เที่ยวบ้านฉัน…ไปแล้วจะรู้
อยู่แล้วจะรัก..จันทบุรี (3)
ยังคงพบกันอีกหลายตอน เพราะหมู่บ้านหรือชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของจังหวัดจันทบุรี มีมากกว่า 40 หมู่บ้าน ซึ่งต่างมีเสน่ห์แตกต่างกันไป จากวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมและอาหาร แต่สามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันได้ สำหรับวันนี้พาไปเยือนน้ำตกเขาสอยดาว การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ อ.สอยดาว ซึ่งเป็นอำเภอที่มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจหลายแห่งทีเดียว สมกับคำขวัญที่ว่า “สุขทุกวันที่จันทบุรี สุขทุกวินาทีที่ทรายขาว หมู่บ้านช้างใหญ่ กระวานพันธุ์ดี น้ำตกเขาสอยดาว การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์”
12. บ้านปะตงล่าง ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๕ ตำบลทรายขาว อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
เริ่มต้นกันที่หมู่บ้านปะตงล่าง ซึ่ง เดิมเป็นหมู่บ้านที่มีคนไทย จีน ขอม (เขมร) ย้ายถิ่นมา ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีการแบ่งพรมแดนประเทศที่ชัดเจน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีการตั้งรกรากสร้างบ้านทำการเกษตรในพื้นที่บริเวณวัดปะตง และบ้านนา ปะตง เป็นภาษาเขมรแปลว่า เที่ยงตรง โดยมีเรื่องเล่าว่า มีพระเดินธุดงค์เดินทางมาถึงบริเวณนี้ตอนเที่ยงตรงพอดี
สำนักกระวานเขาสอยดาว
กระวานที่บ้านปะตงล่างได้ชื่อว่ามีคุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกและเพาะพันธุ์กระวาน จึงเกิดเป็นสำนักกระวานขึ้น โดยสํานักกระวานเป็นเพิงที่พักอยู่อาศัยระหว่างที่ทำการเก็บเกี่ยวกระวาน พืชตระกูลขิง ข่า วิธีการเก็บกระวานจะเก็บ ช่อร่วงที่ออกบริเวณใต้โคนต้นซึ่งจะออกเฉพาะต้นที่อยู่บนภูเขาเท่านั้นแล้วนำเมล็ดกระวานไปย่างไฟให้แห้ง สํานักกระวานจึงจำเป็นต้องก่อไฟไว้ตลอดเพื่อใช้ย่างกระวานและเพื่อเป็นสัญญาณไว้กันสัตว์ป่า
หอชมช้าง
หมู่บ้านปะตงล่าง เป็นหมู่บ้านที่มีโขลงช้างให้พบเห็นอยู่เสมอ จึงมีการสร้างหอสังเกตการณ์ไว้สังเกตการณ์เส้นทางเดินของช้าง สำหรับนักท่องเที่ยวจะได้ร่วมกิจกรรมยิงกระสุนพันธุ์ไม้ป่า เพื่อเป็นการขยายพันธุ์ต่อไป
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเช็คอินมากมาย อาทิเช่น ศาลเจ้าพ่อสอยดาว, น้ำตกเขาสอยดาว, ศาลาอายุ ๔,๐๐๐ ปี
13. บ้านเตาถ่าน หมู่ ๕ ตำบลทุ่งขนาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
“เตาถ่านพัฒนา ประปาดื่มได้ ค้าขายชายแดนเขมร เน้นวัฒนธรรมสืบสาน งานบุญร่วมใจ ห่างไกลยาเสพติด ช่วยกันคิดช่วยกันทำ นำชุมชนสู่ความเข้มแข็ง”
บ้านเตาถ่านมีสภาพทั่วไปของพื้นที่เป็นป่าดงดิบ ต่อมามีราษฎรจากหลายจังหวัดอพยพมาอาศัยอยู่ เพื่อประกอบอาชีพทางการเกษตรคนในชุมชนได้ใช้เศษไม้จากการทำที่อยู่อาศัยและการทำการเกษตรนำมาเผาถ่าน โดยเตาเผาถ่าน มีลักษณะเป็นเตาอบ ราษฎรในพื้นที่และผู้ที่สัญจรไปมาพบเห็นว่าบริเวณแห่งนี้มีการเผาถ่านและมีเตาเผาถ่านลักษณะดังกล่าวอยู่มาก จึงเรียกขานบริเวณแห่งนี้สืบต่อกันมาว่า “บ้านเตาถ่าน” เมื่อความเจริญเพิ่มมากขึ้นก็ได้มีราษฎรจากหลายจังหวัดอพยพเข้ามาทำกินในบริเวณแห่งนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับแหล่งท่องเที่ยว มีให้เช็คอินมากมายทีเดียว อาทิเช่น เที่ยวชุมชนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรแปลงใหญ่หญ้าเนเปียร์, ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนตามรอยประวัติศาสตร์, ชุมชนรำลึกวีรชนคนกล้าเชื่อมโยงวัฒนธรรมสองแผ่นดินชมชิมสินค้า OTOP เลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้ของฝาก และการแปรรูปไม้ , กราบขอพรพระใหญ่วัดเขาแจงแบง
