ประธานสหกรณ์ สถ.ชู “กฎ-กติกา”
ตามทวงหนี้ “กู้แล้วไม่จ่าย” สางNPL
ประธานสหกรณ์ สถ.ชู “กฎ-กติกา” เดินหน้าสางปัญหาหนี้ NPL ยันต้องตามทวงหนี้ “กู้แล้วไม่จ่าย” อย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองเงินออมของ สมช. 3 หมื่นคน พร้อมตั้งคลินิกช่วยคนค้ำประกันพ้นทุกข์รับภาระหนี้แทน ทั้งช่วยเรื่องดอกเบี้ย ช่วยค่าใช้จ่ายตามฟ้องคดี และช่วยขยายเวลาชำระหนี้ ยืนยันไม่ได้ปิดปาก สมช.ในที่ประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จํากัด (สอ.สถ.) เปิดเผยว่า สหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด (สอ.สถ.) มีจำนวนสมาชิกประมาณ 30,000 คน ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พนักงานและลูกจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสมทบอื่น สอ.สถ.ได้มีการปล่อยกู้ จนถึงปัจจุบันจำนวน 22,889 ราย เป็นเงิน 4,462.52 ล้านบาท และมีหนี้ NPL จำนวน 7,150 ราย เป็นเงิน 1,189.29 ล้านบาท คิดเป็น 26.65 % ซึ่งทางสหกรณ์ฯ ได้มีการติดตามทวงหนี้จากผู้กู้มาเป็นเวลาหลายปี จนถึงปัจจุบันเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จึงได้มีมติให้ ดำเนินการเรียกชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกัน ที่ได้มีการทำสัญญาค้ำประกัน และได้ทำหนังสือยินยอมให้หักเงินเดือนจากผู้ค้ำประกัน และให้หน่วยงานหักเงินเดือนชำระหนี้แทนผู้กู้เพื่อนำส่งให้สหกรณ์
สอ.สถ. ได้ดำเนินการจัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จํากัด เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ตามข้อเรียกร้องของสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย และเครือข่ายสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สอ.สถ.) โดยมีสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน เพื่อพิจารณาประเด็นใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1.พิจารณาเพิกถอนมติของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ชุดที่ 14 ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 เฉพาะประเด็นที่สหกรณ์ใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนลูกหนี้ (ผู้กู้) 2. กรณีที่สมาชิก สอ.สถ. ยื่นหนังสือ พร้อมแนบรายชื่อสมาชิก ขอให้มีการถอดถอนกรรมการดำเนินการชุดที่ 14 ทั้งคณะ และ 3.ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสหกรณ์ ในประเด็นที่มาของคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งทาง สอ.สถ. ก็ได้มีหนังสือหารือแนวทางดังกล่าวต่อสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร จึงนำมาเป็นวาระเพื่อทราบของการประชุม
อธิบดี สถ. กล่าวถึงบรรยากาศของการประชุมฯ ว่าก่อนที่จะเข้าวาระการประชุมได้มีสมาชิกฯ ลุกขึ้นขออภิปราย ซึ่งได้แจ้งให้ทราบว่ายังไม่อนุญาตให้มีการพูดอภิปราย โดยขออนุญาตดำเนินการตามวาระการประชุมไปก่อน และเมื่อถึงวาระอื่น ๆ จะมีการเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนได้เสนอความคิดเห็นในตอนนั้น แต่ก็มีสมาชิกส่วนหนึ่งไม่พอใจเดินออกจากห้องประชุม โดยไม่ยอมรับฟังผลการประชุม ซึ่งทาง สอ.สถ. ได้มีการบันทึกภาพบรรยากาศต่างๆไว้ด้วย สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ สอ.สถ. www.dlasavingcoop.com
อย่างไรก็ตาม การประชุมจึงดำเนินการต่อไปจนถึงวาระที่ 2 เรื่อง การเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ โดยแจ้งผลการหารือแนวทางดังกล่าวต่อสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร ให้ที่ประชุมทราบ ซึ่งสมาชิกในที่ประชุมได้ตะโกนไม่รับทราบผลการประชุม และฉีกระเบียบวาระโยนทิ้งและเดินออกจากห้องประชุม โดยไม่ได้รับฟังการประชุม รวมทั้งไม่ได้มีการเสนอความเห็นในช่วยเหลือผู้ค้ำประกันแต่อย่างใด แม้ประธานได้ขอร้องให้นั่งประชุมต่อก็ตาม และทางแกนนำ ก็ได้ใช้โทรโข่งเรียกคณะสมาชิกออกไปจากห้องประชุม ซึ่งฝ่ายจัดการนับองค์ประชุมมีสมาชิกเหลืออยู่ 120 คน จึงดำเนินการประชุมต่อไป จนครบวาระที่ 3 และที่ 4 และเมื่อได้ดำเนินการจนครบวาระการประชุม จึงได้มีการเปิดโอกาสให้สมาชิกสหกรณ์ได้ซักถามข้อสงสัย และข้อเสนอแนะต่างๆ โดยทางสมาชิก จำนวน 7 ท่าน ได้มีข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม ดังนี้ 1. การเสนอให้ผู้ค้ำผ่อนชำระเพียงเงินต้นที่ตนค้ำประกัน โดยทาง สอ.