มุมเกษตร..เกษตรกรเฮ! 3ปีปลดหนี้
ชีวิตดี.เพราะมีน้ำ(บาดาล)
ต้องยอมรับว่า “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จได้ ยกตัวอย่าง กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองระกำ หมู่ที่ 5 ตำบลเขาชายธง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ที่สามารถสร้างรายได้ จากการพลิกฟื้นไร่อ้อยแห้งตาย เป็นไร่เกษตรเชิงผสมผสานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ สร้างอาชีพที่มั่นคงและรายได้ที่มั่งคั่งจนสามารถปลดหนี้การเกษตรได้ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี จากการมีแหล่งน้ำบาดาลที่มีศักยภาพ เมื่อเร็ว ๆนี้นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.กระทรวงเกษตรฯ พร้อมด้วยคณะจากกรมฝนหลวง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จของโครงการ
บ้านหนองระกำ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลเขาชายธง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำในการเพาะปลูกของเกษตรกร เนื่องจากในอดีตต้องรอน้ำฟ้าในช่วงฤดูฝนเพียงอย่างเดียวและยังเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้พืชไร่ที่ปลูกไว้ยืนต้นตาย อาทิ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง
แต่เมื่อพื้นที่ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง รูปแบบที่ 1 จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในปี พ.ศ. 2558 จึงทำให้พื้นที่การเกษตรดังกล่าวมีแหล่งน้ำบาดาลเพียงพอในการเพาะปลูกตลอดทั้งปี โดยสมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลนิยมเพาะปลูกพืชไร่แบบผสมผสาน อาทิ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทานตะวัน กล้วย ไผ่หวาน มะขามเทศ มะเขือยาว มะนาว มะพร้าว และมะม่วง โดยผลผลิตดังกล่าวสามารถเก็บเกี่ยวจำหน่ายได้ตลอดทั้งปีสร้างรายได้ที่มั่นคงสม่ำเสมอให้แก่เกษตรกรทุกครัวเรือน นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรหลายรายยังสามารถปลดหนี้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและหนี้นอกระบบได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
สำหรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตด้านเกษตรกรรม โดยได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้ พี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก รวมถึงพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ มาโดยตลอด
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง” ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน แล้วเสร็จกว่า 7,465 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 89,000 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 7,340 ครัวเรือน
สำหรับพื้นที่บ้านหนองระกำ หมู่ที่ 5 ตำบลเขาชายธง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับระบบกระจายน้ำบาดาลประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาล 2 บ่อ เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าขนาด 3 แรงม้า ติดตั้งหอถังพักน้ำความจุ 30 ลูกบาศก์เมตร พร้อมวางท่อส่งน้ำรวมระยะทางเกือบ 4 กิโลเมตร สามารถกระจายน้ำบาดาลได้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 216 ไร่ ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำบาดาลกว่า 11 ราย สร้างรายได้เฉลี่ย 300,000 – 400,000 บาทต่อปี เพิ่มมากขึ้น 3 – 4 เท่าตัว
นายสมควร เทพทรัพย์ ประธานสมาชิกกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลบ้านหนองระกำ เปิดเผยว่า เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนี้ต้องรอน้ำฟ้าน้ำฝนอย่างเดียว ปีไหนฝนแล้งป่าอ้อย ป่าข้าวโพดก็ยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ปีนั้นก็จะลงทุนเสียเปล่าต้องไถกลบทิ้งอย่างเดียว เกษตรกรก็เดือดร้อนต้องไปหางานรับจ้างทำหรือไม่ก็เข้ากรุงเทพหางานอย่างอื่นทำ แต่พอได้บ่อน้ำบาดาลมาก็ดีขึ้นมาก เพราะเรามีน้ำใช้ตลอดทั้งปีคิดจะปลูกอะไรก็ทำได้หมดไม่เดือดร้อนเหมือนเมื่อก่อน รายได้ก็มีมากขึ้นปลดหนี้ ธกส. ได้หมดแล้ว ลูกหลานก็กลับมาช่วยกันทำเกษตรอยู่บ้านเราไม่ต้องไปทำงานที่อื่นแล้ว
ทั้งนี้มีนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวง ดร.อรัญญา เฟื่องสวัสด์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนายประทีป ศิลปเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่จากทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง รูปแบบที่ 1 ณ บ้านหนองระกำ หมู่ที่ 5 ตำบลเขาชายธง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์
พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชมนิทรรศการและพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อทราบข้อมูลลักษณะเชิงพื้นที่และศักยภาพของน้ำบาดาลอย่างใกล้ชิด โดยในอนาคตทั้ง 2 หน่วยงานจะได้ร่วมกันดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการและวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อนำมาสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับภาวะวิกฤตและภัยพิบัติได้อย่างเหมาะสมต่อไป
นับว่าเป็นอีกโครงการดี ๆ จากภาครัฐ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง” ทำให้มีน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตร ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ทำการเกษตรประสบความสำเร็จ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามมานั่นเอง
สำหรับประชาชนทั่วไป กลุ่มเกษตรกร หรือหน่วยงานท้องถิ่น มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองสื่อสารและการมีส่วนร่วม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โทรศัพท์ 0 2666 7000 หรือ สายด่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Green Call 1310 กด 4 ในวันและเวลาราชการ หรือติดต่อโดยตรง ณ สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 – 12 ทั่วประเทศ