แซบนัว… ทัวร์เมืองสะเรน..สุรินทร์
ชิวๆ…ลิ้มลองของถิ่นในตำนาน
เมืองสุรินทร์ หรือ “สะเรน” ในภาษาถิ่น เมืองที่มากไปด้วยคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม วินาทีแรกที่อิชั้นก้าวเท้าลงจากรถ เหมือนต้องมนต์ให้หลงเสน่ห์กับเมืองเล็กๆน่ารักแห่งนี้ คุ้มค่า ดีต่อใจมากมายที่มีโอกาสได้มาเยือน
…อิชั้นเริ่มทริปการเดินทางเช้าวันแรกด้วยการไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่วนอุทยานพนมสวาย ที่ๆอดีตเคยเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิท แต่ปัจจุบันคือ แหล่งท่องเที่ยวทางพุทธศาสนา ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์ “พนมสวาย” เป็นคำภาษาพื้นเมืองของชาวสุรินทร์ มีความหมายว่า ภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาบัว อำเภอเมือง และตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาสวาย มีพื้นที่ทั้งหมด 18,145 ไร่ ได้รับการประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2527
ทุกปีในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ชาวเมืองสุรินทร์จะชวนกันเดินขึ้นเขาพนมสวาย จนเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำสืบทอดกันมาเพื่อเป็นสิริมงคลต่อตนเอง
เหมือนฟ้าจะเป็นใจ แดดร่ม ลมเย็นๆโชยมาเป็นระยะๆ ทำให้อิชั้นเดินขึ้นบันไดได้แบบชิวๆ ชมวิวไป เคาะระฆังไป แปลกจริงทำไมอิชั้นไม่รู้สึกเหนื่อยรึเมื่อยแม้แต่น้อย อิชั้นใช้เวลาอยู่ที่นี่ไม่นานนัก เพราะจุดหมายของเราในวันนี้ยังมีอะไรดีๆ และน่าสนใจอีกเยอะ
ว่าแล้ว….เราก็มุ่งหน้าสู่ หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณ “จันทร์โสมา” อิชั้นเคยได้ยินแต่ชื่อ ในใจคิดว่าก็คงจะเป็นหมู่บ้านทอผ้าไหมธรรมดาๆ แต่พอมาได้เห็นกับตา โอ้แม่เจ้า!!!ขอบอกเลยเลยนะเจ้าคะ ไม่ธรรมดาอย่างที่คิด เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้าน และเทคนิคการทอแบบขั้นเทพ อิชั้นสามารถพูดได้เลยว่าไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร ผ้าผืนนึง จะใช้คนทออย่างน้อย 3 คน บางผืนต้องใช้ 6-7 คน ขึ้นกับว่าผ้าผืนนั้นกี่ตะกอ ตะกอคือไม้ไผ่ที่ผูกเชือก ไม้ไผ่ 1 ไม้ จะทำให้เกิดลายเส้นไหม 1 เส้น
พระเจ้า! บางผืน 1,416 ตะกอ ก็ต้องใช้คนเยอะเป็นพิเศษ และที่สำคัญ ถ้าอยากจะเห็นลายผ้าในการทอ ต้องเอากระจกส่องดูจากทางด้านล่างนะเจ้าคะ อิชั้นก็ได้แต่อึ้ง กับอึ้ง แอบอดภูมิใจในความเป็นไทยไม่ได้
ถ้าจะให้อิชั้นสาธยาถึงความละเอียดงดงามก็ขอบอกเลยว่ายากมาก เอาเป็นว่าลองมาดู มาชม ให้เห็นกับตานะเจ้าคะ ว่าผ้าแต่ละผืนของที่นี่ งดงามล้ำค่าขนาดไหน สำหรับอิชั้น ขอยกนิ้วชูความสุดยอดให้เลยเจ้าค่ะ
ว่ากันถึงเรื่องสุดยอดผ้าไหมไปแล้ว คราวนี้อิชั้นต้องขอชิมอาหารพื้นถิ่นในตำนานกันสักนิด รองท้อง ก่อนลุยต่อ ว่าแล้วก็จัดกันเลยค่ะ สำหรับจานแรก “สลอตราว” อ่านว่า สะ-ลอ-ตราว