14. บ้านซับตารี หมู่ ๒ ตำบลทุ่งขนาน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
“รำลึกวีรชน ๑๙ ธันวา หอพระพุทธบูชาคู่บ้าน สืบสานวัฒนธรรมไทย บุญบั้งไฟประเพณี”
หมู่บ้านซับตารี เป็นหมู่บ้านเขตชายแดนไทยกัมพูชา มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานราวปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยตาหวังและตาจง ย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอพิบูลมังสาหารและอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ที่เรียกว่าหมู่บ้านซับตารีเพราะบริเวณหมู่บ้านมีตาน้ำซึ่งภาษาถิ่นจะเรียกว่าซับ และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ตาน้ำ หรือ ซับ มีชื่อว่า ตารี จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ซับตารี ซึ่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ยังคงความเป็นชาวอีสาน ไม่ว่าจะอาหารการกิน หรือ งานบุญประเพณีต่างๆ เช่น การสวดซำฮะ หรือ การแห่บั้งไฟ
มาหมู่บ้านนี้ต้องมาแวะตลาดชายแดนซับตารี ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ก่อนจะเป็นตลาดซับตารี ทั่วบริเวณตลาด คือ จุดพักไม้ กองไม้สัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาส่งต่อโรงงานแปรรูปในไทย แต่เมื่อสหประชาชาติและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคัดค้านการตัดไม้จากกัมพูชา จึงทำให้สิ้นสุดการทำไม้บริเวณชายแดน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ หลังสงครามสงบลง ตลาดการค้าชายแดนขยายตัวเริ่มมีชาวกัมพูชาอพยพเข้ามาหากินและทำการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ร่วมกับคนไทย โดยนำสัตว์ป่า ของป่า สมุนไพร และของที่หาได้จากป่า เช่น น้ำผึ้งป่ามาค้าขายในแนวชายแดนหมู่บ้านซับตารี
และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของตลาดซับตารีจากร้านค้าของคนไทยและคนกัมพูชาที่มีเพียงไม่กี่ร้าน จึงค่อยๆ เติบโตขึ้นเป็นร้านค้าเกือบ ๑๐๐ ร้าน และทำให้ตลาดแห่งนี้กลายเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนรายได้ระหว่างสองประเทศอย่างมหาศาล ปัจจุบันเป็นจุดผ่อนปรนบ้านซับตารี ชาวกัมพูชายังคงข้ามแดนเข้ามาซื้อสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า ของใช้ อาหาร ผลไม้ และยังคงเดินทางเข้ามารับจ้างเป็นแรงงานตามสวนผลไม้ในพื้นที่อำเภอสอยดาวอีกด้วย
15. บ้านสวนส้ม หมู่ที่ 5 ตำบลสะตอน อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี
“ผลิตภัณฑ์จากไม้ ค้าขายชายแดน แน่นเฟ้นเพื่อนบ้าน ด้านการเกษตรนำร่อง”
โดยปี พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๑๘ เดิมทีบริเวณนี้เป็นพื้นที่ทำสวนส้มโอของนายสมพงษ์ ณ บางช้าง มาก่อนหลังจากนั้น ก็มีการรวบรวมกลุ่มชาวบ้านที่กระจัดกระจายอยู่บริเวณนั้นเพื่อก่อตั้งเป็นหมู่บ้านเขตป้องกันตัวเองชายแดนจันทบุรี เพื่อความมั่นคง ในปีพ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๖ จึงตั้งชื่อว่า “บ้านสวนส้ม”
