วสท.ลงพื้นที่วิเคราะห์เหตุเครนล้ม
ไซต์ก่อสร้างคอนโด ถนนเทพารักษ์
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วสท. อ.วุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย และ อ.หฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย ลงพื้นที่สำรวจวิเคราะห์เหตุเครนล้มในไซต์งานก่อสร้างย่านสำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมแฝดสูง 38 ชั้น โดยจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณดาดฟ้าชั้นที่ 30 ของอาคาร พบฐานของเครนทาวเวอร์พังเสียหาย เหล็กโครงสร้างบูมหักพับลงมาในแนวดิ่งทำให้ปลายบูมเข้าไปเสียบคาอยู่ที่หน้าต่างชั้นที่ 26 โดยคนขับเครนร่วงสู่พื้นเสียชีวิต 1 ราย
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษา วสท. กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดอุบัติเหตุจากเครนถล่มมาต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานต้องมีข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่เคร่งครัด จากการตรวจสอบเบื้องต้นของเครนล้มที่ไซต์ก่อสร้างคอนโดมิเนียม ถนนเทพารักษ์ พบว่าทาวเวอร์เครนแยกจากกันเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนฐานอยู่บริเวณดาดฟ้าอาคารชั้นที่ 30 และอีกส่วน คือบูมเครนที่พาดลงมาข้างอาคาร โดยที่ฐานของทาวเวอร์เครนนั้นพบว่าชุดวงแหวนสวิง หรือ Slewing Ring ที่ทำหน้าที่เหมือนแหวนแบริ่งให้ทาวเวอร์เครนหมุนได้รอบตัวแบบ 360 องศา แตกหักแยกออกจากกัน น็อตยึดบริเวณ Slewing Ring ขาดเสียหาย และชุดตลับลูกปืนหลุดออกมาอยู่บริเวณภายนอก ซึ่งปกติแบริ่งที่รับน้ำหนักต้องสมดุลไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่งในขณะยก จากเหตุการณ์ดังกล่าวคาดว่า อาจเกิดจากการรูดอย่างรุนแรง หรือ Shock load ที่ทำให้เกิดแรงกระชากของสลิงจนทำให้บริเวณน็อตยึดแบริ่งและ Slewing Ring เกิดแรงกดและแรงดึงจนได้รับความเสียหาย เครนเสียสมดุลล้มลงมาในที่สุด
Slewing Ring แตก
น๊อตยึดวงแหวนสวิงขาด
ชุดฟันเฟืองเครน
อ.หฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วสท. กล่าวว่า เบื้องต้นก่อนเข้าตรวจสอบสันนิษฐานไว้ 3 ประเด็นคือ 1.อาจเกิดจาก “ลวดสลิงต๋งบูม” (Service Wire Rope) ไปเกี่ยวกับบูมตัวเขาเอง 2.ลวดสลิงตั้งบูม/นอนบูม (Luffing Rope) ขาด 3.ระบบไฟฟ้าควบคุมการทำงานของเครนมีปัญหา หลังการเข้าตรวจสอบพบว่า“ลวดสลิงต๋งบูม” ไม่ได้ไปเกี่ยวกับบูมเพราะลวดสลิงในดรัมชุดตั้งบูมยังอยู่ในสภาพปกติ ส่วนลวดสลิงตั้งบูม/นอนบูมก็ไม่ได้ขาดออกจากกันจึงคาดว่าอาจเกิดจากการขัดข้องของระบบไฟฟ้าทีใช้อินเวอร์เตอร์ควบคุมการยกมีปัญหาทำให้เกิด Shock Load อย่างรุนแรง (ยกแล้วรูด) โดยก่อนหน้านี้เคยยกของแล้วรูดลงกระแทกพื้นไปแล้วหยุดซ่อม จนวันเกิดเหตุช่างได้ลองทดสอบยกดูแต่ก็รูดอีก และจากการตรวจสอบที่ปุ่มกดหยุดฉุกเฉินในห้องขับปรากฎว่าถูกกดไว้โดยคนขับขณะเกิดเหตุ แต่ไม่สามารถหยุดการกระชากของบูมเครนได้ จนทำให้ชุดวงแหวนสวิง (Slewing Ring) หลุดแยกชิ้นส่วนออกจากกันระหว่างชิ้นบนกับชิ้นล่างจนเป็นเหตุให้เครนส่วนบน (Upper Part) หลุดร่วงลงมา
อ.วุฒินันทน์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่น วสท. ย้ำถึงแนวทางการรื้อซากเครน โดยแนะนำว่าการที่ใช้ Mobile Crane ในการรื้อซากเครนต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าบริเวณที่จะตั้ง Mobile Crane นั้น ต้องมีความแข็งแรงเพียงพอ เพื่อไม่ให้เกิดการทรุดตัวของเครน ผู้ที่จะนำตะขอไปเกี่ยวกับซากบูม ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ในส่วนของการรื้อถอนซากเครนต้องจัดเตรียมแผนการรื้อถอนและแผนการยก รวมทั้งข้อมูลที่จำเป็น เช่น Load Chart, Range Chart ว่าจะยกมุมในทิศทางใด เหวี่ยงมุมไหนบ้าง และต้องมีวิศวกรควบคุมอยู่ด้วย ทั้งนี้แนะนำเพิ่มเติมว่าควรให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างตรวจสอบอีกครั้ง ว่าโครงสร้างอาคารมีการผิดรูปหรือไม่ และยังคงความแข็งแรงพร้อมที่จะติดตั้งเครนใหม่หรือไม่
ในการรื้อถอนเคลื่อนย้ายซากเครน ผู้ควบคุมการก่อสร้างแจ้งว่าจะทำการแยกบูมออกเป็นส่วนๆ โดยใช้ Mobile Crane พิกัดยก 550 ตัน ที่มีระยะบูม 110 เมตร ปลายบูมรับน้ำหนักยกได้ 13 ตัน ตั้งห่างจากตึก 3 – 4 เมตร โดยจะเคลื่อนย้ายซากเครนทีละส่วน
สำหรับการป้องกันหรือลดปัญหาอุบัติเหตุจากเครน วสท. มีข้อแนะนำว่า ทางผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการติดตั้ง เครน การตรวจสอบ ทดสอบ อุปกรณ์ด้านความปลอดภัยมากขึ้น หากมีการชำรุดต้องหยุดการใช้งานและทำการแก้ไขอุปกรณ์ให้มีสภาพใช้งานได้โดยเร็ว ในส่วนของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดให้มีวิศวกรควบคุมการติดตั้งและทำการทดสอบให้เป็นไปตามคู่มือที่ผู้ผลิตกำหนด รวมทั้งผู้บังคับเครนต้องได้รับการอบรมให้ความรู้และมีผู้ควบคุมการใช้งานเครนดูแลอย่างเข้มงวด ในส่วนของภาครัฐควรจะมีการพิจารณาข้อกำหนดให้วิศวกรผู้ควบคุมงานติดตั้งและทดสอบ รวมทั้งผู้บังคับเครนต้องผ่านการทดสอบและประเมินความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเครนตามมาตรฐานสากลจากภาครัฐก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าปฏิบัติงาน