TCEBร่วมMOC BIZ CLUB ภาคเหนือ
สัมมนาดันSMEsต่อยอดค้ากลุ่มGMS
เครือข่าย MOC BIZ CLUB 17 จังหวัดภาคเหนือ จัดงานประชุมสัมมนานานาชาติโครงการ GMS-THAILAND E-COMMERCE ECONOMIC CORRIDOR (GTEC) ครั้งที่ 1 เชื่อมโยงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับผู้ซื้อและผู้ขายจากประเทศกลุ่ม GMS เพื่อต่อยอดทางธุรกิจเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาด E-Commerce ที่มีบทบาททางการค้า เศรษฐกิจ เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับตลาดจีน ที่มีขนาดมหึมา
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานเครือข่าย MOC BIZ CLUB 17 จังหวัดภาคเหนือ เปิดเผยว่า เนื่องด้วยกลุ่มเครือข่าย MOC BIZ CLUB 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคเกษตร OTOP สินค้าชุมชน นวัตกรรม บริการ รวมทั้งผู้ประกอบการไทย ซึ่งทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยกลไกอุตสาหกรรม MICE เป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชนระหว่างประเทศ THAILAND 4.0 มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาคการเงินการธนาคาร ภาคประชาชน ภาคสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ได้ร่วมกันจัดโครงการประชุมสัมมนานานาชาติเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ GMS. (GMS – THAILAND E-COMMERCE ECONOMIC CORRIDOR (GTEC)
โครงการประชุมสัมมนาฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (TCEB)หรือสสปน. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน ในการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ E-Commerce Economic Corridor ด้านการค้า การบริการ การท่องเที่ยว เข้ากับตลาดในกรอบความร่วมมือของ Lanchang – Mekhong Cooperation (LMC) ภายใต้การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นประเด็นระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านแดน Cross Border E-Commerce Economic Corridor โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอี 17 จังหวัดภาคเหนือให้พ้นจากความยากจน
นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า สสปน. มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกและพัฒนามาตรฐานการจัดงานให้สอดคล้องกับบทบาทของไทยที่มีความสำคัญมากขึ้นในฐานะเป็นประเทศที่สามารถเป็นที่จัดการประชุมและนิทรรศการระดับนานาชาติได้อย่างมีศักยภาพ และมุ่งหวังที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การจัดการประชุม และการจัดนิทรรศการ ระดับโลกในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
นอกจากนี้ภายในงานมีการให้ความรู้โดยรวมเกี่ยวกับระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งกระบวนการ สร้างการรับรู้ถึงระบบ Cross Border Logistics เพื่อเติมเต็มความรู้ในการเพิ่มศักยภาพการค้าที่ไร้พรมแดน เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าใจระบบพาณิชย์อิเลกทรอนิกส์ และสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศ ลดต้นทุนการจำหน่ายสินค้า เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 17 จังหวัดภาคเหนือ
โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดเวทีเวิร์คชอป เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทาง ยุทธศาสตร์ และรูปแบบ อันนำไปสู่การประชุมเตรียมการเพื่อสร้างการรับรู้ระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ E-Commerce Economic Corridor “How to Sell Product to China Through E-Commerce
ด้าน นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สินค้าไทยมีศักยภาพในตลาดต่างประเทศ สามารถแข่งขันได้ เราได้พัฒนาผู้ประกอบการให้มีสมรรถนะทางการแข่งขัน ปรับปรุงพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด โครงการนี้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาด E-Commerce ซึ่งมีบทบาททางการค้า เศรษฐกิจ เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง สนับสนุนการเชื่อมโยงกับตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยมีการพัฒนาองค์ความรู้ การประกอบการธุรกิจการค้าไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างจุดแข็งให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยมีมาตรฐานและพร้อมก้าวสู่ในระดับสากล
ทั้งนี้เครือข่าย MOC BIZ CLUB 17 จังหวัดภาคเหนือ อยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ และกระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย( Micro SME) แบบครบวงจร ดำเนินกิจการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย โดยร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับกลุ่มGMS หรือ โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นั้นเป็นโครงการความร่วมมือของ 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (ยูนนาน) ซึ่ง ตั้งแต่ปี 2535 โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB: Asian Development Bank) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก กลุ่มประเทศ GMS มีพื้นที่รวมกันประมาณ 2,300,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณพื้นที่ของยุโรปตะวันตก มีประชากรรวมกันประมาณ 250 ล้านคน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภายในงานมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาร่วมออกบูธหลายรายและส่วนใหญ่มุ่งหวังไปทำตลาดในจีน ซึ่งรวมถึงคุณเกจณัฐ พุ่มพันธ์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัทเคพี โปดักต์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูประดับพรีเมี่ยมหลายอย่าง เช่น ผลไม้อบแห้งแบบฟรีซดราย ที่ทำให้ได้ลิ้มรสทุเรียนอบแห้งที่มีรสชาติเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังมีกล้วย มะม่วง สาหร่ายผสมทุเรียน
และที่กำลังทดลองตลาดอยู่ในขณะนี้ได้แก่ ลูกตาลเกล็ดหิมะที่มีรสชาติอร่อยหอมหวาน เพราะใช้น้ำตาลโตนดทำ
สำหรับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่มาร่วมออกบูธในงานมีหลายเจ้าด้วยกัน