เอ็มเทค สวทช. จับมือ พพ.
นำร่องใช้น้ำมัน B10 ภาคขนส่ง
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดโครงการนำร่องใช้น้ำมัน บี10 จากไบโอดีเซลคุณภาพสูง (H-FAME) ในภาคขนส่งรวม 80 คัน ภายใต้โครงการ “สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น” เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการผลักดันเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซล ในอนาคต ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วน 30% ในภาคขนส่งภายในปี 2579 ใช้ไบโอดีเซลไว้ที่ 14 ล้านลิตร/วัน
ดร.อารี ธนบุญสมบัติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 เห็นชอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ในการตั้งเป้าหมายสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 30 ในปี 2579 ซึ่งในภาคขนส่ง ได้มีการตั้งเป้าหมายการใช้ไบโอดีเซลไว้ที่ 14 ล้านลิตร/วัน อีกทั้งในการประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นทางเลือก โดยดำเนินการให้เกิดการผลิตไบโอดีเซลตามที่ได้ปรับปรุงคุณภาพแล้วในเชิงพาณิชย์ และดำเนินโครงการนำร่องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 แล้วนั้น
กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ดำเนินการขยายผลกระบวนการ H-FAME (เฮช-เฟม) ในการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล สู่การผลิตระดับโรงงานสาธิตในประเทศ ซึ่งได้ต่อยอดเทคโนโลยี H-FAME (เฮช-เฟม)จากโครงการร่วมวิจัย ไทย-ญี่ปุ่น ซาเทรป (SATREPS) เพื่อผสมในดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 10 สำหรับการนำร่องใช้งานกับยานยนต์หลากหลายประเภทกว่า 80 คัน ในหน่วยงานราชการ อันได้แก่ กรมอู่ทหารเรือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ สวทช. โดยจะทำการติดตามการใช้งานของยานพาหนะด้วยน้ำมัน B10 อย่างใกล้ชิดเพื่อประมวลผลการใช้งาน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการใช้เชื้อเพลิง B10 ในลำดับต่อไป
“วันนี้ ทางโครงการฯ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ในการร่วมเป็นสักขีพยานในการแถลงข่าวนำร่องการใช้ B10 ในภาคขนส่ง”
ด้านนายวันชัย บรรลือสินธุ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการแถลงข่าวการนำร่องใช้น้ำมัน บี10 จากไบโอดีเซลคุณภาพสูง (H-FAME) ในภาคขนส่ง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรงานวิจัยญี่ปุ่น ได้แก่ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และ สถาบันวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมชั้นสูง ประเทศญี่ปุ่น (AIST) เพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูง H-FAME ขึ้นในประเทศ ก่อนนำไปผสมเป็นน้ำมัน B10 เพื่อนำร่องใช้ในภาคขนส่งกว่า 80 คัน จาก กรมอู่ทหารเรือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ สวทช เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้น้ำมัน B10 ในสภาวะการใช้งานจริง อันจะเป็นการสนับสนุนแนวทางการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วนที่สูงขึ้นในอนาคต ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579
ดร.นุวงศ์ ชลคุป นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าโครงการวิจัยฯ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า การนำร่องใช้น้ำมัน B10 ในยานพาหนะที่หลากหลายประเภทกว่า 80 คัน จาก 4 หน่วยงานข้างต้นนี้ จะมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยจะมีการติดตามเก็บข้อมูลการใช้งาน เช่น ระยะทางวิ่งต่อวัน ปริมาณน้ำมัน B10 ที่ใช้ต่อวัน ทัศนะคติของผู้ขับ เพื่อประมวลผลและวิเคราะห์แนวทางการใช้น้ำมัน B10 อย่างยั่งยืนในอนาคต
พลเรือตรี ดร. สมัย ใจอินทร์ เจ้ากรมพัฒนาการช่าง กรมอู่ทหารเรือ กล่าวว่า ทาง กรมอู่ มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ นี้ โดยการนำยานพาหนะของข้าราชการ ทหาร ลูกจ้างและพนักงานราชการในสังกัด กรมพัฒนาการช่างและอู่ทหารเรือธนบุรี เข้าร่วมนำร่องการใช้ B10 เพื่อใช้ในการติดต่อราชการขนส่งและเดินทาง โดยจะติดตามการใช้งานยานพาหนะดังกล่าว ร่วมกับเอ็มเทคอย่างใกล้ชิด เพื่อทำการประเมินการใช้ B10 จากไบโอดีเซลที่ได้รับการเพิ่มคุณภาพแล้ว ในภาคสนาม
ทั้งนี้กรมอู่ฯ ได้มีการดำเนินโครงการด้านการผลิตและใช้ไบโอดีเซลมาตั้งแต่ปี 2543 อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกิดจากพระอัจฉริยะภาพและสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช น้อมเกล้าลงสู่ทหารเรือ เหนืออื่นใดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 กองทัพเรือได้จัดเรืออังสนาซึ่งผ่านการใช้ B100 จากโครงการวิจัยของกรมอู่ทหารเรือ ถวายให้เป็นเรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จฯ ทางชลมารค เพื่อทรงทำพิธีเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และสะพานภูมิพล ๑-๒ ต.ทรงคะนอง อ.พระประเแดง จ.สมุทรปราการ นับเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มต้นขับเคลื่อนโครงการ “สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น” ต่อหน้าเรือพระที่นั่งลำแรกที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซล B100 ตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน
ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีการนำรถโดยสารสวัสดิการที่วิ่งภายในวิทยาเขตบางเขน และรถยนต์ส่วนกลาง เข้าร่วมนำร่องการใช้ B10 โดยจะติดตามการใช้งานยานพาหนะดังกล่าว ร่วมกับเอ็มเทคอย่างใกล้ชิด เพื่อทำการประเมินการใช้ B10 จากไบโอดีเซลที่ได้รับการเพิ่มคุณภาพแล้ว ภายใต้สภาวะการใช้งานจริง ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยสร้างความตระหนักการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในมหาวิทยาลัยแล้ว จะช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเดินรถโดยสารภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นที ภู่รอด รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จะมีการนำยานพาหนะของมหาวิทยาลัย ที่มีทั้งรถกระบะบรรทุก รถตู้ และรถบรรทุกอเนกประสงค์การเกษตร (รถอีแต๋น) ตลอดจนเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้สูบน้ำภายในมหาวิทยาลัย เข้าร่วมนำร่องการใช้ B10 โดยจะร่วมมือกับทางทีมวิจัยจากเอ็มเทคในการติดตามการใช้ดังกล่าว เพื่อทำการประเมินการใช้ B10 ในหลากหลายรูปแบบ”
ทั้งนี้ในตอนท้ายของการแถลงข่าวทุกฝ่าย รวมถึงสื่อมวลชนได้ร่วมล่องเรืออังสนาบนแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ขับเคลื่อนด้วยไบโอดีเซลล้วน B100 ด้วย