อธิบดีสถ. มอบนโยบายท้องถิ่น
เร่งรัดอปท.ช่วยเกษตรกรสวนยาง
อธิบดี สถ. มอบนโยบายท้องถิ่นจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรัด อปท. ขับเคลื่อนนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางพารา พร้อมเร่งสร้างจิตสำนึกในการแก้ปัญหาขยะของชาติ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายเน้นหนักของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อสื่อสารถึงนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่หน่วยราชการในสังกัดจะต้องนำไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ ให้แก่ผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และท้องถิ่นจังหวัดทั่วประเทศกว่า 160 คน
อธิบดี สถ. ย้ำว่า ภารกิจเร่งด่วนของกรมฯ ในเวลานี้ คือ การช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยกรมฯ ได้ขอให้ท้องถิ่นจังหวัดทั่วประเทศ จัดทำและเร่งรัดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการก่อสร้าง หรือปรับปรุงถนนที่ใช้ส่วนผสมของยางพารา ในระหว่างเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 – มีนาคม พ.ศ. 2562 และจากการสำรวจ ข้อมูลประมาณการใช้ปริมาณน้ำยางพาราในการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนน หรือกิจกรรมอื่นๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ พบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 อปท.ทั่วประเทศ จะใช้เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ในก่อสร้างถนน จำนวน 1,118 โครงการ (929 อปท.) ใช้ปริมาณน้ำยางพารา 8,110.59 ตัน และใช้เงินจ่ายขาดสะสม ในการก่อสร้างและซ่อมแซมถนน จำนวน 1,128 อปท. ใช้ปริมาณน้ำยางพารา 8,781.23 ตัน รวมปริมาณน้ำยางพาราที่ อปท.จะใช้จำนวนกว่า 16,891.82 ตัน รวมเป็นเงินงบประมาณกว่า 6,662,268,600 บาท หรือกว่า 6 พันล้านบาท
อธิบดี สถ. ยังได้มอบนโยบายที่ต้องเร่งนำไปปฏิบัติอีกหลายเรื่อง เช่น การขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ที่ถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ ที่ให้ อปท.ทุกแห่ง ร่วมกันรณรงค์การสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการช่วยกันลดโลกร้อน แก้ไขปัญหาขยะ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพราะความสำเร็จอยู่ที่จิตสำนึกของพี่น้องประชาชน เช่น โครงการ “ท้องถิ่นไทย ร่วมใจ ลดปริมาณและคัดแยกขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียกครัวเรือน”
โดยเชิญชวนให้ทุกครัวเรือน ดำเนินการจัดตั้ง “ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน” ให้ครบทุกครัวเรือนในพื้นที่ กรณีครัวเรือนหรือ สถานที่ที่ไม่มีพื้นที่ในการดำเนินการจัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน” ได้เอง เช่น ชุมชนเมือง ทาวน์เฮาส์ อาคารชุด ฯลฯ ก็ให้จัดหาจุดรวบรวมขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน อย่างน้อย 1 จุด หรือ ที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องกำหนดจุดรวบรวมหลายจุด ให้กำหนดจุดรวมขยะเปียก เช่น จุดที่ 1 จุดรวบรวมสำหรับบ้านเลขที่ 1 – 50 จุดที่ 2 จุดรวบรวมสำหรับบ้านเลขที่ 51 – 100
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ 1 อปท. 1 ถนนท้องถิ่นใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่ให้ อปท. รักษาความสะอาดบริเวณถนนสายต่างๆ ให้เป็นระเบียบร้อย ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม โดยให้คัดเลือกถนนที่อยู่ในพื้นที่จำนวน 1 สายทาง ความยาวระยะทางไม่น้อยกว่า 500 เมตร และกว้าง 3 – 6 เมตร หรือถนนที่เป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาพัฒนา ปรับปรุง ดูแล และรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณถนน ภายใต้การมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ โดยให้พิจารณาปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ หรือไม้ยืนต้นประจำท้องถิ่น/อำเภอ/จังหวัด ให้ดูร่มรื่น และสวยงามทั้งสองข้างทางถนน ปรับปรุงทิวทัศน์สองข้างทางให้สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชุมชน หรือเอกลักษณ์ของชุมชน โดยให้มีการดูแลสิ่งแวดล้อมของถนนอย่างเป็นระบบ เช่น กระบวนการรักษาความสะอาด การจัดเก็บขยะ การคัดแยกขยะ หรือบริเวณไหล่ทาง หรือสองข้างทางของถนน ก็ควรมีการจัดระบบการระบายน้ำโดยใช้หลักการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด)ด้วย โดยให้ดำเนินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561นี้
อธิบดี สถ. ยังได้กำชับในเรื่องของการดำเนินโครงการวัดประชารัฐ สร้างสุข : พัฒนาวัดด้วยแนวทาง 5 ส. ที่ได้กำหนดให้ 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอย่างน้อย 1 วัดเข้าร่วมโครงการฯ เว้นแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ไม่มีวัดอยู่ในพื้นที่ ก็ให้คัดเลือกศาสนสถาน ของศาสนานั้นดำเนินการตามโครงการฯ แทน โดยอนุโลมให้ สอดคล้องกับหลักของศาสนานั้นๆ และในระยะที่ 2 ก็ได้มีการชิญชวนให้ทุก อปท. เพิ่มจำนวนวัด หรือศาสนสถานอีก 1 แห่ง นั่นหมายความว่า ภายในปี 2562 ทุก อปท. จะมีศาสนสถานที่เข้าร่วมโครงการ อย่างน้อย 2 ศาสนสถาน
“ต้องขอให้ทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนงานตามนโยบายต่างๆ ทั้งของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยจะต้องมีการสร้างความรับรู้และความเข้าใจ ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมถึงคนในองค์กร ให้ได้รับรู้ถึงการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่ทำขึ้นเพื่อ “บําบัดทุกข์ บํารุงสุข” ให้พี่น้องประชาชน” อธิบดี สถ.กล่าว
ขอบคุณภาพประกอบยางพาราจาก-http://rubberplasmedia.com