จ.อ่างทอง-ททท.ไทยเบฟฯ
จัดเที่ยวอ่างทอง..อันซีน 5 วัดดัง
จังหวัดอ่างทองร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)และไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) จัดงาน “THAILAND FASCINATION.. เที่ยวอ่างทอง…อันซีน 5 วัดดัง นมัสการพระนอนคู่เมืองเสริมบารมีเสริมวาสนา หนุนบารมี” กิจกรรมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน 2561 ณ วัดขุนอินทประมูลโดยมีประชาชนท้องถิ่นให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก
นายรัฐฐะ สิริธรังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ” THAILAND FASCINATION.. เที่ยวอ่างทอง…อันซีน 5 วัดดัง นมัสการพระนอน เสริมวาสนา หนุนบารมี” ซึ่ง เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอความน่าสนใจแสดงความเป็นไทยท้องถิ่นทั้งเรื่องประเพณี วัฒนธรรม อาหารการกินตลอดศิลปะวัฒนธรรมของใช้ของที่ระลึก ที่มีความน่าสนใจของจังหวัดอ่างทองให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมากยิ่งขึ้น
งานนี้จัดขึ้นใต้แนวคิด “เที่ยวอ่างทอง…อันซีน 5 วัดดัง นมัสการพระนอน เสริมวาสนา หนุนบารมี” ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ลองเดินทางมาสักการะที่สุดของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 แห่งในจังหวัดอ่างทอง ผ่านกิจกรรมตามรอยเส้นทางอันซีน 5 วัดดัง โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดเส้นชัยที่วัดขุนอินทประมูลอำเภอโพธิ์ทอง จุดที่นักท่องเที่ยวจะรับพาสปอร์ต สำหรับร่วมกิจกรรมและนำพาสปอร์ตไปประทับตราให้ครบทั้ง 5 วัดดัง ตามเส้นทาง
เมื่อได้ประทับตราครบสามารถนำมาแลกรับพระสมเด็จขุนอินทประมูล ที่จัดเป็นที่ระลึกสำหรับกิจกรรมในครั้งนี้
ส่วนไฮไลท์ของงานครั้งนี้ เป็นการร่วมจุดเทียนอธิษฐานขอพร องค์พระใหญ่เป็นเวลา 1 นาที ในเวลา 19.00 น.ทั้งสองวัน
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ “อ่างทอง…แดนดินถินธรรมมะ” ที่บอกเล่าเรื่องราวของจังหวัดอ่างทอง พร้อมแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจในจังหวัดอ่างทอง
อีกทั้งยังมีการจัดแสดงสินค้าท้องถิ่นภาคกลาง ขนมไทยโบราณ อาหารและผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน กิจกรรมบนเวที ทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน วงดนตรีพื้นบ้าน ตลอดจนการแสดงของศิลปินรับเชิญมากมาย
ทั้งนี้สำหรับ “วัดขุนอินทประมูล” นั้นตั้งอยู่ที่ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง อยู่ห่างจากตัวเมืองอ่างทองประมาณ 7 กิโลเมตร ภายในวัดมีจุดเด่นอยู่ที่ “พระนอนวัดขุนอินทประมูล” หรือ “พระศรีเมืองทอง” โดยองค์พระมีความยาว 1 เส้น 5 วา หรือ 50 เมตร ซึ่งนับเป็นพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ที่ยาวเป็นอันดับที่2 รองจากพระนอนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย คือ “พระนอนที่วัดบางพลีใหญ่กลาง” จ. สมุทรปราการ หรือ “สมเด็จพระศากยมุณีศรีสุเมธบพิตร” ซึ่งมีความยาว 53 เมตร ส่วนพระนอนจักรสีห์ จ.สิงห์บุรี ยาว 47 เมตร มาอ่างทองได้นมัสการพระนอนขนาดใหญ่เก่าแก่อย่างนี้นับว่า คุ้มค่ากับการเดินทางมาเป็นอย่างมาก
“พระนอนวัดขุนอินทประมูล” มีตำนานเล่าขานว่า ขุนอินทประมูล ได้ยักยอกเงินหลวงมาสร้าง ครั้งถูกสอบถามว่าเอาเงินจากใหนมาสร้างพระ ขุนอินทประมูลไม่ยอมบอกความจริง จึงถูกลงโทษจนตาย คงมีความชื่อที่ว่า ถ้าบอกแหล่งที่มาของเงินแล้ว ตนจะไม่ได้กุศลตามที่ปรารถนา จากการสันนิษฐานมีความเห็นว่า ได้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระพักตรหันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก เมื่อมองตลอดทั้งองค์มีความสง่างามมาก พระพักตรงดงามได้สัดส่วน แสดงออกถึงความมีเมตตา
