สธ.ย้ำสถานพยาบาลพื้นที่เสี่ยง
เฝ้าระวังน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงสาธารณสุขให้สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เตรียมแผนป้องกัน น้ำท่วมและแผนการจัดบริการ ไม่ให้กระทบการดูแลรักษาประชาชน ตลอดจนเตรียมแผนป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วม ดูแลเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม และสภาพจิตใจของผู้ประสบอุทกภัย
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ส่วนกลาง และได้ติดตามสถานการณ์และการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขผู้บริหารใน 16 จังหวัด ผ่านระบบวิดีโอ และเปิดเผยว่า จากประกาศเตือนภัยกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งว่าขณะนี้พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน แต่ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงโดยเฉพาะ ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และระนอง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
โดยได้กำชับให้สถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง สำรวจความเพียงพอของยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ สำรวจความเสียหายของสถานพยาบาล และเตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมและแผนการจัดบริการไม่ให้กระทบการดูแลรักษาประชาชน ตลอดจนเตรียมแผนป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วม ดูแลเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม และสภาพจิตใจของผู้ประสบอุทกภัย
นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า ในช่วงน้ำท่วม ขอให้ประชาชนเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ ขึ้นที่สูง ขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าไว้ที่สูง ถอดปลั๊ก ควรตัดไฟชั้นล่าง หากเป็นบ้านชั้นเดียวงดใช้ไฟฟ้า ระมัดระวังเรื่องกระแสไฟฟ้าภายในบ้าน ใส่รองเท้าบู๊ทเมื่อต้องลุยน้ำ ป้องกันอุบัติเหตุจากของมีคม นอกจากนี้ ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ใหญ่ ต้องระมัดระวังเรื่องการเล่นน้ำ จมน้ำหรือออกหาปลา ขอให้มีเพื่อนไปด้วยและเตรียมอุปกรณ์ช่วยพยุงตัว เช่น ห่วงยาง แกลลอนเปล่า และดูแลเด็กๆ ไม่ให้เล่นน้ำท่วม
สำหรับโรคที่พบบ่อยช่วงน้ำท่วม เช่น ไข้หวัด ตาแดง โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู ขอให้สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่เปียกชื้น รักษาร่างกายให้อบอุ่น ล้างมือบ่อยๆ ควรสวมรองเท้าบู๊ท ล้างทำความสะอาดมือ เท้า ด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังลุยน้ำ ย่ำโคลน แต่หากมีอาการปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่น่องและโคนขา คลื่นไส้ ท้องเสีย ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคฉี่หนู ให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ป้องกันยุงกัดเป็นไข้เลือดออก หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ จากอิทธิพลของพายุปาบึกทำให้สถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 4 จังหวัด รวม 27 แห่ง คือ นครศรีธรรมราช 12 แห่ง สงขลา 10 แห่ง นราธิวาส 4 แห่ง และปัตตานี 1 แห่ง ทุกแห่งยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ โดยเปิดศูนย์อพยพที่ จ.นครศรีธรรมราช 2 แห่ง คือโรงพยาบาลสิชลมีผู้อพยพ 3,360 ราย เป็นผู้ป่วย 360 ราย ญาติ 800 ราย ผู้อพยพ 1,200 ราย เจ้าหน้าที่ 500 ราย ผู้ติดฝน 500 ราย และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช มีผู้อพยพ 100 ราย มีทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ ทีมมินิ-เมิร์ท (mini- MERT) 5 ทีม จาก สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เข้าดูแลสุขภาพประชาชนที่ศูนย์อพยพ อ.หัวไทร และ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
“หน่วยบริการของเราได้เตรียมพร้อมรับพายุปาบึกอย่างเต็มที่ ทำให้ทุกแห่งยังทำงานได้ 100% แม้บางแห่งจะได้รับผลกระทบ และนอกจากจะดูแลเรื่องสุขภาพแล้วยังเปิดเป็นศูนย์พักพิงให้ผู้ประสบภัย ดูแลเรื่องที่พัก อาหาร น้ำดื่ม ด้วยจิตใจที่เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์” นายแพทย์สุขุมกล่าว
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ระดมกำลังจิตอาสาเร่งช่วยเหลือมอบผลิตภัณฑ์อาหาร น้ำดื่ม ไข่ไก่สด และเปิดสำนักงานเป็นศูนย์พักพิง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อน �ปาบึก� ในหลายจังหวัดภาคใต้
นายณัฐวุฒิ มัดดี ผู้แทนซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทตระหนักดีถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนดังกล่าว โดยเบื้องต้นได้ประสานงานอย่างเร่งด่วนกับกองทัพเรือ เพื่อมอบไข่ไก่จำนวน 50,000 ฟอง เพื่อนำไปมอบให้กับหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ ซึ่งกองทัพเรือจะลำเลียงไข่ไก่ตลอดจนข้าวสารอาหารแห้งที่ได้รับบริจาคจากหน่วยงานต่างๆ ด้วยเรือรบหลวงจักรีนฤเบศร จาก อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี สู่พื้นที่ต่างๆที่ได้รับความเดือดร้อน
ขณะเดียวกัน ชาวซีพีเอฟจิตอาสาในพื้นที่ภาคใต้ได้มอบน้ำดื่ม ข้าวสาร และอาหารแห้ง ผ่านศูนย์พักพิงวัดศาลาหลวง อ.ระโนด จ.สงขลา นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังเปิดสำนักงานของฟาร์มปากพนัง 1 อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และฟาร์มธนโชติ อ.ระโนด จ.สงขลา เป็นศูนย์พักพิงและให้ความช่วยเหลือแก่ชาวชุมชนใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ปัจจุบันมีผู้เข้าพักพิงชั่วคราวทั้ง 2 แห่งแล้วกว่า 70 คน โดยบริษัทช่วยเหลือทั้งน้ำดื่มและอาหาร./