“สลอ” ในภาษาถิ่นของชาวเขมร แปลว่าแกง ส่วน “ตราว” แปลว่าเผือก นั่นคือ แกงเผือก ที่นี่นิยมใส่เนื้อปลาที่หาได้ตามชุมชน ปรุงรสชาติเพียงเล็กน้อย แต่ทว่ามีความเข้มข้น จากรสชาติของเนื้อปลา และเผือก กลมกล่อมกำลังดี
ส่วนอีกเมนูหนึ่งที่น่าสนใจคือ ” อันซอมจรุ๊ก” ข้าวเหนียวผสมถั่วลิสง ใส่เนื้อหมู และมันหมู ปรุงรสออกเค็มเล็กน้อย หอมพริกไทยอ่อนๆ ห่อด้วยใบตอง และเอาไปนึ่ง ลองลิ้มชิมรส อิชั้นว่า รสชาติจะคล้ายๆ บ๊ะจ่างของคนจีน
อืม…ยังมีอีกหลายเมนูที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น สลอเจก หรือแกงกล้วย โบ๊ะตร๊อบ หรือน้ำพริกมะเขือ อาหารถิ่นที่แซบนัว จับจิต จับใจผู้มาเยือน
หลังจากหนังท้องตึง แต่หนังตายังไม่ปิด เราก็มุ่งหน้าไปค้นหาสิ่งที่เป็นที่สุดของเมืองสุรินทร์กันต่อเลยค่ะ เราจะไปชมปราสาทที่ขึ้นชื่อว่า มีทับหลังที่งดงาม และสมบูรณ์ที่สุด นั่นก็คือ ปราสาทศีขรภูมิ
ประมาณ 30 กม. จากตัวเมือง นั่งรถยังไม่ทันหลับ อิชั้นก็มาถึงจุดหมาย
ปราสาทศีขรภูมิ ที่นี่…เป็นสถาปัตยกรรมในยุคเดียวกับนครวัด และเป็นศาสนสถานฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย องค์ปราสาทเป็นหินทรายสีชมพู บนฐานศิลาแลง องค์ปราสาทที่นี่ไม่ได้ใหญ่โตนัก ทำให้อิชั้นได้มีเวลาพินิจถึงความละเอียดงดงาม อ่อนช้อยของลวดลายทับหลังที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในเมืองไทย
ในรูป “ศิวะนาฏราช” ที่เป็นการร่ายรำของพระศิวะ และทวยเทพอีก 4 องค์ แทบไม่อยากจะเชื่อเลยคนสมัยโบราณ เค้าแกะสลักหินก้อนใหญ่ๆ โตๆ ได้ละเอียด และงดงามขนาดนี้ และตรงเสาซุ้มประตู ก็มีนางอัปสรา ยืนอ้อนแอ้น อ่อนช้อยจริง อิชั้นยอมรับเลยค่ะว่าสวย และงดงามมากๆ
หลังจากชมความงามของอารยธรรมโบราณ ต่อไปเราก็มุ่งหน้าสู่ หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้างตากลาง ในอดีตชาวบ้านตากลางเป็นชาวกูย หรือกวย หรือส่วย ที่มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า หรือจับช้างป่ามาเลี้ยง และมาฝึก เพื่อส่งไปยังพระนคร ช้างประหนึ่งเป็นสมาชิกของคนในครอบครัว
แต่ในทุกวันนี้ทางหน่วยงานราชการได้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับช้าง รวบรวมช้างในเมืองสุรินทร์กว่า 200 เชือก ให้มาอยู่ และเปิดการแสดงให้ผู้มาเยือนได้ชม ความฉลาดแสนรู้ของช้าง ทำเอาอิชั้นหลงกับความน่ารักๆของเพื่อนใหม่ ตัวใหญ่เบ่อเริ่มเทิ่ม เราได้อยู่ใกล้ชิดกับช้างมากๆ แทบไม่อยากจะไปไหนต่อ
อืม…อิชั้นได้รู้มาว่า ในวันศุกร์สัปดาห์ ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี จะมีพิธีต้อนรับช้างและบุฟเฟ่อาหารช้าง ในงานแสดงช้างเป็นประจำปี งานยิ่งใหญ่แบบนี้ อิชั้นคงต้องล็อกคิว เพื่อกลับมาที่นี่อีกครั้ง สำหรับทริปนี้…ด้วยเวลาที่มีจำกัด เป็นอันต้องโบกมือบ๊าย…บาย ช้างเพื่อนแก้วแสนน่ารักนี้ซะแล้ว
สำหรับทริป 2 วันในเมืองสุรินทร์ ทำเอาอิชั้นเพลินกับอะไรๆดีๆ ที่น่าสนใจมากมาย จนคิดว่า ต้องกลับมาอีกอย่างแน่นอน