ปัจจุบันองค์พระนอนอยู่กลางแจ้งไม่มีวิหารคลุมเช่นพระนอนองค์อื่น เนื่องจากวิหารเดิมคงหักพังไปนานแล้ว ดังจะเห็นได้จาก เสาพระวิหารที่ยังปรากฏอยู่รอบองค์พระนอน
ด้านหลังองค์พระยังมีโบสถ์สร้างใหม่สวยงาม และมีต้นไม้ขนาดใหญ่หลายต้นขึ้นอยู่โดยรอบ ทำให้มีความสงบร่มเย็น เหมาะแก่การไปนมัสการให้เกิดความสุข สงบ ตามธรรมชาติ ซึ่งแปลกออกไปจากบรรยากาศในพระวิหาร ในแต่ละปีจะมีงานนมัสการองค์พระ ช่วงปลายเดือนเมษายน
สำหรับอีก4 วัดอันซีนของจังหวัดอ่างทองที่แนะนำให้ไปเยือนกัน ได้แก่ วัดป่าโมกวรวิหาร วัดจันทรังษี (บ้านนา) วัดไชโยวรวิหาร และวัดม่วง
วัดป่าโมกวรวิหาร
มีจุดเด่นอยู่ที่พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนองค์ใหญ่ที่ได้ชื่อว่า เป็นพระนอนที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย และมีตำนานของพระพูดได้ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา เกิดเหตุน้ำเซาะตลิ่งใกล้จะถึงองค์พระ ทำให้เจ้าอาวาสได้แจ้งแก่ พระยาราชสงครามเมื่อพระยาราชสงครามนำความไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระองค์และพระมหาอุปราชได้ทรงมีรับสั่งให้รื้อองค์พระนอนไปสร้างใหม่ แทนการชะลอให้พ้นจากตลิ่ง เพราะพระนอนองค์นี้ไม่ใช่พระหล่อ หากชะลอแล้วอาจแตกเสียหายได้ แต่พระยาราชสงครามกลับคิดว่าน่าจะชะลอได้ และจะขอชะลอด้วยตัวเองและสามารถทำการชะลอองค์พระได้สำเร็จ องค์พระจึงได้มาประดิษฐานอยู่ ณ พื้นที่ปัจจุบัน
วัดจันทรังษี (บ้านนา)
เป็นวัดที่มีการจัดสวนประดับด้วยต้นไม้น้อยใหญ่สวยงาม ภายในวัดมีวิหารจัตุรมุขมียอดบุษบกกลาง 5 ชั้น สูง 48 เมตร กว้าง 24 เมตร ยาว 33 เมตร พร้อมด้วยสถาปัตยกรรมอันวิจิตรงดงาม และภายในประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ (หลวงพ่อสด จันทสโร) หล่อด้วยโลหะองค์ใหญ่สุดในโลก มีขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร 9 นิ้ว สูง 9 เมตร 9 นิ้ว
ส่วนบริเวณหน้าวิหารมีประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างขนาดใหญ่ที่สวยงาม มีประวัติที่เล่าสืบต่อมาว่า สามเณรสงัด สะอาดเอี่ยม ได้ติดตามปรนนิบัติหลวงตาทัยซึ่งพำนักอยู่ในป่าช้าวัดจันทรังษี หลวงตาได้บอกกับสามเณรว่าวัดจันทรังษีมีช้างใหญ่อยู่เชือกหนึ่งเป็นช้างที่สวยงามมาก ชื่อว่าช้างมงคล และต่อไปวัดจันทรังษีนี้จะเจริญรุ่งเรือง ในปัจจุบันวัดจันทรังษีมีความเจิรญสมกับคำพูดของหลวงตาทัย
ส่วนอีกด้านเป็นโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวหัวไผ่ ชาวบ้านเล่าว่าพระพุทธรูปองค์นี้สามารถโยกไปมาได้ ประชาชนเรียกกันว่า “หลวงพ่อโยก” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยา
วัดไชโยวรวิหาร
เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโท เดิมเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ มีนามว่า “วัดไชโย” ครั้นเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตารามได้เลือกวัดนี้เป็นที่สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ตั้งอยู่กลางแจ้ง กล่าวว่าการก่อสร้างพระพุทธรูปนี้ใช้เวลานานเกือบ 3 ปี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงเสร็จ แล้วสมเด็จพุฒาจารย์ได้ถวายวัดไชโยเป็นวัดหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเกษไชโย”
ใน พ.ศ.2430 มีการปฏิสังขรณ์วัดเกษไชโยทั้งพระอาราม ทำให้พระพุทธรูปได้รับแรงกระเทือนจากการก่อสร้างพระวิหารพังทลายลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ทดแทนโดยโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการเป็นแม่กองช่าง โดยรื้อองค์พระเดิมออกหมด วางรากฐานก่อสร้างใหม่ใช้โครงเหล็กรัดอิฐปูนไว้ภายในลดขนาดจากองค์เดิมลง พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับพระราชทานนาม “พระมหาพุทธพิมพ์” ขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูง 11 วา ศอก 7 นิ้ว และโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดไชโยให้เป็นพระอารามหลวง