สถ. ไม่คิดดอกเบี้ย 2. ให้มีการดำเนินการกับผู้กู้ที่ยังคงทำงานอยู่ แต่ไม่ยอมชำระหนี้ก่อน 3.ขอให้มีการดำเนินการติดตามหนี้ของผู้กู้ไปยังองค์กรต้นสังกัดของผู้กู้ 4. คลินิคแก้หนี้มีเพียงในส่วนกลาง และภาคกลาง แต่สมาชิกส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคอื่นๆไม่สามารถเดินทางมาเพื่อเข้าร่วมโครงการได้ 5.อยากให้การโอน หนี้เมื่อได้รับชำระแล้ว ก็ถือว่าจบไม่ต้องมีการดำเนินคดี และ 6. กรณีที่ผู้กู้ยินดีที่จะจ่ายหนี้ จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งทาง สอ.สถ.จะนำไปพิจารณาเพื่อหาทางช่วยเหลือสมาชิกผู้ค้ำประกันต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป โดยหลังจากเสร็จสิ้นการประชุม ประธานและกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ลงมาพบปะพูดคุยกับสมาชิกที่ยังคงอยู่ในห้องประชุม จนเป็นที่น่าพึงพอใจและคลายข้อสงสัยให้แก่สมาชิกเหล่านั้น
นอกจากนี้ ทาง สอ.สถ. ยังได้จัดโครงการช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน (คลินิกแก้หนี้) ขึ้น โดยมีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ค้ำประกันที่ได้รับการโอนหนี้จากผู้กู้ที่ค้างชำระ เพื่อให้ผู้ค้ำประกันได้แก้ไขปัญหาหนี้สินให้ยุติในคราวเดียว และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการชำระหนี้ของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามความสามารถที่แท้จริง ควบคู่กับการเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดี รวมทั้งเพื่อเป็นการให้คำแนะนำในด้านต่างๆ แก่ผู้ค้ำประกัน ให้ได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ หรือขอประนอมหนี้ และปลดภาระหนี้ ควบคู่กับการเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินขึ้น โดยมีมาตรการช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน โดย 1. ยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ/ดอกเบี้ยเก่าของผู้กู้ ทั้งหมดแก่ผู้ค้ำประกัน (สงวนสิทธิ์เรียกเก็บจากผู้กู้) 2. ผู้ค้ำประกันมีสิทธิฟ้องดำเนินคดีกับผู้กู้ โดยสหกรณ์ช่วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีร้อยละ 50 ของใบเสร็จรับเงินที่นำมาแสดงกับสหกรณ์ 3. สมาชิกที่เป็นผู้ค้ำประกันสามารถส่งคำขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ (รวมหนี้ หรือแยกเฉพาะหนี้ที่รับโอน) โดยสามารถขยายงวดผ่อนชำระได้ถึง 180 งวด และไม่เกินอายุราชการ 4. ผู้ค้ำประกันที่พ้นสมาชิกภาพไปแล้วสามารถส่งคำขอประนอมหนี้ได้ ถ้าชำระเงินต้นทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ/ดอกเบี้ยเก่า ร้อยละ 90 หรือ ขยายงวดผ่อนชำระได้ถึง 120 งวด และไม่เกินอายุราชการ และ 5. กรณีที่เป็นหนี้ก่อนปี พ.ศ. 2556 เมื่อสมาชิกชำระหนี้ทั้งหมดในคราวเดียวกันจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันร้อยละ 20 ของเงินต้น แต่ไม่เกิน 40,000 บาท ด้วย
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ทางผู้แทน สอ.สถ. โดยนางสาวสมศรี หลิมตระกูล ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด และนายอนุพันธ์ พานิช ผู้ช่วยผู้จัดการฯ ได้เข้าร่วมสนทนาสดในรายการสถานีประชาชน ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับนายเอนก หัวนา สมาชิก สอ.สถ./ประธานเครือข่ายสมาชิก สอ.สถ.ผู้ค้ำประกัน นางสาวเกษร ธรรมชาพร สมาชิก สอ.สถ. (ผู้ค้ำประกัน) นายเรืองชัย โพนพุฒิ ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจการสหกรณ์ พื้นที่ 1 และนายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ เพื่อชี้แจงกรณีการเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ที่เกิดเหตุการณ์สมาชิก สอ.สถ. เดินออกจากห้องประชุมโดยไม่รับฟังการประชุม และอ้างว่าประธานกรรมการไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะประธานฯ ได้ขอให้ดำเนินการตามวาระการประชุมไปก่อน เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม จึงจะมีวาระที่จะให้สมาชิกที่มีความประสงค์จะสอบถามได้พูดในโอกาสต่อไป
