สจล.โชว์นวัตกรรมรับครม.สัญจรใต้
ชูวิทยาเขตชุมพรสถาบันที่1ภาคใต้
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ต้อนรับการประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจรภาคใต้ จังหวัดชุมพร โดยได้นำเสนอความก้าวหน้าการจัดตั้งมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) รวมถึงความสำเร็จด้านงานวิจัย และนวัตกรรม อาทิ สมาร์ทฟาร์มที่สมบูรณ์แบบที่ผสานการบริหารจัดการ และประยุกต์นวัตกรรมความแม่นยำสูงแบบครบวงจร นวัตกรรมเพื่อการดำน้ำลึก และความปลอดภัยทางทะเล โดรนสำหรับการเกษตร ฟาร์มเลี้ยงแพะเนื้ออัจฉริยะ ศูนย์สมาร์ทดาต้าเซ็นเตอร์ และธนาคารปูม้าอัจฉริยะ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีการจัดการน้ำ และอาหารอนุบาลลูกปูม้าอัตโนมัติ พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์ปูม้าคืนสู่ทะเลกว่า 10 ล้านตัว ตลอดจนกิจกรรมเพื่อชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงพื้นที่ในทุกมิติ ที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมประเทศ ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (S-Curve) และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศ สู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ในอนาคต ชี้สจล. ชุมพร มุ่งพัฒนาสู่การเป็นสถาบันการศึกษาอันดับ 1 ของภาคใต้ โดยมุ่งวิจัยตามกรอบพัฒนา 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านเทคโนโลยี ด้านอาหาร และด้านพลังงาน ในปี 2564
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาประเทศ บุคลากร ตลอดจนนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (S-Curve) และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือ สจล.ชุมพร ที่มุ่งมั่นพัฒนาเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประจำภาคใต้ เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านปัจจัยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ผนวกกับองค์ความรู้ บุคลากร และนวัตกรรมที่มีความพร้อมในระดับสูง
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มว่า สจล.ชุมพร ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะรัฐมนตรี สัญจรภาคใต้ ประจำจังหวัดชุมพร โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอดจนคณะรัฐมนตรี และผู้ติดตาม ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ เนื่องด้วย สจล. ชุมพร มีศักยภาพ และความพร้อมสูง ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ภาคใต้ ที่เชื่อมต่อหลายจังหวัด โดย สจล.ชุมพร ได้นำเสนอโครงการ และนวัตกรรมต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขยายผลงานวิจัยด้านการเกษตร อาหาร และพลังงาน ตลอดจนกิจกรรมทางสังคม และความร่วมมือ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนร่วมกัน อาทิ
· สมาร์ทฟาร์มครบวงจร ที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศ : พื้นที่เกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farm ในพื้นที่วิทยาเขต และศูนย์เกษตร อาหาร และพลังงาน ที่เป็นรูปธรรมที่สุด มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านการออกแบบการบริหารจัดการ และประยุกต์นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการเกษตรแบบครบวงจร ผ่านระบบเครือข่ายฐานข้อมูลที่วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการดูแลพืช เพื่อช่วยยกระดับการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ โรงเพาะปลูกพืชอัจฉริยะในสภาพไร้แสงอาทิตย์ พร้อมระบบมอนิเตอริ่งการปลูกพืชไม่ใช่ดิน (ไฮโดรโปนิกส์) ระบบการให้ปุ๋ย ที่มีการวัดระดับความเป็นกรดด่าง และการนำไฟฟ้าของปุ๋ยสารละลาย ให้เหมาะสมแบบเรียลไทม์ การติดตามแมลง และศัตรูพืชผ่านโดรน รถเคลื่อนที่ระบบ GPS สำรวจพิกัด และดูค่าการเจริญเติบโตของพืช และระบบการพยากรณ์อากาศผ่าน WMApp ที่แม่นยำที่สุดในปัจจุบัน เพื่อช่วยวางแผนการเกษตรที่อยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง เป็นต้น
· ธนาคารปูม้าอัจฉริยะ 4.0 : ความสำเร็จการขยายพันธ์ และอนุรักษ์ปูม้า สัตว์น้ำเศรษฐกิจหลักของพื้นที่ โดยสจล.ชุมพร ภาคเอกชน เทศบาลตำบลชุมโค และกลุ่มประมงชายฝั่งอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ที่ใช้องค์ความรู้ด้านการประมง ร่วมกับเทคโนโลยี และนวัตกรรม อาทิ ระบบการเปิดจ่ายน้ำ และปล่อยพันธุ์ปูม้าลงสู่ทะเลอัตโนมัติ ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบการเก็บพลังงานแสง เพื่อชดเชยพลังงานไฟฟ้า ด้วยโซลาร์เซลล์ ในการสร้างออกซิเจนและอาหารสำหรับอนุบาลลูกปูม้าก่อนปล่อยลงสู่ทะเล
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ชมความก้าวหน้าของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) รวมถึงความสำเร็จด้านงานวิจัยและนวัตกรรม อาทิ โมเดลสมาร์ทฟาร์มที่สมบูรณ์แบบที่ผสานการบริหารจัดการ และประยุกต์นวัตกรรมความแม่นยำสูงแบบครบวงจร นวัตกรรมดำน้ำลึกและความปลอดภัยทางทะเล โดรนสำหรับการเกษตร ฟาร์มเลี้ยงแพะเนื้ออัจฉริยะ ศูนย์สมาร์ทดาต้าเซ็นเตอร์ และ ธนาคารปูม้าอัจฉริยะ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีการจัดการน้ำและอาหารอนุบาลลูกปูม้าอัตโนมัติ พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์ปูม้าคืนสู่ทะเลกว่า 10 ล้านตัว สู่แหล่งน้ำ คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล ซึ่งสามารถต่อยอดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้กับชุมชน
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมชมโครงการต่างๆ ของสถาบัน อาทิ โครงการพลิกโฉมสตรีทฟู้ด ประจำจังหวัด โครงการการสอนดำน้ำ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โครงการอาคารจัดการพลังงาน ที่ใช้พลังงานแสง แทนพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงลงพื้นที่ติดตามงานกิจกรรมเพื่อชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงพื้นที่ในทุกมิติ ได้แก่ ด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม อาชีพ สังคม วัฒนธรรม และสุขภาพ ที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมประเทศในด้านต่างๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการเหล่านี้ เป็นเพียงหนึ่งในความสำเร็จของ สจล.ชุมพร ในการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางงานวิจัยนวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่สอดรับกับภูมิศาสตร์ของภาคใต้ โดยทางสถาบันได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางรากฐาน ในการพัฒนา ให้มีความพร้อม สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในอนาคต พร้อมตั้งเป้าเดินหน้าสู่การเป็นสถาบันการศึกษาอันดับ 1 ประจำภาคใต้ ที่มุ่งวิจัยตามกรอบพัฒนา 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านเทคโนโลยี ด้านการเกษตร ด้านอาหาร และด้านพลังงาน ในปี 2564 นี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป
สำหรับนักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 และวิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หมายเลขโทรศัพท์ 077-506-410 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.kmitl.ac.th