นอกจากนี้ยังมีการก่อพระวิหาร สร้างพระอุโบสถเป็นมุขลดยื่นออกมาทางด้านหน้า มีศาลาราย กำแพงแก้ว ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ หอระฆัง ศาลารายกลางวัด ศาลาท่าน้ำ รวมเวลาการปฏิสังขรณ์นานถึง 8 ปี พระวิหาร มีความสูงใหญ่มากแห่งหนึ่ง รูปทรงแปลกตา ด้านนอกมีรูปทวารบาลลายรดน้ำ เป็นรูปเสี้ยวกวาง เสาหารด้านหน้า-หลังพระวิหารมีขนาดใหญ่โตมาก
ภายในพระอุโบสถ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปั้นปางสมาธิ ผนังทุกด้านมีภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องพุทธประวัติ ภาพเหล่าทวยเทพที่วิจิตรงดงาม ยังอยู่ในสภาพที่ดี บานประตูแกะสลักอย่างประณีต ส่วนด้านนอกวัดมีตลาดนัด ชาวบ้านนำสินค้าในท้องถิ่นมาขาย
วัดม่วง
สำหรับวัดนี้เดิมเป็นวัดร้าง สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อมาเมื่อเสียกรุง พม่าได้เผาผลาญบ้านเรือน วัด และพระพุทธรูปจำนวนมาก วัดม่วงจึงเหลือแค่ซากปรักหักพัง จนกระทั่งท่านพระครูวิบูลอาจารคุณ (หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ) ได้ธุดงค์มาปักกลดเห็นว่าเป็นสถานที่ที่น่าปฏิบัติธรรม ในระหว่างนั่งสมาธินั้น ท่านได้ปรากฏนิมิตเห็นองค์หลวงปู่ขาวและหลวงปู่แดงบอกว่าให้ช่วยบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นท่านจึงได้เริ่มการปฏิสังขรณ์ศาสนสถานต่าง ๆ เรื่อยมา
หลังจากนั้นวัดม่วงได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่วัดม่วง หลวงพ่อเกษมจึงรวบรวมจิตอธิษฐานร่วมกับประชาชนผู้มีจิตศรัทธาสมทบทุนในการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 มีพระนามว่า “พระพุทธมหานมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ” มีขนาดหน้าตักกว้าง 62 เมตร สูง 93 เมตร พุทธลักษณะงดงามสีทองอร่าม สามารถมองเห็นได้จากระยะไกล ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 16 ปี แต่ก็คุ้มเพราะมีองค์พระงดงาม
นอกจากนี้วัดม่วงยังมีโบสถ์ ที่งดงามใหญ่โต แปลกตาด้วยการล้อมรอบด้วยกลีบบัวปูนปั้นที่สวยงาม และใหญ่ที่สุดในโลก ภายในมีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้า ส่วนบริเวณรอบ ๆ วัดมีรูปปูนปั้นพระอรหันต์ เทพเจ้าต่าง ๆ ทั้งจีนและพราหมณ์ มีการจำลองเมืองนรก-สวรรค์ ที่แฝงไปด้วยคติสอนใจ และเหตุการณ์สำคัญของค่ายบางระจัน ให้ผู้ที่เดินทางมานมัสการได้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ควรจดจำ
ใครที่ยังไม่เคยมาเยือนจังหวัดอ่างทอง ลองมาแวะชมอันซีน 5 วัดดังของจังหวัดแล้วจะประทับใจในความสวยงาม ประทับใจในฝีมือด้านการสร้างผลงานศิลปะหัตถกรรมของชาวไทยที่มีมาแต่โบราณ
เมื่อมาเที่ยวชมวัดแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงเลยไปเที่ยวจังหวัดสิงห์บุรีที่อยู่ใกล้เคียง หรือเยี่ยมชมชุมชนต่าง ๆ ชมการสร้างงานอาชีพของวิสาหกิจชุมชนที่น่าสนใจได้อีก เช่น ไปเที่ยว ตลาดบ้านบางระจัน หรือ ตลาดบางระจัน สิงห์บุรี กินเที่ยวแบบชิล ๆย้อนยุคใกล้เคียงวัดโพธิ์เก้าต้น
หรือจะไปชมบ้านสวนศิลป์ สุขดี บ้านไร่แสนสมบูรณ์ กับบรรยากาศกลางทุ่งนา หรือการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปกล้วยของวิสาหกิจชุมชน ขนมหวานทองเอน แหล่งเรียนรู้ ท่องเที่ยวเชิงเกษตร จ.สิงห์บุรี
เรียกว่า มาครั้งเดียวได้เที่ยวสุดคุ้มจริง ๆ …
ขอบคุณภาพประกอบจาก-เวบไซต์จังหวัดอ่างทอง -http://www.angthong.go.th