และหลังจากจบการออกรายการแล้ว ยังได้มีการพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติม โดยมีว่าที่ร้อยตรีฐานินทร์ ริ้วธงชัย รองผู้จัดการฯ นายเรืองชัย โพนพุฒ ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจการสหกรณ์ นายกฤติน ไกรกานนท์ ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายเอนก หัวนา สมาชิก สอ. สถ./ประธานเครือข่ายสมาชิก สอ.สถ. ผู้ค้ำประกัน นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง สมาชิกสอ. สถ./นายกสมาคม ข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ และสมาชิก สอ.สถ อีกประมาณ 10 คน ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นของแนวทางการดำเนินการเรียกชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกัน โดยทางนายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้เสนอถึงการขอชะลอการใช้มติคณะกรรมการดำเนินการฯ ชุดที่ 14 ครั้งที่ 7/2561 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 โดยยังไม่หักเงินจากผู้ค้ำประกัน เป็นเวลา 3 เดือน ในระหว่างที่รอทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจสอบข้อมูล และขอชะลอการให้สมาชิกผู้ค้ำประกันพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพ เป็นเวลา 3 เดือน กรณีสมาชิกค้างชำระหนี้แทนผู้กู้เป็นเวลา 3 เดือน ในระหว่างที่รอทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ตรวจสอบข้อมูลด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง สอ.สถ. จะรับข้อเสนอดังกล่าวนั้น ไปเสนอคณะกรรมการดำเนินการฯ เพื่อพิจารณาในคราวประชุมถัดไปอีกครั้งหนึ่ง เพราะข้อเสนอที่ให้มานั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจของฝ่ายจัดการในการตัดสินใจ จึงถือว่ายังไม่ได้มีข้อยุติในประเด็นที่เสนอมานั่นเอง
สำหรับผู้ค้ำประกันลูกหนี้ที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต่อ สอ.สถ. ยังคงต้องมีความรับผิดชอบช่วยติดตามหนี้ที่ตนค้ำประกันไว้ หรือไม่ก็ต้องชำระหนี้แทนผู้ที่ตนเองค้ำประกันไว้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ และข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่คนใดที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ จะหมดคุณสมบัติของการเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ จึงขอให้ทุกคนทำตามกฎหมายและขั้นตอนของระเบียบที่รองรับอยู่ เพราะเงินทั้งหมดนั้น เป็นของสมาชิก สอ.สถ. ทั้ง 30,000 คน ที่ยอมอดออมส่งเป็นทุนเรือนหุ้น จึงขอให้สมาชิกผู้กู้หรือผู้ค้ำประกัน รีบมาติดต่อเพื่อดำเนินการตามแนวทางโดยด่วน เพราะหากไม่ปฏิบัติตามสัญญา
“สอ.สถ. จำเป็นต้องดำเนินการทุกอย่างตามผลแห่งสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อรักษาเงินทุนของสมาชิก สอ.สถ. ทุกคนไว้ให้ได้ อย่างไรก็ตาม สอ.สถ. ก็ยังได้ตระหนักถึงปัญหาที่ผู้ค้ำประกันต้องมารับภาระบุคคลที่ตนค้ำประกัน จึงได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ค้ำประกันในเรื่องดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดี การขยายระยะเวลาชำระหนี้ และมาตรการอื่นๆ ที่ได้รับการเสนอจากสมาชิกในที่ประชุมวิสามัญที่ผ่านมา โดยจะนำมาพิจารณาช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ การดำเนินการของ สอ.สถ. ได้ดำเนินการภายใต้ระเบียบ กฎหมาย และเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์โดยรวม ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั่นเอง” อธิบดี สถ. กล่าวย้ำในตอนท้าย