ประจินมอบวช. ตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชน”
ประเดิม6ศูนย์4 ภาค-ปี62ขยายทั่วไทย
วช. เปิดตัว “ศูนย์วิจัยชุมชน” เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีการนำไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ๒๕๖๑ (Thailand Research Expo 2018)” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกแอนด์คอนเวนชั่น เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง) เป็นประธานในพิธีและมอบป้าย“ศูนย์วิจัยชุมชน” แก่ เครือข่ายวิจัยภูมิภาค ประเดิมตั้ง 6ศูนย์ 4 ภาค ภาคใต้ 2 ศูนย์ ภาคเหนือ 2 ศูนย์ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างละ 1 ศูนย์ ตั้งเป้า ปี62 ขยายทั่วประเทศ จังหวัดอย่างน้อย 1 ศูนย์และทำงานแบบบูรณาการ
ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยการพัฒนาฐานรากของประเทศ โดยอาศัยฐานความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย Thailand 4.0 ที่มุ่งหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนา โดยเน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมทั้งภาคราชการ และภาคประชาชน เพื่อร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และชุมชน แต่การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ชุมชนไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงกับความต้องการของประชาชน ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ ประสบปัญหาความยากจน สร้างความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลาย
ทางสำนักงานคณะกรรมกาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการร่วมของ สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้รับมอบหมายนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) ในการจัดตั้ง“ศูนย์วิจัยชุมชน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ชุมชน โดยการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง และตรงกับความต้องการของชุมชน ไปใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก พัฒนาทักษะ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยี รวมทั้ง การสร้างบุคลากรในพื้นที่เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยากรและผู้ชำนาญการงานบริการวิชาการแก่ศูนย์ชุมชน
ทั้งนี้การจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยชุมชน” ไม่ได้เป็นการนำเอาผลวิจัยไปใส่ในชุมชน แต่เป็นการไปช่วยสนับสนุน ขยายผลและต่อยอดจากองค์ความรู้ที่คนในชุมชน หรือปราชญ์ชาวบ้านดำเนินการอยู่แล้ว โดยคนในชุมชนจะเป็นผู้ดำเนินการเอง ศูนย์วิจัยชุมชนเหล่านี้จะทำงานร่วมกับพื้นที่ และจะดูในมิติต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่อย่างแท้จริง ที่ผ่านมา วช. ได้เริ่มเปิดตัวโครงการไปแล้ว 6 ศูนย์ แต่ละศูนย์กระจายไปตามภาคต่างๆ ทั้ง 4 ภาค ภาคใต้ 2 ศูนย์ ภาคเหนือ 2 ศูนย์ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างละ 1 ศูนย์
ศูนย์วิจัยชุมชนแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความต้องการอะไร ดังนั้นเราจึงทำงานกับหน่วยงานการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ในพื้นที่ ซึ่งมีความแข็งแกร่งในเรื่องนั้นๆเป็นผู้ให้การสนับสนุนเพื่อตอบโจทย์ ทำอย่างไรชุมชนจะได้ประโยชน์ แก้ไขสภาพปัญหา และพัฒนาอย่างแท้จริง
ยกตัวอย่างที่ภาคใต้ ศูนย์วิจัยชุมชนการเลี้ยงโคเนื้อ “ยะลาวากิวฟาร์ม”” เป็นศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเลี้ยงโควากิว ที่ประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพดีจากญี่ปุ่น ดังนั้น เราจึงให้มีศูนย์วิจัยชุมชนเพื่อมุ่งเน้นที่จะให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และศูนย์กลางการวิจัยและขยายผลต่อไป ตอนนี้มีเครือข่ายอยู่แล้วใน 4 จังหวัดภาคใต้จำนวน 420 คน อีกแห่งหนึ่งก็คือ “ศูนย์วิจัยชุมชนการเรียนรู้ การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์” ซึ่งขณะนี้สาหร่ายพวงองุ่นเป็นอาหารสุขภาพที่กำลังได้รับความสนใจ
ส่วนภาคเหนือก็มีจุดแข็งอยู่ที่ศิลปวัฒนธรรมและเรื่องเครื่องจักสาน ศูนย์วิจัยชุมชนที่ภาคเหนือ กลุ่มจักสานของกลุ่มผู้สูงอายุในตำบลกื้ดช้าง เล็งเห็นความสำคัญของการจักสานว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ผู้สูงอายุที่มารวมกลุ่ม มีความสุข มีความปิติที่มีรายได้ เห็นคุณค่าในตนเอง ซึ่งแต่เดิมได้มีการจักสานอยู่แล้ว ถ้าได้นำองค์ความรู้ในรูปแบบใหม่มาช่วยในการเติมเต็มให้การจักสาน ผลิตภัณฑ์นั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และลดความเสี่ยงของท่าทางการทำงาน จะช่วยส่งผลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้
สำหรับภาคกลางตัวอย่างศูนย์วิจัยชุมชนที่ดำเนินการอยู่แล้วเรามุ่งเน้นเรื่องผลไม้และการเกษตรที่มีความสำคัญกับพื้นที่ เช่น ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม อยู่ที่สมุทรสงคราม และมีชุมชนสนใจมากที่จะให้มีการพัฒนา เราไปทำศูนย์วิจัยชุมชนเพื่อที่จะพัฒนาการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกดอกและการติดผลของลิ้นจี่พันธุ์ค่อม”
ศ.นพ. สิริฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2562 วช. จะขยายศูนย์ฯให้ครอบคลุมเครือข่ายในจังหวัดต่าง ๆ โดยหวังว่าจะมีศูนย์วิจัยชุมชนเป็นตัวอย่างจังหวัดละ 1 แห่ง ซึ่งในแต่ละแห่งจะใช้กลไกในการเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ของพื้นที่เป็นตัวตั้ง และแต่ละศูนย์จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามความต้องการของพื้นที่ ซึ่งศูนย์เหล่านี้ก็สามารถที่จะเชื่อมโยงกันได้ ดังนั้นการขยายผลก็จะมีการเพิ่มทั้งจำนวนศูนย์วิจัยชุมชนที่จะเกิดขึ้น และการเชื่อมโยงการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างศูนย์วิจัยชุมชนในแต่ละแห่ง
“เป้าหมายของ วช. เราตั้งใจที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน ให้เห็นว่าการวิจัยต่างๆ เป็นการวิจัยที่กินได้ ใช้ได้ ขายได้ ประชาชนในพื้นที่ได้เอางานวิจัยที่เป็นงานวิจัยจริงสัมผัสได้ไปใช้ และเกิดประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น”