงพอและความสามารถสูง ไม่เพียงงานในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งออกงานก่อสร้างไปยังต่างประเทศและเป็นที่ยอมรับในคุณภาพและประสิทธิภาพเป็นอย่างดี
คุณสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข อุปนายวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า งานวิศวกรรมโยธาและอุตสาหกรรมวัสดุและการก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ Supply Chain ยาวมากและเกี่ยวข้องกับการผลิตหลายภาคส่วน ตั้งแต่ส่วนผสม วัสดุ เหล็ก ปูน วัสดุก่อสร้าง นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย การที่ปล่อยให้วิศวกรรมโยธาต่างชาติเข้ามาทำงาน จะเป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละกว่า 2 ล้านล้านบาท
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ อดีตเลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า การปลดล็อค 12 อาชีพสงวนคนไทย เริ่มมีกระแสข่าวตั้งแต่ช่วงวันที่ 26 กันยายน 2560 จากประเด็นการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง หลังจากนั้นก็มีการประชุมเรื่องนี้อีก ซึ่งคราวนี้ได้มีการระบุยกเลิก 39 อาชีพ จนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ประกาศยกเลิก 10 อาชีพสงวนให้ต่างด้าวทำงานได้ จนล่าสุดกลายเป็น 12 วิชาชีพโดยหนึ่งในนั้นมีวิศวกรรมโยธาเพิ่มเข้ามา ซึ่งการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมาไม่เคยระบุวิชาชีพวิศวกรรมโยธามาก่อนเลย ขณะเดียวกัน การประชุมแต่ละครั้ง วิชาชีพวิศวกรรมไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
อีกทั้งในภาวะที่โลกเผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติและภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์บ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟไหม้ ดินสไลด์ งานวิศวกรรมโยธาโดยวิศวกรไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและป้องกันความรุนแรงของอุบัติภัยเหล่านี้