ในช่วงนั้นมีสงครามระหว่างเวียดนามและเขมรแดง หลังจากที่สงครามเริ่มสงบจึงมีการประกาศเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และเริ่มทำการค้าไม้ระหว่างไทยและกัมพูชา ตลาดการค้าไม้ในสมัยนั้นได้รับความนิยมมากจึงทำให้ช่างไม้จากทั้งทางภาคเหนือและอีสานย้ายถิ่นฐานเข้ามาในบ้านสวนส้มจนเป็นชุมชนอุตสาหกรรมงานไม้และเฟอร์นิเจอร์
บ้านสวนส้มจึงกลายเป็นตลาดเฟอร์นิเจอร์ที่มีชื่อเสียง มีการสืบทอดผีมือช่าง ตั้งแต่โบราณจากรุ่นสู่รุ่น นิยมแปรรูปไม้ ทุกชนิดเพื่อสร้างเป็นเฟอร์นิเจอร์ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง เช่น ตู้ โต๊ะ เตียง บานประตู และของที่ระลึกขนาดเล็ก เช่น พวงกุญแจ ป้ายที่ทำจากไม้แบบต่างๆ
สวนกล้วยไข่ ๓,๐๐๐ ไร่
เป็นอีกที่ต้องไปเที่ยวชมกัน เพราะเป็นการรวมพื้นที่ของชาวบ้านที่ปลูกกล้วยไข่เหมือนกัน เป็นวิธีเกษตรของชาวบ้านในชุมชนที่สามารถส่งเสริม การเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวได้ และเพิ่มเติมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขี่รถไถ รถซาเล้ง และรถอีแต๊ก
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเช็คอินมากมาย อาทิเช่น วัดเขาแจงแบง, หลุมหลบภัยตรงบริเวณชายแดน, ตลาดประชารัฐ
16. บ้านแหลม หมู่ ๔ ตำบลเทพนิมิต อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี
“ดินแดนสองแผ่นดิน ถิ่นประวัติศาสตร์”
ที่บ้านแหลม เดิมเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กได้ก่อตั้งมาแล้วกว่าร้อยปี สาเหตุที่ชื่อว่าบ้านแหลมเนื่องจากว่าอยู่ในปลายแหลมสุดของแม่น้ำที่กั้นพรมแดนไว้ ปัจจุบันบ้านแหลมได้มีจุดข้ามแดนถาวรผู้คนบ้านแหลมมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายมีภาษาท้องถิ่นเป็นของตัวเองยังถือได้ว่าเป็นชุมชนชนบท พึ่งพาอาศัยกันแบบพี่น้อง ภายในชุมชนบ้านแหลมมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีโรงปฐมวัย และวัดบ้านแหลม
สถานที่เที่ยว ก็มี วัดบ้านแหลม ที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ ๒๔๔๐ อยู่คู่ชุมชนมากกว่า ๑๐๐ ปี โดยมีหลวงตาตุ๋ยเป็นเจ้าอาวาสปกครองรูปแรกสมัยก่อนเกิดสงครามภายในกับประเทศกัมพูชาซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนมีลูกปืนใหญ่ข้ามแดนมาตกที่หมู่บ้านหลวงตาตุ๋ยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้านในขณะนั้นให้การดูแล ปัจจุบันวัดบ้านแหลมได้รับการบูรณะวัดให้มีความสวยงามร่มเย็นเหมาะสำหรับชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาทำบุญพร้อมนมัสการ
หลุมหลบภัย เป็นผลพวงจากสงครามเขมรแดง เมื่อปี พ.ศ ๒๕๑๘ ที่มีลูกกระสุนปืนใหญ่ตกเข้ามาในชุมชน จนต่อมาปี พ.ศ ๒๕๒๐ ทางการได้มีงบประมาณสร้างหลุมหลบภัยให้กับชุมชนบ้านแหลมเพื่อให้ความปลอดภัยกับคนในชุมชน
นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเช็คอินมากมาย สวนผักออแกนิก, ต้นไทรร้อยปี, คลองคูเรต
ไปแล้วอย่าลืมช้อปผลิตภัณฑ์ของชุมชน ช่วยชาวบ้านมีรายได้กันด้วยนะคะ ซึ่งมีทั้งน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ลูกประคบสมุนไพร ไข่เป็ดหนูดี ถ่านโลกเขียว ผักทานตะวันงอก ปุ๋ยหมักมูลไก่ ผักอินทรีย์ กระบุงจักสาน น้ำพริกเผากากหมูแหลมทอง ข้าวเกรียบลำไย