อสส.ไทยแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย
เจ้าภาพประชุมสมาคมสวนสัตว์โลก
องค์การสวนสัตว์ (อสส.) ประสบความสำเร็จเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์และแหล่งเรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่าในระดับสากล ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระหว่างประเทศ และประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมสวนสัตว์และและพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก (World Association of Zoos and Aquarium : WAZA) ครั้งที่ 73 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22– 25 ตุลาคม 2561 ที่กรุงเทพมหานคร และสมาคมสวนสัตว์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Southeast Asian Zoos and Aquariums Association : SEAZA) ครั้งที่ 26 ในระหว่างวันที่29 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2561 ที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งการจัดประชุมประจำปีของ IUCN/SSC Conservation Planning Specialist Croup (CPSG) ภายในเดือนตุลาคม 2561 นี้ คาดมีเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 400 คน
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ปานเทพ รัตนากร ประธานกรรมการองค์การสวนสัตว์กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์ได้รับโอกาสอันดีจากคณะกรรมการสมาคมสวนสัตว์โลกฯ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ประจำปีสมาคมสวนสัตว์โลกและพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก (WAZA) ในปี 2018 นี้ ณ ประเทศไทย ซึ่งการได้รับเกียรติในครั้งนี้ ถือเป็นตัวชี้วัดบ่งบอกถึงการมีมาตรฐานทางด้านการบริหารจัดการสัตว์ที่ดีและมีมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับเกียรติจัดประชุมประจำปีของสมาคมสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก (WAZA) ครั้งที่ 73 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Wild at Heart” สาระสำคัญเน้นในเรื่องของการนำเสนอเกี่ยวกับความร่วมมือในการอนุรักษ์สัตว์ทั้งภายในและภายนอกถิ่นอาศัยของประเทศไทยและสมาชิกที่อยู่ในภูมิภาค และการจัดการสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักสวัสดิภาพสัตว์
สำหรับการประชุมประจำปีของสมาคมสวนสัตว์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 26 (SEAZA) จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “Impact of Zoos in saving species & nature education” เป็นการสร้างความเข้มแข็ง และพัฒนาให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำหลักในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและการบริหารจัดการสวนสัตว์ในระดับสากล ส่วนการจัดประชุมประจำปีของ IUCN/SSC Conservation Planning Specialist Group : CPSG จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “Toward Zero Extinction in Southeast Asia” เป็นการรวมสุดยอดผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์สัตว์ป่าแต่ละประเภทมาร่วมกันเพื่อวางแผนและวิธีการอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่ออนาคตของสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ทั้งในและนอกถิ่นอาศัย
ด้านนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ กล่าวว่า การบริหารจัดการสวนสัตว์แต่ละแห่ง มีชนิดและจำนวนสัตว์อยู่ในความดูแลเป็นจำนวนมาก ซึ่งการสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินงานของสวนสัตว์ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ การเป็นผู้นำด้านสวนสัตว์เพื่อการอนุรักษ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ในระดับสากลเพื่อการสร้างเครือข่าย พร้อมทั้งแสดงผลงานไปสู่ทั่วโลก เป็นสิ่งที่ทางองค์การสวนสัตว์ ได้ดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ถือว่าประสบความความสำเร็จอย่างสูงสุด จนเป็นผู้นำด้านมาตรฐานสวนสัตว์ในระดับอาเซียน
ปัจจุบันองค์การสวนสัตว์ มีการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์และแหล่งเรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่าในระดับสากล มีสวนสัตว์ในความดูแลทั้งหมด 7 แห่ง และ 1 โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์จึงได้ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ ตามมาตรฐานของสมาคมสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก (WAZA) และสมาคมสวนสัตว์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAZA) เพื่อให้การดำเนินงานของสวนสัตว์ในสังกัดมีประสิทธิภาพ และทันยุคสมัยในปัจจุบัน
โดยสวนสัตว์ในสังกัด 5 แห่ง ได้รับการรับรองมาตรฐาน WAZA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมาและสวนสัตว์สงขลา และอีก 2 แห่ง คือสวนสัตว์ขอนแก่น และสวนสัตว์อุบลราชธานี ยังอยู่ระหว่างการขอเข้าเป็นสมาชิก อย่างเป็นทางการ
ในการประชุมระหว่างประเทศทั้ง 3 รายการนี้ คาดว่า จะมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมประกอบด้วย สมาชิกจากสวนสัตว์พิพิธภัณท์สัตว์น้ำ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ตลอดจนกลุ่มองค์กรนักอนุรักษ์จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 400 คน จึงนับเป็นโอกาสอันดี ในการร่วมแสดงศักยภาพด้านการบริหารจัดการสวนสัตว์ และเป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สัมผัสและร่วมกิจกรรมด้านอื่นๆ ในประเทศไทย อันจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศและประโยชน์ด้านต่างๆต่อหน่วยงานภาครัฐ ด้านการศึกษา และทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและนำรายได้เข้าประเทศไทยอีกทางหนึ่งรองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ปานเทพ รัตนากรกล่าวสรุป