ประมงพื้นบ้าน-ภาคประชาสังคม
ยินดีอียูยกเลิกใบเหลืองประมงไทย
ประมงพื้นบ้าน-ภาคประชาสังคมแถลงร่วม ยินดีอียูยกเลิกใบเหลืองประมงไทย ระบุเป็นโอกาสดีให้ภาครัฐ-เอกชนเดินหน้าปรับปรุงและพัฒนาต่อ ย้ำยังมีช่องโหว่อีกหลายด้านทั้งเรื่องการจ้างงานที่เป็นธรรมและการบริหารจัดการทะเลอย่างยั่งยืน
กลุ่มประมงพื้นบ้านและองค์กรภาคประชาสังคมแถลงร่วมกันในนามภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่นยืน โดยแสดงความยินดีกับข่าวที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ปลดใบเหลืองประเทศไทยด้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) หลังรัฐบาลไทยปรับปรุงนโยบายการบริหารจัดการประมง อีกทั้งในการรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ การจัดตั้งและดำเนินงานของศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (Port In Port Out Control Center–PIPO) รวมถึงการดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล
อย่างไรก็ตาม นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ตัวแทนภาคีเครือข่ายฯ เปิดเผยว่าแม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยได้รับการปลดใบเหลือง แต่ปัญหาในภาคประมงยังไม่หมดไป โดยงานวิจัยของภาคีเครือข่ายฯ ในปี 2561 พบว่าแรงงานประมงในไทยยังต้องทำงานเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด เสี่ยงอันตราย และการเข้าถึงข้อมูลด้านสิทธิยังคงมีข้อจำกัด ส่วนการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะการใช้อวนลากและอวนล้อม ทำให้สูญเสียลูกปลาเศรษฐกิจมากกว่า 74 ชนิดและเศรษฐกิจเสียหายไม่น้อยกว่า 145 ล้านบาทต่อปี
“รัฐบาลไทยต้องหันมาสนใจการบริหารจัดการสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างจริงจังมากขึ้น ควรมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมจากการทำประมงที่จับลูกปลาวัยอ่อน ถ้ายังไม่เร่งแก้ปัญหา เราเป็นห่วงว่าทรัพยากรทางทะเลไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งได้รับความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะไม่มีใบเหลืองจากอียูแล้วก็ตาม” นายวิโชคศักดิ์กล่าว
ด้วยนางสาวนาตยา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา กล่าวว่าจากงานวิจัย อีกฉบับของภาคีเครือข่ายฯ ในปี 2561ที่เป็นการเก็บข้อมูลด้านแรงงาน พบว่าแรงงานประมงเพียง 62% เท่านั้นระบุว่าพวกเขามีพาสปอร์ตหรือเอกสารสำคัญประจำตัว เกือบ 2 ใน 3 ของแรงงานตอบว่าพวกเขาไม่ได้เก็บเอกสารไว้กับตัวเอง ส่วนใหญ่ถูกนายจ้าง บริษัท หรือนายหน้าเก็บเอาไว้ ซึ่งผิดกฎกระทรวงที่ห้ามนายจ้างเก็บเอกสารสำคัญส่วนตัวของแรงงาน นอกจากนี้ แรงงาน 39% ยังจำไม่ได้ว่าพวกเขาเคยเซ็นสัญญาจ้างงาน และ 95% ไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้างงานจากนายจ้าง
“สถานการณ์แรงงานประมงมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าภารกิจของการแก้ไขปัญหาการทำประมงได้เสร็จสิ้นลง และการปลดใบเหลืองคือจุดเริ่มต้นของประเทศไทยที่ต้องมีการดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่นำมาสู่มาตรฐานการดูแลแรงงานและทรัพยากรทางทะเลที่ดีขึ้น แต่การปฏิบัติงานจริงในพื้นที่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปัญหาหลายอย่างถูกแก้ แต่อีกหลายอย่างก็อาจถูกทำให้ซับซ้อนขึ้นหรือเปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น สุดท้ายคนงานก็อาจจะยังไม่ถูกปฏิบัติอย่างเป็นธรรมอยู่ดี ดังนั้น ต้องมีการเฝ้าระวังและการตรวจสอบแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ รวมถึงสภาพการทำงานของแรงงานภาคประมงจะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานประมงที่แก้ไขเมื่อปี 2561 รวมถึงอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเลที่ทางประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่”
ในโอกาสนี้ ภาคีเครือข่ายฯ ยังได้เสนอแนะให้ทั้งภาครัฐปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย ระบบตรวจสอบ และการร้องเรียนในอุตสาหกรรมประมงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทบทวนและบังคับใช้กฎหมายที่คำนึงถึงสิทธิของชาวประมงและชุมชนชายฝั่ง สนับสนุนการประมงอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้าน ชาวประมงขนาดเล็กมากขึ้น รวมถึงการประเมินผลกระทบที่ผ่านมาทั้งต่อเจ้าของเรือ บริษัทแปรรูปและผู้ส่งออกเพื่อให้การดำเนินนโยบายและบังคับใช้กฎหมายมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตลอดจนเร่งประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของการทำประมงแบบไม่ยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ภาครัฐควรใช้บทบาทนี้ในการทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านปฏิรูปภาคประมงร่วมกันอีกทางหนึ่งด้วย
นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ตัวแทนภาคีเครือข่ายฯ เสนอว่าภาคเอกชนไทยเองก็ควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งในเรื่องการควบคุมปริมาณสัตว์น้ำวัยอ่อนในห่วงโซ่อุปทาน มีการจ้างงานอย่างเป็นธรรม จัดการไม่ให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมจัดหางานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จ่ายค่าจ้างอย่างเหมาะสม เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยบนเรือ เปิดโอกาสให้แรงงานเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขามากขึ้น และที่สำคัญ จะต้องรับรองและส่งเสริมให้แรงงงานรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองได้ เนื่องจากเป็นกลไกที่จะทำให้แรงงานปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนภาคเอกชนต่างประเทศอย่างวงหารือ Seafood Task Force โดยเฉพาะผู้ซื้อต่างประเทศก็ควรสนับสนุนผู้ส่งออกที่ให้ความสำคัญกับอาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนเช่นกัน
“ไม่เพียงแต่กดดันให้ผู้ส่งออกทำตามมาตรฐาน แต่ควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่ประเทศต้นทางด้วย เรามองว่าการปลดใบเหลืองของไทยเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาประมงอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ แต่ไม่ใช่ว่าปลดใบเหลืองแล้วก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม ภาคธุรกิจควรทำงานกับรัฐบาลไทยและภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างจริงจัง” นางสาวสุธาสินีกล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปให้คำเตือนอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลไทยต่อความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) หรือที่เรียกกันว่าการให้ใบเหลือง มาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2558 ก่อนจะมาประกาศปลดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นับเป็นระยะเวลารวมเกือบ 4 ปี
ขอบคุณภาพประกอบจาก-https://www.benarnews.org/https://www.thailandplus.tv