คณะวิทย์ มก.ร่วมเค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้งฯ
นำร่องเลิกใช้โฟม-พลาสติก100%
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ชูวิสัยทัศน์นำร่องครั้งแรกในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนองนโยบายรัฐผลักดันโครงการ SCI KU GO ZERO WASTE WITH KM PACKAGING เลิกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟม และพลาสติก 100 % จับมือกับ บริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษเบอร์ 1 ของเมืองไทยและอาเซียน สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ตลอดโครงการ คาดช่วยลดขยะพลาสติก และโฟม ได้ถึงปีละกว่า 4.5 แสนชิ้น พร้อมต่อยอดหนุนนักศึกษาประกวดออกแบบแบบโลโก้กระตุ้นให้ใส่ใจปัญหาจัดการขยะ ทั้งยังเตรียมประเดิมใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้มาใช้ครั้งแรกกับงานเกษตรแฟร์ 2562 ที่จะจัดขึ้นเร็วๆ นี้ด้วย
รศ.ดร อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึง รายละเอียดการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) “โครงการSCI KU GO ZERO WASTE WITH KM PACKAGING” กับ บริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัดว่า เป็นก้าวแรกที่สำคัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ได้เริ่มนำร่องทำโครงการที่จะนำไปสู่การเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟม และพลาสติก 100 % ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายในปี 2562 ที่ทางคณะวิทยาศาสตร์เล็งเห็นและต้องการผลักดันให้ศูนย์อาหารหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ100 %
สำหรับสาเหตุที่เลือกร่วมมือกับบริษัทเค.เอ็ม แพ็กเกจจิ้ง จำกัด เนื่องจากเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้ามีคุณภาพและมีศักยภาพตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายได้ ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดขยะพลาสติก และโฟม ได้ถึงปีละกว่า 4.5 แสนชิ้น
“โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับโครงการ SCI KU GO ZERO WASTE ในการเรียนการสอนหลากหลายด้านของคณะวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำองค์ความรู้มาตอบสนองนโยบายรัฐบาลเนื่องด้วยคณะวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอน วิชาพื้นฐานของคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นักศึกษาจากทุกคณะจะต้องมาเรียน และมีศูนย์อาหารที่ทันสมัยสามารถรองรับนักศึกษาได้เป็นจำนวนมากทำให้เป็นแหล่งรวมของนักศึกษา และเจ้าหน้าที่คณะต่างๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้เริ่มโครงการคัดแยกขยะในบริเวณคณะซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จไประดับหนึ่งแล้ว” รศ.ดร อภิสิฏฐ์กล่าว
นายพศิน กมลสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท เค.เอ็ม.แพ็กเกจจิ้ง จำกัด เผยถึงที่มาของความร่วมมือโครงการ SCI KU GO ZERO WASTE WITH KM PACKAGING เนื่องจากบริษัท ให้ความสำคัญกับการปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่รักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเห็นควรเริ่มต้นจากนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในอนาคต โครงการนี้บริษัทมีเป้าหมายที่จะเลือกมหาวิทยาลัย ในเมืองไทยที่มีความใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด มีคณะที่มีการเรียนการสอนในเรื่องสิ่งแวดล้อมมีผู้เชี่ยวชาญ ในการช่วยพัฒนาต่อยอดสินค้าของบริษัทต่อไปได้ บริษัทจึงได้เลือกคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเพื่อผลักดัน และขยายผลสำเร็จต่อในอนาคต
สำหรับสินค้าที่ทางบริษัทนำมาร่วมสนับสนุนในครั้งนี้ เป็นกลุ่มสินค้าภายในแบรนด์ Green Good by K.M. Packaging ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษย่อยสลายได้ด้วยตัวเองภายใน 180 วันซึ่งสอดคล้อง กับโครงการที่คณะวิทยาศาสตร์ดำเนินการอยู่ โดยบริษัทจะสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวตลอดโครงการ ในเบื้องต้นช่วงเริ่มโครงการบริษัทได้สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ มูลค่าประมาณ 200,000 บาท
ผศ.ดร. จริน กาญจนวรินทร์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต กล่าวเสริมว่า ได้มีการต่อยอดโครงการดังกล่าวโดยการจัดประกวดออกแบบโลโก้ SCI KU ZERO WASTE เพื่อกระตุ้นให้นิสิตคณะวิทยาศาสตร์ และคณะอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการ โดยเห็นว่าจากจุดเริ่มต้นของคณะวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ จะสามารถขยายผลต่อให้เลิกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟม และพลาสติก100% ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่อไป และในงานเกษตรแฟร์ 62 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25 มกราคม 2562 – 2 กุมภาพันธ์ 2562 ถือว่าเป็นครั้งแรกที่จะนำบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้มาใช้ในบูธของสโมสร และคณะต่างๆ ด้วย
ผศ.ดร.ชุรภา ธีรภัทรสกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ กล่าวเพิ่มเติม ว่าปัจจุบันศูนย์อาหารของคณะวิทยาศาสตร์มีนโยบายงดใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมแล้ว 100% เหลือเพียงแก้วน้ำเท่านั้นที่ยังคงมีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเนื่องจากที่ผ่านมามีข้อจำกัดในเรื่องขนาด และคุณภาพไม่ตรงตามความต้องการ การร่วมมือกับ บริษัท เค.เอ็ม. แพ็กเกจจิ้ง จำกัด ในครั้งนี้ ทางศูนย์ได้รับการสนับสนุนบรรจุภัณฑ์แก้วย่อยสลายได้ เพื่อนำมาใช้แทนแก้วพลาสติกทั้งหมด ถือว่ามีส่วนเติมเต็มให้โครงการสมบูรณ์ และสามารถเลิกใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมและพลาสติกได้ 100 % ตามเป้าหมายของโครงการ