สยามอินเทอร์เน็ตโพลล์พบ67.53%
เชื่อขึ้นค่ารถไม่แก้แท็กซี่ปฏิเสธปชช.
สยามอินเทอร์เน็ตโพลล์พบ 67.53% เชื่อขึ้นค่ารถไม่แก้ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร 70.13% รับไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจกลุ่มคนขับรถรับจ้างสาธารณะที่ออกมาประท้วงรถบริการผ่านแอปพลิเคชั่น 68.83% เชื่อว่ามีกลุ่มผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการออกมาประท้วงของกลุ่มคนขับรถรับจ้างสาธารณะ 72.12% มองการประท้วง ยิ่งทำให้คนหันไปใช้บริการรถผ่านแอปฯเพิ่มขึ้น
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อปัญหาการประท้วงของคนขับรถรับจ้างสาธารณะกับสิทธิการเลือกใช้บริการของประชาชน” สำรวจระหว่างวันที่ 16 ถึง 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,155 คน
บริการรถรับจ้างสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือรถสามล้อรับจ้าง จัดเป็นบริการพื้นฐานด้านการขนส่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากสามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่บริการขนส่งสาธารณะอื่นไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งยังเป็นบริการที่สะดวกสบายรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีบริการรถรับจ้างสาธารณะเรียกผ่านแอปพลิเคชันเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนหันไปเลือกใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะเรียกผ่านแอปพลิเคชันก็เนื่องมาจากผู้คนประสบปัญหากับการใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะทั่วไป เช่น คิดราคาไม่เป็นธรรม คิดราคาเหมาแทนการใช้ระบบคิดราคาอัตโนมัติ หรือการเรียกใช้บริการแต่ไม่ไปส่งยังจุดหมาย
ขณะเดียวกันผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะได้แสดงความไม่พอใจและเรียกร้องความเป็นธรรมจากการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะเรียกผ่านแอพพลิเคชัน จึงออกมาประท้วงเรียกร้องอยู่เป็นระยะ ซึ่งบ่อยครั้งที่มักปรากฏข่าวการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะทั่วไปกับผู้ให้บริการรถรับจ้างสาธารณะเรียกผ่านแอพพลิเคชันจนนำไปสู่การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย และกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในสังคมซึ่งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแก้ปัญหาอย่างจริงจังโดยคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ที่ผู้ใช้บริการพึงได้รับสูงสุดเป็นสำคัญ
จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อปัญหาการประท้วงของคนขับรถรับจ้างสาธารณะกับสิทธิการเลือกใช้บริการของประชาชน
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.56 เพศชายร้อยละ 49.44 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรู้สึกและความคิดเห็นต่อการออกมาประท้วงของกลุ่มคนขับรถรับจ้างสาธารณะเพื่อคัดค้านการให้บริการของรถรับจ้างสาธารณะเรียกผ่านแอพพลิเคชันนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 70.13 ยอมรับว่าตนเองไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจกลุ่มคนขับรถรับจ้างสาธารณะที่ออกมาประท้วงเพื่อคัดค้านการให้บริการของรถรับจ้างสาธารณะเรียกผ่านแอปพลิเคชัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.34 ระบุว่ารู้สึกเห็นอกเห็นใจ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.53 ไม่แน่ใจ
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3หรือคิดเป็นร้อยละ 68.83 เชื่อว่ามีกลุ่มผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการออกมาประท้วงของกลุ่มคนขับรถรับจ้างสาธารณะเพื่อคัดค้านการให้บริการของรถรับจ้างสาธารณะเรียกผ่านแอปพลิเคชัน อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเกือบ 3ใน4 หรือคิดเป็นร้อยละ 74.2 มีความคิดเห็นว่าการออกมาประท้วงของกลุ่มคนขับรถรับจ้างสาธารณะเพื่อกดดันให้ยกเลิกบริการรถรับจ้างสาธารณะเรียกผ่านแอปพลิเคชันจะไม่ส่งผลให้ประชาชนหันกลับมาใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.12 มีความคิดเห็นว่าพฤติกรรมการรวมตัวขับไล่/ล้อมรถรับจ้างสาธารณะเรียกผ่านแอปพลิเคชันของกลุ่มคนขับรถรับจ้างสาธารณะมีส่วนทำให้ประชาชนหันไปใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะเรียกผ่านแอพพลิเคชันมากขึ้นได้
ในด้านความคิดเห็นต่อการกำหนดบทลงโทษกับคนขับรถรับจ้างสาธารณะที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม/กระทำผิดกฎหมาย กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2ใน3หรือคิดเป็นร้อยละ 69.35 มีความคิดเห็นว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มบทลงโทษกับคนขับรถรับจ้างสาธารณะที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม/กระทำผิดกฎหมายจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนหันกลับมาใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะเพิ่มมากขึ้นได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.21 เห็นด้วยหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกข้อกำหนดให้คนขับรถรับจ้างสาธารณะที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม/กระทำผิดกฎหมายเป็นครั้งแรกไม่สามารถกลับมาขับรถรับจ้างสาธารณะได้อีกตลอดชีวิต
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 71.08 มีความคิดเห็นว่าหากคนขับรถรับจ้างสาธารณะไม่กระทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม/กระทำผิดกฎหมายต่างๆ จะมีส่วนทำให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะแทนการใช้รถรับจ้างสาธารณะเรียกผ่านแอพพลิเคชันมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 67.53 มีความคิดเห็นว่าหากมีการปรับขึ้นค่าบริการรถรับจ้างสาธารณะจะไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารและการคิดราคาเหมาแทนการคิดราคาตามระยะทางได้จริง